ลำไย
ลำไยเป็นพืชที่ปลูกกันมากทางภาคเหนือของประเทศไทย แต่เดิมเชื่อกันว่า การออกดอกของลำไยต้องการอากาศเย็น แต่เนื่องจากปัจจุบันมีการปลูกลำไยในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศด้วย ดังนั้น ลำไยจึงอาจไม่ใช่พืชที่ต้องการอากาศเย็นในการออกดอกก็ได้ ปกติการออกดอกของลำไยเกิดขึ้นปีละ ๑ ครั้ง ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม และเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนสิงหาคม แต่ปัจจุบัน สามารถบังคับให้ลำไยออกดอกได้ตามเวลาที่ต้องการ โดยไม่จำกัดว่า เป็นช่วงใดของปี การค้นพบวิธีการนี้ถือเป็นภูมิปัญญาของคนไทย โดยได้สังเกตว่า ดินปืนสามารถกระตุ้นให้ลำไยออกดอกได้ ต่อมา นักวิทยาศาสตร์ชาวไทยได้พิจารณาว่า สารที่เป็นองค์ประกอบหลักของดินปืนคือ โพแทสเซียมคลอเรต น่าจะเป็นสารหลัก ที่กระตุ้นให้ลำไยออกดอก และได้มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๒ จนพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า สารโพแทสเซียมคลอเรตเป็นสารสำคัญ ที่มีผลกระตุ้นให้ลำไยออกดอกได้ ไม่ใช่องค์ประกอบอื่นๆ ที่มีอยู่ในดินปืน ปัจจุบัน ชาวสวนที่ปลูกลำไย ใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต ละลายน้ำ แล้วพ่นให้ทั่วต้นลำไยในระยะที่มีใบแก่จัด ลำไย จะออกดอกได้ภายหลังจากการพ่นสารแล้วประมาณ ๓ - ๔ สัปดาห์ จากการค้นพบวิธีการบังคับการออกดอกของลำไยดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันมีการผลิตลำไยออกสู่ตลาดได้ตลอด ทั้งปี รวมทั้งพื้นที่การปลูกลำไยก็ไม่ได้จำกัด เฉพาะในภาคเหนืออีกต่อไป
ลำไยพันธุ์เพชรสาคร
วิธีการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต เพื่อกระตุ้นการออกดอกของลำไยนั้น ปรากฏว่า ลำไยสายพันธุ์ต่างๆ ที่ปลูกอยู่ในปัจจุบัน มีการตอบสนองต่อการใช้สารเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีลำไยบางพันธุ์ เช่น พันธุ์เพชรสาคร นอกจากจะตอบสนองต่อการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตแล้ว ยังตอบสนองต่อการควั่นกิ่งด้วย นั่นคือ ในการบังคับให้ลำไยพันธุ์เพชรสาครออกดอก สามารถใช้วิธีการควั่นกิ่ง หรือรัดกิ่ง แทนการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตได้ด้วย แต่ลำไยพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกเป็นการค้านั้น พบว่า การควั่นกิ่ง ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการออกดอกได้