อนุกรมนก
นกเป็ดผี
๑. อันดับนกเป็ดผี (Order Podicipediformes)
มีวงศ์เดียว คือ วงศ์นกเป็ดผี (Family Podicipedidae) ได้แก่ เป็ดผี (grebe) เป็นนกขนาดกลางสีน้ำตาล อมดำ ท้องขาว ปากแหลม พบตามบริเวณหนองน้ำใหญ่ๆ ทั่วประเทศ เท้าเป็ดผีมีพังผืดออก มาตามข้อนิ้ว สำหรับใช้ว่ายน้ำ แต่ไม่ใช่พังผืดแบบเท้าเป็ด เวลาตกใจ จะมุดน้ำหายไป ชาวบ้าน จึงเรียกกันว่า เป็ดผี
นกกระทุง
๒. อันดับนกกระทุง (Order Pelecaniformes)
ที่พบบ่อยๆ มี ๒ วงศ์ คือ
๑) วงศ์นกกระทุง (Family Pelecanidae)
เป็นนกขนาดใหญ่มาก ปากยาวใหญ่ และ หนามาก ใต้คางจะมีถุง สำหรับเก็บอาหารได้เวลาไซ้น้ำหาปลากินเป็นอาหาร เท้าเป็นพังผืดสำหรับ ว่ายน้ำ มักอยู่ตามริมทะเลหรือบึงใหญ่ๆ ได้แก่ นกกระทุง (pelican) เดี๋ยวนี้หายากมากแล้ว
นกกาน้ำ
๒) วงศ์นกกาน้ำ (Family Phalacrocoracidae)
เป็นนกขนาดใหญ่ ตัวขนาดอีกา แต่ปาก ยาว แหลม คอยาว เท้ามีพังผืดสำหรับว่ายน้ำ ชอบว่ายน้ำหากิน มักทำรังปะปนอยู่กับฝูงนก กระยาง เนื่องจากตัวขนาดกา สีดำ แต่อยู่ริมน้ำ ชอบว่ายน้ำหากิน ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า กาน้ำ (cormorant)
นกกระสา
๓. อันดับนกกระยาง (Order Ciconiiformes)
เป็นนกขนาดใหญ่มากจนถึงขนาด ปานกลางมีหลายวงศ์ที่น่าจะรู้จักไว้ก็มี
๑) วงศ์นกกระสา-นกกระยาง (Family Ardeidae)
มีหลายขนาดด้วยกัน ตามชนิดและตามสกุล ปากยาว แข้งยาว ขายาว นิ้วยาว เพื่อจะใช้เดินลุยโคลนได้ง่ายๆ นิ้วกลางของนก พวกนี้มักจะมี "หวี" ยื่นออกมาเป็นซี่เล็กๆ เข้าใจว่า คงใช้ในการเหยียบมิให้จมเลนลงไป ที่รู้จัก กันมาก คือ นกกระสา (heron) และนกกระยาง (egret) ซึ่งมักพบเห็นกันเสมอในทุ่งนารอบๆ ตัวเมือง
นกปากห่าง
๒) วงศ์นกปากห่าง (Family Ciconiidae) เป็นนกขนาดใหญ่มาก แต่เดี๋ยวนี้หาได้ยากมาก ที่พบกันเสมอก็คือ นกปากห่าง (openbilled stork) ซึ่งทางรัฐบาลได้ทำการคุ้มครอง เพราะเกรงจะสูญพันธุ์ เราเรียกว่า นกปากห่าง ก็เพราะบริเวณริมฝีปากของมันไม่ติดกัน จะแยกห่าง จากกันเพื่อใช้ในการคาบหอย เป็นนกขนาดใหญ่มาก พบตามท้องนาทั่วๆ ไป
นกเป็ดแดง
๔. อันดับนกเป็ด (Order Anseriformes)
มีวงศ์เดียว คือ วงศ์นกเป็ด (Family Anatidae) ได้แก่ พวกเป็ดป่า เป็ดน้ำต่างๆ ภาษาอังกฤษเรียก wood duck และ teal บ้านเราก็มีเป็ดแดง เป็ดคับแค และเป็ดลาย ขนาดตัวเล็กกว่าเป็ดบ้านที่ เลี้ยงไว้ บางชนิดก็โตมาก เช่น เป็ดหงส์ ขนาดใหญ่กว่าเป็ดบ้าน เป็ดพวกนี้บางชนิด เช่น เป็ดลาย อพยพลงมาหากินในประเทศไทยเฉพาะฤดูหนาวเท่านั้น โดยมากมักจะไปอาศัยเกาะ นอนตาม ทะเลริมฝั่งทะเลโคลน และบินเข้ามาในแผ่นดินตอนดึกๆ เพื่อหาอาหารประเภทสาหร่าย หรือ สัตว์น้ำจืดกินบ้าง พอหน้าร้อนก็อพยพกลับไปทำรังวางไข่ในทางตอนเหนือของประเทศไทย
