เล่มที่ 26
เชื้อเพลิง ยานยนต์ และสิ่งแวดล้อม
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เครื่องยนต์

เครื่องยนต์ สามารถจำแนกได้ ๓ แบบ คือ

๑. เครื่องยนต์เบนซิน

            เครื่องยนต์เบนซิน หรือเครื่องยนต์แกสโซลีน ที่ใช้น้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิง ส่วนใหญ่มักใช้เป็นต้นกำลังของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ เครื่องสูบน้ำ เครื่องยนต์เกษตรกรรม และต้นกำลังของอุปกรณ์ขนาดเล็กๆ ซึ่งมีทั้งแบบ ๒ จังหวะ และแบบ ๔ จังหวะ

ส่วนประกอบสำคัญของเครื่องยนต์เบนซินคือ หัวเทียน และคอยล์จุดระเบิด ที่ใช้เพื่อทำให้เกิดประกายไฟฟ้าในการจุดระเบิด นอกจากนั้น จะต้องมีระบบป้อนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ คาร์บูเรเตอร์ หรือหัวฉีดไฟฟ้า สำหรับป้อนน้ำมันเชื้อเพลิงให้เข้าไปในกระบอกสูบ ดังนั้น เครื่องยนต์เบนซิน อาจเรียกชื่อได้อีกอย่างหนึ่งว่า เครื่องยนต์จุดระเบิดด้วยประกายไฟฟ้า


๒. เครื่องยนต์ดีเซล

            เครื่องยนต์ดีเซลเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง (หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า น้ำมันโซลา) ส่วนมากเครื่องยนต์ดีเซล จะใช้เป็นต้นกำลังของรถบรรทุก รถบัส รถโดยสาร รถกระบะ รถแทรกเตอร์ รถไถนา เรือหางยาวขนาดใหญ่ เรือด่วน เครื่องผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่

            ส่วนประกอบที่สำคัญของเครื่องยนต์ดีเซลคือ ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง และหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนประกอบที่ทำให้เครื่องยนต์เบนซิน แตกต่างจากเครื่องยนต์เบนซินอย่างเห็นได้ชัดเจนคือ เครื่องยนต์ดีเซลจะไม่มีหัวเทียน และคอยล์ระเบิด เนื่องจากเครื่องยนต์ดีเซลใช้วิธีการอัดอากาศให้ร้อนจัด เพื่อช่วยในการจุดระเบิดส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิงกับอากาศ


๓. เครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงทดแทน

            ถึงแม้ว่าน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล จะเป็นเชื้อเพลิงที่แพร่หลาย และนิยมใช้กันสำหรับยานยนต์ส่วนใหญ่ แต่ก็มีการนำเชื้อเพลิงทดแทนชนิดอื่นๆ มาใช้ด้วย ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ แอลพีจี หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลว แอลกอฮอล์ น้ำมันปาล์ม และน้ำมันพืชต่างๆ โดยมีเหตุผลว่า เชื้อเพลิงทดแทนบางชนิด สามารถหาได้ภายในประเทศ หรือสามารถผลิตได้จากวัตถุดิบทางการเกษตร นอกจากนั้น ยังมีความเชื่อว่า สารมลพิษในไอเสียจากการใช้เชื้อเพลิงทดแทน จะมีระดับที่ต่ำกว่าน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล และในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถหาน้ำมันดิบมาใช้ในประเทศได้อย่างเพียงพอ เชื้อเพลิงทดแทน จะสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงของยานยนต์ได้