การจำแนกชนิดนกในประเทศไทย
ได้เคยกล่าวแล้วว่า นกนับได้ว่าเป็นสัตว์โลกชนิดเดียว ที่มนุษย์ได้ทำความรู้จักคุ้นเคยมากกว่าสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ คน เราได้ทำการสังเกต ค้นคว้า เฝ้าดูชีวิตของนกมานับพันๆ ปี แล้ว ได้มีผู้ทำการทดลองสำรวจชนิดของนก และประมาณว่ามี ประมาณ ๘,๖๐๐ ชนิดด้วยกันบนผิวโลกนี้ นับว่าเป็นจำนวนที่ มากมายเกินกว่าที่จะจดจำและรู้จักได้ทั่วถึงหมด นกทั้ง ๘,๖๐๐ ชนิดนี้ กระจัดกระจายอยู่ตามทวีปต่างๆ บ้างก็อยู่บนยอดเขา สูงๆ บ้างก็อยู่ในป่าทึบ บางชนิดก็อาศัยอยู่ริมบ้านคน ในสวน ทุ่งนา ทุ่งหญ้า และบางชนิดก็อาศัยอยู่ในน้ำแข็งทางขั้วโลกใต้ เป็นต้น เนื่องจากนกมีมากมายหลายชนิดนี่เอง จึงเป็นการยาก สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้าจะเรียกชื่อได้ถูกต้องได้ เพราะนก ชนิดเดียวกัน แต่ละท้องถิ่น แต่ละภาษา ต่างก็เรียกกันไปคนละ อย่าง คนละชื่อ เช่น นกกางเขนบ้านเรานั้น ทางภาคเหนือ เรียกว่า นกจี๋แจ๊บ ส่วนทางภาคใต้จะเรียก นกบินหลา เป็นต้น แม้แต่ในประเทศเดียวกันเอง ภาษาเดียวกัน ก็ยังเรียกกันไป คนละชื่อตามท้องถิ่นเช่นนี้ ถ้าคิดถึงภาษาต่างๆ ในโลกแล้ว ก็คงจะเรียกผิดแปลกกันไปมากมาย ดังนั้นนักปราชญ์จึงได้ พยายามค้นคว้าหาวิธีเรียกชื่อ และจัดรวบรวมชนิดสัตว์ ให้เข้าเป็นหมวดเป็นหมู่ เพื่อให้สะดวกต่อการค้นหาเรียกชื่อ ในปี พ.ศ. ๒๓๐๑ นักปราชญ์ชาวสวีเดน ชื่อ คาโรลัส ลินเนียส (Carolus Linneus) ได้คิดวิธีเรียกชื่อสิ่งมีชีวิตขึ้น ซึ่งทั่วโลกได้ ยอมรับว่าเป็นวิธีการที่เหมาะสม ง่าย และสะดวกต่อการค้นคว้า และนอกจากวิธีเรียกชื่อแล้ว ลินเนียส ยังได้ค้นคว้าวิธีรวบรวม สิ่งมีชีวิตให้เข้าเป็นหมวดเป็นหมู่ ตามลักษณะกรรมพันธุ์อีกด้วย การรวบรวมหรือจำแนกสิ่งมีชีวิตต่างๆ เหล่านี้ให้เข้าเป็นหมวด เป็นหมู่ เราเรียกว่า "การจำแนกชนิด"
ลินเนียส ได้แบ่งสิ่งมีชีวิตออกเป็น ๒ พวก คือ ประ- เภทพืชและประเภทสัตว์ สำหรับสัตว์ เขาแบ่งออกเป็นสัตว์ไม่ มีกระดูกสันหลัง และสัตว์มีกระดูกสันหลัง สัตว์มีกระดูกสัน หลังก็แบ่งไปอีกตามความสัมพันธ์ทางสายเลือด (กรรมพันธุ์) คือปลา สัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก สัตว์เลื้อยคลาน นก และสัตว์เลี้ยง ลูกด้วยนม
สำหรับนก เขาก็ได้แบ่งออกเป็นหมู่ย่อยๆ อีก เป็นอันดับ (order) นกในอันดับหนึ่งๆ ก็แบ่งออกไปเป็นหลายวงศ์ (family) ในวงศ์หนึ่งๆ ก็แบ่งออกไปเป็นหลายสกุล (genus) ถ้าเป็นพหูพจน์เรียก (genera) แต่ละสกุลจะก็ประกอบด้วยนก หลายชนิด (species)
ลินเนียสได้กำหนดวิธีเรียกชื่อนก และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดยให้ประกอบด้วยชื่อสกุลและชื่อชนิด เพื่อป้องกันความสับ สน เช่นเดียวกับชื่อมนุษย์ เขากำหนดให้เอาชื่อสกุลไว้ข้างหน้า และชื่อชนิดไว้ข้างหลัง และเพื่อป้องกันความผิดพลาด เขาได้ กำหนดลงไปตายตัวว่า ชื่อสกุลของสัตว์นั้นจะซ้ำกันไม่ได้ เช่น สกุลของนก จะไม่ซ้ำกับของปลา หรือสัตว์เลื้อยคลานเป็นอัน ขาด ดังนั้น ผู้ที่ศึกษาหรือค้นคว้าก็แน่ใจได้ว่า สัตว์ตัวที่กล่าว ถึงนั้น จะมีรูปร่างสีสันอย่างแน่นอนเหมือนกันทั้งโลก และ เพื่อป้องกันมิให้สับสนมากมาย เขาได้กำหนดไว้ว่า คำที่จะใช้ เรียกชื่อสัตว์ พืช เหล่านี้ ต้องมาจากภาษาที่ตายแล้ว (คือภาษา ที่เลิกใช้มานับพันๆ ปีแล้ว) ภาษาที่เขาเลือกนำมาใช้ก็คือ ภาษา ละติน ซึ่งความจริงก็เป็นต้นตระกูลของภาษาต่างๆ ในทวีปยุโรปปัจจุบันนี้เอง
ประเทศไทย ได้มีผู้สำรวจชนิดนกพันธุ์ต่างๆ และพบ ว่า ในประเทศไทยมีนกไม่น้อยกว่า ๘๕๐ ชนิดด้วยกัน นกเหล่านี้ บางชนิดเราก็ไม่เคยพบเห็นเลย เพราะอาศัยอยู่ตามป่าเขาสูงๆ เท่านั้น บางชนิดก็เป็นนกประจำท้องถิ่น เช่น มีเฉพาะบริเวณ ปักษ์ใต้ เป็นต้น ส่วนรอบๆ กรุงเทพฯ ก็มีนกที่พบอยู่ราวๆ ๒๐๐ ชนิดด้วยกัน
เนื่องจากในประเทศไทยมีนกมากมาย จึงเป็นการยาก ที่จะบรรยายนกทุกๆ ชนิดให้ทั่วถึง ดังนั้น จึงจะขอกล่าวเป็น หัวข้อใหญ่ๆ ตามลักษณะพันธุ์นกที่ได้เคยพบเห็นหรือที่น่าจะรู้จักไว้บ้างเท่านั้น ส่วนชื่อต่างๆ นั้น ย่อมจะดูเป็นการยากเกิน ไปสำหรับเด็กๆ ฉะนั้นจึงใส่ไว้แต่ชื่อไทย แต่ก็ได้กำกับชื่อ ละตินสำหรับอันดับและวงศ์ และได้กำกับชื่อภาษาอังกฤษเป็น คำง่ายๆ เพื่อผู้สนใจจะได้สามารถไปค้นคว้าศึกษาต่อด้วยตนเองได้