นกเหยี่ยวแดง
๕. อันดับนกเหยี่ยว (Order Falconiformes)
เป็นนกที่พบกันบ่อย และรู้จักกัน ดีมาก คือ วงศ์เหยี่ยวนกเขา-แร้ง (Family Accipitridae) ที่รู้จักกันมากคือ แร้ง (vulture) เหยี่ยว รุ้ง (harrier) และเหยี่ยวนกเขา (hawk) พวกนี้มีปากหนา แหลมคม อุ้งเท้ามีเล็บแข็งแรง เพื่อใช้ ในการจับสัตว์ ฉีกเนื้อสัตว์กินเป็นอาหาร บางประเทศเขาจับเอามาฝึกหัดให้ล่าสัตว์ได้
ไก่ป่า
๖. อันดับพวกไก่ฟ้า (Order Galliformes)
มีวงศ์เดียว คือ วงศ์นกไก่ฟ้า (Family Phasianidae) นกพวกนี้มีเท้าสำหรับคุ้ยเขี่ย ลูกอ่อนพอออกจากไข่ได้สักพัก ก็สามารถวิ่งตามแม่ไปหาอาหารคุ้ยเขี่ยกินได้เอง ไม่ต้องรอพ่อแม่หาอาหารมาป้อน เช่น นกชนิดอื่นๆ พวกนี้มีขนาดต่างกันมาก เช่น นกยูง (peafowl) นกหว้า (argus pheasant) ซึ่งมี ขนาดโตมาก ปีกและหางของนกตัวผู้ทั้ง ๒ ชนิด สามารถแผ่ออกไปร่ายรำอวดตัวเมียได้ พวก อื่นๆ ก็มี ไก่ฟ้า (pheasant) ไก่ป่า (jungle fowl) ซึ่งเป็นต้นตระกูลของไก่บ้าน และรวมทั้งพวก นกกระทา (partridge) ด้วย
นกคุ่ม
๗. อันดับนกคุ่ม-นกกวัก (Order Gruiformes)
มี ๒ วงศ์ คือ
๑. วงศ์นกคุ่ม (Family Turnicidae)
ตัวค่อนข้างเล็ก ชอบวิ่งอยู่กับดิน มองดูเผินๆ คล้ายลูกไก่ แต่ดูแข็งแรงกว่า ปีกแข็งกว่า บินได้ปราดเปรียว ที่พบมากก็มีนกคุ่มอืด (เพราะชอบ ร้องอืดๆ) และไก่นา (quail) ตัวลายๆ สีเหลืองประจุดดำๆ ชอบซุกอยู่ตามกอหญ้าริมท้องนา
นกกวัก
๒. วงศ์นกกวัก (Family Railidae)
ได้แก่ พวกนกอัญชัน และนกหนูแดง (rail) นก กวัก (water hen) นกอีลุ้ม (water cock) และนกอีโก้ง (gallinule) พวกนี้มักพบตามริมหนองน้ำ หากินในน้ำ ขายาว แข้งยาว เล็บยาว เดินในน้ำและบนสาหร่ายใบบัวได้ไม่จม ถ้าจำเป็นก็ว่าย น้ำได้คล่องแคล่วพอใช้ได้ บินแข็งแต่ชอบบินฉวัดเฉวียน หลบตามกอหญ้ากอข้าวมากกว่า
นกพริก
๘. อันดับนกตีนเทียน-นกอีก๋อย (Order Charadriiformes)
มีด้วยกันหลายวงศ์ คือ
๑. วงศ์นกพริก (Family Jacanidae)
ได้แก่ พวกนกพริก นกอีแจว (jacana) ซึ่งมีแข้งขา และเล็บยาวมากเป็นพิเศษ เพื่อช่วยในการเกาะจับบนสาหร่ายในน้ำได้ง่ายๆ ว่ายน้ำก็ได้ ตัวขนาด นกอีลุ้ม แต่สีดำกว่า แข้งขายาวกว่า คอยาวและปากยาว
นกอีก๋อย
