เท้านก
ส่วนเท้านกนั้น มักจะมีนิ้วเท้าเพียง ๔ นิ้วเท่านั้น และ มีลักษณะแปลกๆ แตกต่างออกไปตามลักษณะการใช้งาน นก บางชนิดอาจมีนิ้วเท้าลดลงเหลือ ๓ นิ้ว และ ๒ นิ้วได้ เช่น นก กระจอกเทศ มีนิ้วเท้าเพียง ๒ นิ้ว นกหัวขวานบางชนิด และ นกกินปลาบางชนิดมีนิ้วเท้าเพียง ๓ นิ้วเท่านั้น ลักษณะนิ้วเท้า ของนกมีแปลกๆ ไปตามลักษณะการใช้งาน ดังตัวอย่างต่อไปนี้
๑. เท้านกเป็ด : แผ่แบนออกไป มีพังผืดระหว่างนิ้วใช้ในการว่ายน้ำ เวลาเดินบนดินไม่คล่องตัว
๒. เท้านกกระสา นกกระยาง : ยาวมากทั้งเท้าและเล็บใช้ในการ เดินลุยโคลน และเล็บกลางของนกชนิดนี้ ยังมี "หวี" เป็นซี่ ๆ ออกมาด้านข้างๆ เพื่อพยุงตัวให้ดีขึ้นขณะอยู่ในโคลน
๓. เท้าเหยี่ยว : มีกรงเล็บที่แหลมคม มีอุ้งเท้าที่สากมาก เพื่อใช้ในการจับสัตว์และฉีกเนื้อสัตว์
๔. เท้าพวกนกตีนเทียน : มักมีหน้าแข้งยาวสำหรับเดินลุยเลน นิ้วเท้าหลังยกสูง นิ้วเท้าหน้าติดกันเป็นพังผืด คล้ายเท้าเป็ด
๕. เท้านกหัวขวาน : พวกนี้เป็นนกประเภทป่ายปีน จึงมีนิ้วเท้าหน้า ๒ นิ้ว นิ้วเท้าหลัง ๒ นิ้ว แยกออกจากกัน เพื่อใช้ยันต้นไม้ นอกจากนี้พวกนี้ยังมีหางที่แข็งแรง และแหลม ใช้ยันต้นไม้ขณะวิ่งขึ้นลงตามต้นไม้อีกด้วย
๖. เท้าไก่ : พวกไก่ นกคุ่ม นกกระทา พวกนี้เป็นพวกคุ้ยเขี่ย ฉะนั้น จึงมีเท้าหลังยกขึ้นสูงกว่าปกติ เวลาคุ้ยเขี่ยจะได้สะดวกขึ้น เท้ามักใหญ่หนา เล็บสั้น แต่แข็งแรง
๗. เท้านกอีแจว : พวกนี้มีเล็บและนิ้วเท้าที่ยาวมาก สำหรับใช้เดินบนสาหร่ายหรือใบบัว แต่จำเป็นจริงๆ ก็ใช้ว่ายน้ำได้เช่นกัน
๘. เท้านกเกาะ : เป็นแบบเท้าที่พบกันมากที่สุด คือมีข้างหน้า ๓ นิ้ว ข้างหลัง ๑ นิ้ว ซึ่งสามารถทำให้นกพวกนี้เกาะ กระโดด เดินไปมาได้คล่องแคล่วที่สุด เวลาเกาะกิ่งไม้น้ำหนักตัวนกจะทับลงมาตรงๆ บนอุ้งเท้า ทำให้เอ็นที่เท้ายึดดึงเอานิ้วเท้างอเข้าหากัน ทำให้นกเกาะได้แน่นตลอดเวลา ซึ่งเป็นเหตุอันหนึ่ง ที่ทำให้นกสามารถเกาะกิ่งไม้ได้โดยไม่ตกลงพื้นดิน ในขณะนอนหลับ
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า นกนั้นมีวิวัฒนาการเจริญสืบ- เนื่องมาจากสัตว์เลื้อยคลาน ดังจะเห็นได้ว่า บริเวณของหน้าแข้ง ของนก ยังมีลักษณะเกล็ดคล้ายๆ เกล็ดพวกกิ้งก่าอย่างชัดเจน ยิ่งกว่านั้น นกยังออกลูกเป็นไข่ เช่นเดียวกับสัตว์เลื้อยคลาน แต่นกนั้นเจริญกว่าที่มีการทำรัง ออกไข่ กกไข่ และเลี้ยงลูก อ่อนจนกว่าลูกจะเจริญเติบโตหาอาหารกินเองได้