๑. เห่เรือหลวง
คือ การเห่เรือเนื่องในการพระราชพิธีที่มีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทั้งอย่างใหญ่ และอย่างน้อย เพื่อให้ริ้วกระบวนเรือ ที่จัดขึ้นเป็นพระราชพาหนะ ในการเสด็จพระราชดำเนิน มีความพร้อมเพรียงเป็นระเบียบเรียบร้อย และสง่างาม โดยใช้บทเห่แต่ละลักษณะเป็นสัญญาณ และกำกับจังหวะการพายให้พร้อมเพรียงกัน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า การเห่เรือหลวงน่าจะได้ต้นเค้าจากประเทศอินเดีย โดยพราหมณ์เป็นผู้นำบทมนตร์ในตำราไสยศาสตร์ ซึ่งแต่เดิมคงเป็นภาษาสันสกฤตเข้ามาเผยแพร่ต่อมาก็เลือนกลายไป แต่ยังคงเรียกในตำราว่า “สวะเห่” “ช้าละวะเห่” และ “มูลเห่”
๒. เห่เรือเล่น
ตามความหมายเดิม คือ การเห่เรือแบบไม่เป็นพิธีการของบุคคลทั่วไป เพื่อความสนุกสนานรื่นเริง และกำกับจังหวะในการพายเรือ ให้พร้อมเพรียงกัน การพายเรือเล่นของชาวบ้านนั้นมีจังหวะการพายเพียง ๒ อย่างเท่านั้น คือ พายจังหวะปกติ และพายจังหวะจ้ำ จึงทำให้การเห่แตกต่างกันไป ตามจังหวะการพายด้วย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงบทเห่เรือเล่นที่ใช้ในการพายจ้ำว่า
“ตามที่สังเกตมาดูเหมือนไม่มีต้นบท บทอันใดฝีพายขึ้นใจก็เอามาใช้ร้องพร้อมๆ กัน เช่น “หุย ฮา โห่ ฮิ้ว” “มาละเหวยมาละวา” “สาระพา เฮโล” ส่วนบทเห่สำหรับพายปกตินั้น ใช้บทกลอน มีต้นบทขึ้นก่อน แล้วฝีพายรับต่อไป สันนิษฐานว่า อาจเป็นบทกลอนจากวรรณกรรมที่จำกันได้ขึ้นใจ หรืออาจว่าเป็นกลอนสดเช่นเดียวกับการเล่นเพลงเรือ หรือกลอนดอกสร้อยสักวาก็เป็นได้”
นอกจากนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านการเห่เรือทั้งของกองทัพเรือและกรมศิลปากรยังได้กล่าวถึงการเห่เรือเล่นว่า เป็นการเห่แบบไม่เป็นพิธีการในงานต่างๆ ดังนี้
พันจ่าเอก เขียว ศุขภูมิ กล่าวว่า
“เป็นการเห่ให้เห็นกระบวนเรือครบเต็มพิธีเพื่อให้ประชาชนชม บางครั้งอาจแทรกทำนองเพลงไทยลงไป เพื่อให้เกิดความครึกครื้น”
ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) ประจำ พ.ศ. ๒๕๓๘ กล่าวถึงการเห่เรือเล่นว่า
“เป็นการเห่แบบของกรมศิลปากร เพื่อประกอบการร่ายรำ หรือเล่นละครตอนที่เกี่ยวกับการเห่เรือ”
กล่าวโดยสรุป การเห่เรือเล่นนอกจาก จะเป็นการร้อง เพื่อประกอบการพายเรือเล่นให้สนุกสนานแล้ว ยังหมายรวมถึง การนำแบบอย่างของการเห่เรือหลวงมาปรับปรุง เพื่อการสาธิต หรือใช้ประกอบการแสดงก็ได้ด้วย ดังปรากฏหลักฐาน คือ
๑. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงประดิษฐ์ ดัดแปลงทำนองเห่เรือหลวงให้เข้ากับท่ารำของตัวละคร แล้วนำมาใช้ประกอบการแสดงละครดึกดำบรรพ์ เรียกว่า “เห่เรือดึกดำบรรพ์” กรมศิลปากรได้บันทึกเสียงครูประเวช กุมุท ผู้เป็นต้นเสียง เก็บรักษาไว้เป็นตัวอย่าง
๒. พนักงานเห่เรือพระราชพิธีของกองทัพเรือ ประดิษฐ์เพิ่มเติมขึ้น เพื่อเป็นแนวทางการเห่แบบกองทัพเรือ โดยใช้ทำนองเห่เรือหลวงประสมกับการร้องเพลงต่างๆ เช่น เพลงเวสสุกรรม เพลงเต่าเห่ เพลงพม่าเห่ แล้วปรับจังหวะให้เข้ากับการพายเรือ เพื่อความสนุกสนาน เรียกว่า “เห่เรือออกเพลงต่างๆ” สำหรับใช้สาธิตแสดงการเห่เรือ และแสดงกระบวนเรือในโอกาสต่างๆ
หัวข้อก่อนหน้า