๒. วงศ์นกปากซ่อม (Family Scolopacidae)
ส่วนมากของพวกนกปากซ่อม (snipe) เป็นนกอพยพลงมาหากินในประเทศตอนปลายฤดูฝน และอยู่ตลอดหน้าหนาวจึงกลับไปทำรังทางเหนือ ใหม่ในหน้าร้อน พวกนี้สีน้ำตาลอมเทา ดูทึมๆ เพื่อพรางตัวเองให้เข้ากับกอหญ้าและทุ่งนาต่างๆ พบกันมากริมชายหาดเลน และท้องนา ได้แก่ พวกนกปากซ่อม นกตีนเทียน (red shank และ green shank) นกอีก๋อย (whimbrel)
นกหัวโต
๓. วงศ์นกกระแต (Family Charadriidae)
ส่วนมากเป็นนกขนาดปานกลาง และส่วน มากเป็นพวกอพยพลงมาหากินตามชายทะเล ได้แก่ พวกนกหัวโต (plover) และที่รู้จักกันมากก็คือ นกกระแตแต้แว้ด หรือ นกต้อยตีวิด (lapwing) ซึ่งเชื่อกันว่า นกชนิดนี้เวลานอนมักจะนอนหงาย เอาเท้าชี้ฟ้า เพราะกลัวฟ้าจะพังลงมาทับ แต่แท้ที่จริงแล้ว นกชนิดนี้จะยืนบนพื้นดินเอาหัวซุกปีก หลับ บางครั้งก็งอขาขึ้นข้างหนึ่ง เช่น นกอยู่ตามพื้นดิน ทั้งหลายทั่วๆ ไป เราเรียกกันว่า นกกระแตแต้แว้ด เพราะเสียงร้องของมันดังก้องป่าว่า "แต๊ด-แต๊ด-แต-แว้ด" ซ้ำๆ ซากๆ ฟังแล้วเพราะมาก
นกนางนวล
๔. วงศ์นกนางนวล (Family Laridae)
เป็นนกขนาดค่อนข้างใหญ่มาก เท้าเป็นพังผืด ปากแหลม หากินตามชายฝั่งทะเล และเข้ามาตามลำน้ำใหญ่ๆ บ้าง นกนางนวลบางชนิดหากินใน น้ำจืดก็มี เช่น นกนางนวลที่พบทางภาคเหนือของประเทศไทย กล่าวกันว่า ชาวทะเลนับถือนก นางนวล เพราะถือกันว่า พอพบนกนางนวลก็แสดงว่า อยู่ใกล้ผืนแผ่นดินแล้ว ได้แก่ นกนางนวล (gull) และนกนางนวลแกลบ (tern)
นกเขาเปล้า
๙. อันดับนกเขา (Order Columbiformes)
มีวงศ์เดียว คือ วงศ์นกเขา (Family Columbidae) ได้แก่ พวกนกเขา (dove) นกพิราบ (pigeon) และ นกเปล้า (fruit-dove) ต่างๆ พวกนี้ตัวผู้มักสีสวยกว่าตัวเมีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกเปล้า ซึ่งมีสีสัน สวยมาก กินผลไม้ ลูกไม้ ใบไม้เป็นอาหาร พบกันเสมอทั่วๆ ไป ตามป่าเขา และทุ่งนา
นกกะลิง
๑๐. อันดับนกแก้ว (Order Psittaciformes)
มีวงศ์เดียว คือ วงศ์นกแก้ว (Family Psittacidae) พวกนี้มีปากหนา ใหญ่ งองุ้ม ดูน่ากลัว แต่ปาก ของมันมีไว้ใช้ในการจับกิ่งไม้ป่ายปีนเท่านั้น อาหารตามปกติของนกจำพวกนี้ คือ พวกเมล็ดพืช หญ้า ผลไม้ ใบไม้ แต่บางครั้งก็ชอบฉีกเปลือกไม้เล่น นกแก้วมีลิ้นหนามาก มักเป็นสัตว์เลี้ยง ที่เชื่อง และหัดพูดได้ง่าย มี นกแขกเต้า นกแก้วโม่ง นกกะลิง ซึ่งเรียกรวมกันว่า นกแก้ว (parakeet) และนกหก (lorikeet) ซึ่งเป็นนกขนาดเล็กกว่าพวกนกแก้วมาก เวลานอนจะเกาะกิ่งไม้ ห้อยหัวลงมานอนเช่นค้างคาว ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า นกหก นกพวกนี้มีสีสันสวยงดงามมาก
