ประวัติ ความเป็นมาของการเห่เรือ
ต้นกำเนิดของการเห่เรือน่าจะมีที่มาได้เป็น ๒ ทาง ดังที่ปราชญ์โบราณได้กล่าวไว้ดังนี้ คือ
๑. เป็นกิจกรรมที่คนไทยคิดขึ้นเอง และน่าจะมีควบคู่มากับการใช้เรือ ยาวเป็นพาหนะเมื่อต้องใช้กำลังคนจำนวนมากในการออกแรงพายเรือ จึงต้องมีจังหวะสัญญาณเพื่อให้ฝีพาย พายไปพร้อมๆ กันจะได้แรงส่งที่มากขึ้นด้วย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐาน ไว้ในนิทานโบราณคดี นิทานที่ ๖ เรื่อง ขานยาว ความว่า
“...แต่เห่เรือเป็นประเพณีของไทย มิใช่ได้มาจากอินเดีย แต่มีมาเก่าแก่มากเหมือนกันข้อนี้พึงเห็นได้ในบทช้าละวะเห่ เป็นภาษาไทยเก่ามาก คงมีบทเห่อื่นที่เก่าปานนั้นอีกแต่คนชั้นหลังมาชอบใช้บทเห่เรือของ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร... บทเก่าก็เลยสูญไป เหลือแต่ ช้าละวะเห่...”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับในเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๙
๒. เป็นกิจกรรมที่ไทยได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย เนื่องจากมีคำศัพท์หลายคำในพิธีการเห่เรือ ที่เป็นคำภาษาอื่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ ในอธิบายตำนานเห่เรือ ความว่า
“เวลาพายเรือข้ามแม่น้ำ คงคา มีต้นบทคนหนึ่งชักบทเป็นภาษาสันสกฤตขึ้นด้วยคำว่า “โอม รามะ” แล้วว่าอะไรต่อไปอีก แต่ข้าพเจ้าไม่เข้าใจ พอหมดบท ฝีพายทั้งลำก็รับเสียงดัง “เย่อว” พร้อมกัน...ได้ความดังนี้ จึงสันนิษฐานว่า เห่เรือหลวงนั้น เห็นจะเป็นมนตร์ในตำราไสยศาสตร์ ซึ่งพวกพราหมณ์พาเข้ามาแต่ดึกดำบรรพ์ เดิมก็คงจะเห่เป็นภาษาสันสกฤต แต่นานมาก็เลือนไป จึงกลายเป็น “เหยอวเย่อว” อย่างทุกวันนี้ แต่ยังเรียกในตำราว่า “สวะ เห่” “ช้าละวะเห่” และ “มูล เห่” พอได้เค้าว่ามาแต่อินเดีย”
นอกจากนั้นแล้ว ประยูร พิศนาคะ (ป. อังศุละโยธิน) ก็ได้สันนิษฐานไว้ในทำนองเดียวกันว่า ชาติไทยคงได้รับแบบแผนการเห่เรือมาจากอินเดีย โดยพวกพราหมณ์นำเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อครั้งโบราณ ดังนั้น ข้อสันนิษฐานเรื่องที่มาของการเห่เรือจึงอาจ เป็นได้ทั้ง ๒ ทาง กล่าวคือ ถ้าเป็นการพายเรือเล่น ก็เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนไทย หากเป็นการพายเรือหลวง ก็อาจใช้รูปแบบ และพิธีกรรมมาจากอินเดียก็ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาต่อไปให้ลึกซึ้ง ประเพณีการเห่เรือของไทยแสดงความเก่า แก่สืบทอดมายาวนาน จนแสดงความเป็นไทยได้อย่างแจ่มชัด และสะท้อนภาพวิถีชีวิตของคนไทยที่ผูกพันกับสายน้ำ มีการติดต่อสัญจรทางน้ำ และสร้างความบันเทิงในขณะประกอบกิจกรรมทางน้ำ เพื่อความพร้อมเพรียง และผ่อนคลายไปในเวลาเดียวกัน จนพัฒนากลายเป็นพิธีกรรมที่ขรึมขลังในปัจจุบัน