มะม่วง
มะม่วงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญมากชนิดหนึ่งของประเทศไทย และมีการปลูกกันมาช้านาน รวมทั้งมีพันธุ์มะม่วงต่างๆ มากมาย ในบรรดามะม่วงสายพันธุ์ต่างๆ เหล่านี้มีบางสายพันธุ์ ที่สามารถออกดอกได้ โดยไม่จำกัดฤดูกาล เรียกว่า “มะม่วงทะวาย” มะม่วงทะวายมีหลายสายพันธุ์ ที่ปัจจุบันมีการปลูกกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ทะวาย ฟ้าลั่น โชคอนันต์ หนองแซง เป็นต้น เนื่องจากมะม่วงสายพันธุ์ทะวายเหล่านี้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยอากาศเย็นในการออกดอก ดังนั้น การใช้วิธีงดการให้น้ำเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอ ที่จะบังคับให้มะม่วงออกดอกตามต้องการได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูฝน มะม่วงเหล่านี้ ก็มักไม่ออกดอก เนื่องจากมีน้ำมากเกินไป
วิธีการบังคับให้มะม่วงออกดอกที่นิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน คือ การใช้สารเคมี ที่ช่วยลดการสร้างฮอร์โมนจิบเบอเรลลินในพืช เนื่องจากพบว่า การออกดอกของมะม่วงจะเกิดขึ้น เมื่อปริมาณฮอร์โมนจิบเบอเรลลินลดต่ำลง สารที่นิยมใช้กันมาก ในกรณีนี้คือ สารแพกโคลบิวทราโซล ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง ในการลดการสร้างฮอร์โมนจิบเบอเรลลิน วิธีการให้สารที่นิยมทำกันคือ ผสมสารในน้ำ แล้วราดไปที่โคนต้น มะม่วงจะออกดอกได้หลังจากให้สารแล้ว ประมาณ ๒ - ๔ เดือน ขึ้นอยู่กับพันธุ์ สำหรับพันธุ์ที่มีลักษณะเป็นพันธุ์ทะวาย หรือพันธุ์ที่ออกดอกง่าย เช่น น้ำดอกไม้ ฟ้าลั่น หนองแซง ก็สามารถออกดอกได้ หลังจากการให้สารแล้ว ประมาณ ๒ เดือน แต่หากเป็นพันธุ์ที่ออกดอกได้ยาก เช่น มะม่วงพันธุ์เขียวเสวย หนังกลางวัน อาจต้องใช้เวลาประมาณ ๓ - ๔ เดือน จึงจะออกดอกได้