๑๑. อันดับนกกาเหว่า (Order Cuculiformes)
ที่รู้จักกันมากมีวงศ์เดียว คือ วงศ์นกกาเหว่า (Family Cuculidae) มีนกหลายขนาด และหลายสิบชนิดในวงศ์นี้ บาง ชนิดก็ใหญ่มากขนาดกา เช่น นกกาเหว่า หรือ นกดุเหว่า (koel bird) นกกะปูด หรือ นกก้นปูด (crow pheasant) บางชนิดก็เล็กมากๆ เช่น นกเขียวมรกต (emerald cuckoo) เป็นต้น นกพวกนี้ บางชนิด เช่น พวกนกกาเหว่า และพวกนกคักคู (cuckoo) ไม่รู้จักทำรังวางไข่ แต่ใช้วิธีแอบเข้า ไปไข่ในรังของนกชนิดอื่นๆ แทน ด้วยความฉลาด แกมโกงของแม่นก เมื่อไข่เสร็จแล้ว แม่นก จะกลิ้งไข่อื่นๆ ออกทิ้งไปเสียบ้าง เพื่อให้จำนวนไข่ในรังนั้นคงที่เสมอ และเมื่อลูกนกคักคู ออก จากไข่ ซึ่งตามปกติลูกนกคักคูจะใช้เวลากกไข่เพียง ๓-๔ วันเท่านั้น มันก็จะใช้ความฉลาดของ มันค่อยๆ กลิ้งไข่อื่นๆ ออกทิ้งเสีย พ่อแม่ก็จำเป็นต้องหาอาหารมาป้อนลูกนกกาเหว่าหรือนกคักคูนี้ จนกระทั่งโต ซึ่งบางครั้งก็จะโตกว่าพ่อแม่ที่เลี้ยงมันมามากมายนัก เราเรียกว่า นกกาเหว่า ก็ เพราะเสียงร้อง "กา-เหว่า" ซ้ำๆ กัน ตามสวน ตามทุ่ง ได้ยินกันทั่วไป นกกะปูดก็ร้องได้ดังมาก ชาวบ้านเชื่อกันว่าจะร้องเวลาน้ำขึ้นน้ำลง นับว่าใช้เป็นเสียงแทนนาฬิกาบอกเวลาได้เป็นอย่างดี
นกกะปูด
๑๒. อันดับนกเค้าแมว (Order Strigiformes)
ที่พบกันมากมี ๒ วงศ์ คือ
๑. วงศ์นกฮูก-นกแสก (Family Strigidae)
เป็นนกขนาดกา ตัวโต สีขาวหรืออมชมพู ประจุดดำ เนื่องจากออกหาพวกหนูเล็กๆ กินในเวลากลางคืนและเสียงบินพึบพับ ตลอดจนเสียง ร้องที่เยือกเย็นทำให้คนโบราณเชื่อกันว่า นกฮูกหรือนกแสกเป็นยมทูตที่จะมาคร่าชีวิตคน แต่ความ จริงนกพวกนี้เป็นนกที่มีประโยชน์มาก เพราะช่วยจับหนู อันเป็นศัตรูที่ร้ายกาจ หมายเลข ๑ ของ มนุษย์กิน เท่าที่เรารู้กันทั่วๆ ไป นอกจากหนูจะกัดทำลายข้าวของให้เสียหายแล้ว หนูยังเป็นพาหะ นำโรคนานาชนิดมาสู่มนุษย์ การที่หนูออกหากินเวลากลางคืนจึงแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมาก นกฮูก หรือนกแสกเหล่านี้จึงมีประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างยิ่ง ที่เรารู้จักกันก็คือ นกฮูก หรือนกแสก (barn owl) เราเรียกนกฮูก เพราะมันมักจะร้องเป็นเสียงคราง "ฮือ-ฮือ" ส่วนเสียงนกแสกนั้นเกิดจากเวลา ตกใจร้องออกมาอย่างโหยหวน เยือกเย็นและออกบินถลาดังพึบพับไปด้วย
นกเค้าแมว
๒. วงศ์นกเค้าแมว (Family Strigidae)
