เล่มที่ 27
เทคนิคการผลิต ไม้ผลนอกฤดู
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ปัจจัยภายใน

อายุพืช

        ไม้ผลยืนต้นหลายชนิดที่ขยายพันธุ์มาจากการเพาะเมล็ด มักใช้เวลาหลายปี ก่อนที่จะเริ่มออกดอกครั้งแรกได้ เช่น มะม่วงอาจใช้เวลาถึง ๖ ปี มังคุดอาจใช้เวลาถึง ๑๐ ปี ส่วนมะพร้าวน้ำหอมอาจเริ่มออกดอกครั้งแรกได้ เมื่ออายุ ๓ ปี อย่างไรก็ตาม ไม้ผลเหล่านี้ บางชนิดสามารถขยายพันธุ์โดยใช้ชิ้นส่วนอื่น ที่ไม่ใช่เมล็ด เช่น มะม่วงอาจขยายพันธุ์ โดยการติดตา หรือทาบกิ่ง การขยายพันธุ์โดยไม่ใช้เมล็ดนี้ทำให้อายุเริ่มการออกดอกครั้งแรกลดลง เช่น ในกรณีของมะม่วง อาจใช้เวลาเพียงแค่ ๒ - ๓ ปี เท่านั้น ก่อนที่จะเริ่มออกดอกครั้งแรก ซึ่งเร็วกว่ามะม่วง ที่เกิดจากการเพาะเมล็ดที่ต้องใช้เวลานานถึง ๖ ปี เมื่อไม้ผลยืนต้นเหล่านี้เริ่มออกดอกครั้งแรกได้แล้ว ก็จะสามารถออกดอกเป็นปกติได้ ในปีต่อๆ ไปในช่วงเวลาเดิมของทุกปี


การทาบกิ่งมะม่วง

สายพันธุ์

        ไม้ผลแต่ละชนิด มักมีหลากหลายสายพันธุ์ เช่น มะม่วงในประเทศไทยมีสายพันธุ์ต่างๆ มากกว่า ๒๐๐ สายพันธุ์ แต่ที่เรารู้จักกันดีมีไม่กี่สายพันธุ์ เช่น อกร่อง น้ำดอกไม้ เขียวเสวย แก้ว แรด มะม่วงสายพันธุ์เหล่านี้มีความสามารถในการออกดอกได้ยากง่ายแตกต่างกันไป เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ออกดอกได้ง่ายกว่ามะม่วงเขียวเสวย โดยทั่วไปไม้ผลหลายชนิดมีการออกดอกได้ในบางช่วงฤดูกาลที่จำเพาะในรอบปี แต่มีบางชนิดที่มีสายพันธุ์ซึ่งสามารถที่จะออกดอกได้ โดยไม่จำกัดฤดูกาล เช่น มะม่วงบาง สายพันธุ์มีความสามารถออกดอกได้ ตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องอาศัยเทคนิค พิเศษใดๆเข้าช่วย ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ทะวาย มะม่วงพิมเสนมันทะวาย โชคอนันต์ เป็นต้น คำว่า “ทะวาย” เป็นคำที่ต่อท้ายชื่อไม้ผลสายพันธุ์เดิม ที่โดยปกติแล้วมีการออกดอกเป็นฤดูกาลเหมือนไม้ผลทั่วๆ ไป แต่เมื่อพบว่า สายพันธุ์เหล่านั้น มีการกลายพันธุ์ หรือเปลี่ยนแปลงไป จนกระทั่งสามารถออกดอกได้ โดยไม่จำกัดฤดูกาล จึงเรียกสายพันธุ์ที่ได้ใหม่นั้น ตามชื่อสายพันธุ์เดิม และต่อท้ายด้วยคำว่า ทะวาย เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งเดิมไม่สามารถออกดอกนอกฤดูกาลได้ ต่อมามีการกลายพันธุ์ โดยที่มีลักษณะต่างๆ เหมือนต้นเดิม แต่สามารถออกดอกได้โดยไม่จำกัดฤดูกาล จึงเรียกสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า มะม่วงน้ำดอกไม้ทะวาย ส่วนมะม่วงสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมา และมีลักษณะที่ออกดอกได้ โดยไม่จำกัดฤดูกาล อาจไม่จำเป็นต้องเติมคำว่า “ทะวาย” ต่อท้าย เช่น มะม่วงโชคอนันต์ เป็นต้น


มะม่วงโชคอนันต์
ฮอร์โมนในต้น

        การเจริญเติบโตของต้นไม้ ตั้งแต่เกิดจนตาย มีความเกี่ยวข้องกับสารเคมีบางชนิดในพืช สารเคมีประเภทนี้ เรียกโดยรวมว่า ฮอร์โมนพืช (plant hormones) หรือสารควบคุมชีวภาพของพืช (plant bioregulators) เป็นสารอินทรีย์ที่พืชสร้างขึ้นในปริมาณน้อยมาก แต่มีผลควบคุมการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในพืช ไม้ผลยืนต้นหลายชนิดจะออกดอกได้ เมื่อฮอร์โมนชนิดหนึ่งคือ จิบเบอเรลลิน (gibberellins) มีปริมาณลดต่ำลง แต่จะมีการ เติบโตทางด้านกิ่งใบหากมีสารจิบเบอเรลลินเพิ่มมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของระดับสารจิบเบอเรลลินในต้นไม้ มักเกี่ยวข้องกับสายพันธุ์และปัจจัยภายนอก เช่น อุณหภูมิและความชื้นในดิน ดังนั้น การควบคุมปัจจัย ภายนอกบางอย่างจึงมีผลกระตุ้น หรือยับยั้งการออกดอกของไม้ผลเหล่านี้ได้