ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ มีบทเห่เรือที่ไพเราะได้รับความนิยมกล่าวขวัญถึงเสมอ คือ บทเห่เรือชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เริ่มความชมอาหารคาวว่า “มัศหมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่ารสร้อนแรง” ต่อด้วยเห่ชมผลไม้ เห่ชมเครื่องคาวหวาน เห่ครวญเข้ากับนักขัตฤกษ์ และเห่บทเจ้าเซ็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า บทเห่ชมเครื่องคาวหวานนั้น ทรงพระราชนิพนธ์ ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เล่ากันว่า พระราชนิพนธ์นี้ทรงชมสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ตั้งแต่ครั้งเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เนื่องจากทรงมีฝีมือในการแต่งเครื่องเสวย ไม่มีผู้ใดจะดีเสมอได้ บทเห่เรือพระราชนิพนธ์ ๕ บทนี้ ชั้นแรกสันนิษฐานว่า ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับเห่เรือเสด็จประพาสเท่านั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้นำบทเห่เรือครั้งกรุงศรีอยุธยา และบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาใช้เห่เรือในราชการเป็นแบบอย่างสืบมา
บทเห่เรือพระราชนิพนธ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มี ๔ บท คือ บทชมสวน บทชมนก บทชมไม้ และบทชมโฉม
บทเห่เรือในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มี ๒ เรื่อง เรื่องแรกคือ บทเห่เรือซึ่งทรงพระราชนิพนธ์พระราชทาน สำหรับพิมพ์ในหนังสือสมุทรสาร เพื่อทรงอุดหนุนราชนาวีสมาคม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ มีความยาว ๑๒ ตอน เนื้อความทรงนำเค้าเรื่องบทเห่เรือเก่ามาเปรียบเทียบกับสิ่งของ และเหตุการณ์ในยุคสมัยที่ได้ทรงพระราชนิพนธ์ ตัวอย่างเช่น เห่เรือเก่าชมกระบวนเรือพาย ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่ง และเรือรบในสมัยนั้น พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็จะทรงชมเรือพระที่นั่ง และเรือรบ ซึ่งเป็นเรือกลไฟแทน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงกล่าวถึงบทเห่เรือพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ ว่า จะได้ประโยชน์ในด้านความเข้าใจเกี่ยวกับ เรื่องการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองตามลำดับ ทั้งด้านความนิยม และการงาน นอกจากนั้นยังจะได้อ่านหนังสือกลอนที่แต่งดีอีกด้วย
บทเห่เรืออีกเรื่องหนึ่งในรัชกาลที่ ๖ คือ บทเห่เรือพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ขณะทรงดำรงพระยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระ นริศรานุวัดติวงศ์ เนื่องจากจอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ขณะทรงดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ทูลเชิญให้ทรงพระนิพนธ์ เพื่อใช้ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมโภชพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีงานสมโภชส่วนกระทรวงทหารเรือ โดยมีการตกแต่งสถานที่ในกรมทหารเรือ บริเวณท่าราชวรดิฐ ทั้งสองฟากแม่น้ำตลอดไปจนถึงวัดอรุณราชวราราม และมีกระบวนแห่เรือในแม่น้ำ บทเห่เรือนี้ใช้เห่ในเรือพระที่นั่งกิ่ง เมื่อมาจอด เพื่อถวายชัยมงคลที่ท่าราชวรดิฐ เนื้อความกล่าวชมเรือพระที่นั่งในกระบวนและสรรเสริญพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามแบบวิธีบทเห่เรือโบราณสั้นๆ จำนวน ๑ ตอน
บทเห่เรือที่ปรากฏในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบทเห่เรือที่ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงพระนิพนธ์ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ เนื้อหาของเรื่องพรรณนาเหตุการณ์ พระราชพิธีทรงเปิดพระปฐมบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีบทเห่เรือที่สำคัญหลายบท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของชาติบ้านเมือง แม้ว่าจะไม่ได้เป็นบทพระราชนิพนธ์ก็ตาม แต่ผู้นิพนธ์ก็ยังคงใช้ระเบียบวิธีการประพันธ์ ตามแบบวิธีของบทเห่เรือโบราณ มาสอดแทรกเรื่อง และเหตุการณ์สำคัญ ในการประพันธ์บทเห่เรือแต่ละบท คือ
๑. กาพย์เห่เรือฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พระพิธีพุทธประทีปบูชา และพุทธพยุหยาตราทางชลมารค บทประพันธ์ของนายฉันท์ ขำวิไล เนื้อหากล่าวสรรเสริญพระรัตนตรัย งานเฉลิมฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ชมกระบวนแห่ ชมนก ชมไม้ ชมปลา และเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีความยาว ๑๓ ตอน
๒. กาพย์เห่เรือฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พุทธศักราช ๒๕๐๐ บทประพันธ์ของนายหรีด เรืองฤทธิ์ เนื้อหากล่าวถึง เริ่มศตวรรษแห่กระบวนเรือพุทธพยุหยาตรา สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย และยอพระเกียรติรัชกาลที่ ๙ ซึ่งใช้เห่ช่วงกลางคืนในเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับทอดพระเนตรการเห่เรือที่ท่าราชวรดิฐ มีจำนวนความยาวเพียง ๓ ตอน
๓. กาพย์เห่เรือสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ บทประพันธ์ของนายภิญโญ ศรีจำลอง ข้าราชการกรมศิลปากร เนื้อหาตอนแรกชมกระบวนเรือ แล้วสดุดีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สดุดีพระบรมราชจักรีวงศ์ สดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สดุดีพระแก้วมรกต สดุดีกรุงรัตนโกสินทร์และสดุดีพระพุทธสิหิงค์ รวมความยาว ๗ ตอน
๔. กาพย์เห่เรือกระบวนพยุหยาตรา อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตร เพื่อมอบให้แก่กรุงเทพมหานคร บทประพันธ์ของท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา
๕. กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ บทประพันธ์ของคุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ มีความยาว ๒ ตอน กองทัพเรือนำไปใช้ในการแสดงเห่เรือเฉลิมพระเกียรติ ณ ท่าราชวรดิฐ โดยร้องเห่จากเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
๖. กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในมหามงคลสมัยรัชมังคลาภิเษก ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑ บทประพันธ์ของ คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ มีความยาว ๒ ตอน กองทัพเรือนำไปใช้ในการแสดงเห่เรือ เฉลิมฉลองพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ณ บริเวณท่าราชวรดิฐ