ได้แก่ พวกนกเค้าแมว และนกถึดทือ (fish owl) ทั้งหลาย นกจำพวกนี้ออกหากินกลางคืนเป็นส่วนมาก และก็จับพวกหนูหรือสัตว์เล็กๆ อื่นๆ เช่น กบ เขียด ฯลฯ กินเป็นอาหาร นกถึดทือนั้นมีขนาดโตกว่านกเค้าแมวมาก
๑๓. อันดับนกตบยุง (Order Caprimulgiformes)
ได้แก่ พวกนกตบยุงทั้งหลาย มีวงศ์เดียว คือ
วงศ์นกตบยุง (Family Caprimulgidae) ได้แก่ พวกนกตบยุง (nightjar) พวกนี้ตัว ขนาดใหญ่กว่านกกางเขนสักเล็กน้อย แต่อ้วนกว่า ปากใหญ่ แบนและกว้างมาก หนวดตามปาก มีมากมาย เพื่อใช้รับความรู้สึกได้ดีมาก พวกนี้ออกหากินกลางคืน มักหมอบตามพื้นดินในท้องนา ส่งเสียงร้องเป็นจังหวะ ตามชนิดของมัน โดยมากที่ได้ยินกันก็คือ "ตุ๊ก-ตุ๊ก" เรื่อยไป พวกนี้ กินแมลงเป็นอาหาร เนื่องจากออกหากินกลางคืน ปากของมันจึงกว้างมาก เพื่อจะจับแมลงให้ได้ นั่นเอง บางครั้งเวลาเดินไปในท้องนา เวลากลางคืน ส่องไฟจะพบตาสัตว์จุดแดงๆ เล็กๆ ๒ จุด นั่นคือ ตาของนกตบยุงนี่เอง
นกตบยุง
๑๔. อันดับนกกินปลา นกเงือก และนกตะขาบ (Order Coraciiformers)
นกใน อันดับนี้มีหลายวงศ์ ที่เรารู้จักกันดี คือ
๑. วงศ์นกกินปลา (Family Alcedinidae)
นกวงศ์นี้ มีขนาดตั้งแต่เล็กมากกว่านกกระจอกจนใหญ่ขนาดนกเขา ได้แก่ พวกนกกระเต็น นกกำกวม นกกินเปี้ยว หรือนกปูเปี้ยว และ นกกินปลา ภาษาอังกฤษเรียกรวมๆ กันว่า king fisher นกพวกนี้มีสีสวยงามมาก ส่วนมากก็กิน ปู กินปลาเล็กปลาน้อย และกุ้งน้ำจืดต่างๆ มักพบทั่วๆ ไป นกกระเต็นบางชนิด สามารถเปลี่ยน มุมบินที่ปีก ทำให้บินอยู่กับที่เป็นระยะนานๆ พวกนี้มีสายตาว่องไว และกะระยะแม่นยำมาก ขณะที่บินอยู่อาจโผลงเฉี่ยวปลา หรือกุ้งในน้ำได้อย่างแม่นยำ นกกระเต็นที่บินอยู่กับที่ได้ เราเรียก ว่า นกกระเต็นปักหลัก มีสีขาวจุดดำทั้งตัว นกกระเต็นขนาดใหญ่ เราเรียกว่า นกกระเต็นช้าง หรือนกกำกวม
นกกระเต็นปักหลัก
๒. วงศ์นกตะขาบ (Family Coraciidae)
เป็นวงศ์นกที่พบกันบ่อย เกาะตามสายไฟ สายโทรเลข ข้างถนน มีสีสันงดงาม เวลาบินสีต่างๆ จะตัดกับท้องฟ้าสวยมาก แต่ร้องเพลงไม่ใคร่ เพราะ คงทำได้แต่เสียงต่ำๆ ในลำคอเท่านั้น นกพวกนี้มีขนาดโตกว่านกเอี้ยง และนกกิ้งโครง กินแมลง กบ เขียด จิ้งเหลน และกิ้งก่าเล็กๆ เป็นอาหาร มักอยู่เป็นคู่ๆ พบรอบๆ กรุงเทพฯ แต่ตามป่าคงจะพบนกตะขาบดง หรือนกตะขาบปากกว้าง ซึ่งมีปากสีแดงจัด และกว้างมากอีก ชนิดหนึ่ง เกาะตามต้นไม้แห้งๆ ทั่วไป ตามริมไร่ ซาก หรือในดงดิบ ทำรังตามโพรงไม้แห้งๆ แต่อยู่สูง
นกตะขาบ
๓. วงศ์นกเงือก (Family Bucerotidae)
เป็นนกที่มีขนาดใหญ่โตมาก ปากของนกวงศ์ นี้มักเปลี่ยนไปเป็นรูปต่างๆ สวยงาม ใหญ่ และแข็งแรง บ้านเราเรียกรวมว่า นกเงือก นกเงือก นกกก นกแกง หรือนกชนหิน ภาษาอังกฤษเรียกรวมว่า horn bill พวกนี้มักจะบินตามกันไปเป็น ฝูงๆ บางฝูงก็เคยพบมี ๑๐๐ ตัว เวลาบิน กระพือปีกช้าๆ รับลม ทำให้เกิดเสียงดังพึบพับเอี๊ยดๆ สนั่นไปทั้งป่า ชาวบ้านเชื่อกันว่า นกเงือกตัวผู้จะเจาะรูทำรัง เลี้ยงลูก และให้ตัวเมียมาหาเลี้ยง แต่แท้ที่จริงแล้ว นกเงือกตัวเมียจะเข้าไปวางไข่ กกไข่อยู่ในโพรงไม้ มันจะอุดโพรงที่เข้าไป ให้ เหลือเพียงรูเล็กๆ สำหรับมีอากาศหายใจ และคอยยื่นหัวออกมารับอาหารจากตัวผู้เท่านั้น ธรรมชาติ จะช่วยทำให้ขนของมันร่วงจนหมด เพราะร้อนอุดอู้อยู่ในโพรง ตัวผู้จึงมีหน้าที่บินหาอาหารมาป้อน ลูกและเมียของมันในโพรงไม้ หากตัวผู้ตายไป ลูกและเมียที่อยู่ในโพรงไม้ย่อมตายตามไปอย่าง ไม่มีปัญหา เพราะตัวเมียไม่สามารถจะบินออกหากินได้ พอลูกโตเต็มที่ ขนนกจะงอกออกมาอีก ทั้งแม่และลูก แล้วมันจึงช่วยกันกับพ่อนกทลายโพรงไม้และออกบินหากินกันต่อไป
นกเงือก
๔. วงศ์นกจาบคา (Family Meropidae)
ได้แก่ นกจาบคา หรือนกกินผึ้ง (bee-eater) พวกนี้มีขนาดค่อนข้างเล็ก ปากยาว งอโค้ง เพราะใช้บินไล่จับแมลง เวลาหน้าทำรัง พวกนี้มัก ชอบขุดโพรงริมตลิ่งน้ำสูงๆ ทำรัง เป็นการป้องกันมิให้ศัตรูเข้ามารบกวนลูกอ่อนของมัน มักพบ เสมอรอบๆ เมือง ตัวสีเขียวแก่ หางยาว
นกจาบคา
๑๕. อันดับนกหัวขวาน (Order Piciformes)
มี ๒ วงศ์ คือ
๑. วงศ์นกโพระดก (Family Capitonidae)
ส่วนมากเป็นนกขนาดกลาง โตกว่านกกระจอกสักเล็กน้อยไปจนถึงขนาดนกเขาเล็กๆ ปากหนาและใหญ่ผิดกับตัว ส่งเสียงร้องไปไกลมาก บางชนิดก็มีสีสันสวยงาม ไม่แพ้นกวงศ์อื่นๆ เลย ภาษาอังกฤษเรียกรวมกันว่า บาร์เบต (barbet) เราเรียกว่า นกตีทอง เพราะเวลามันร้องดัง "โป๊ง-โป๊ง" คล้ายค้อนตีทอง ของพวกช่างทอง ส่วนนกโพระดกนั้น มันจะร้อง เป็นระยะ บางครั้งก็ได้ยินเป็น "ป๊ก-ป๊ก""ฮื่อป๊ก-ฮื่อป๊ก" จึงเรียกกันว่า นกโพระดก หรือ โประดก
นกโพระดก
๒. วงศ์นกหัวขวาน (Family Picidae)
นกในวงศ์นี้ สามารถไต่ขึ้นลงตามต้นไม้ได้ดีมาก เล็บเท้ามักจะมี หน้า ๒ หลัง ๒ คม และแข็งแรง หางมักจะแข็งมากและเป็นรูป "ลิ่ม" ใช้ช่วย ยันต้นไม้ขณะไต่ขึ้นลงตามลำต้น ร้องเป็นเสียง "แก๊กแก๊ก-แก๊กแก๊ก" ดังไปไกล และบินได้ แข็งแรงมาก ปากของมันมักเป็นรูปโดม แหลม เวลาไปพบกิ่งไม้แห้งๆ ที่สงสัยจะมีหนอน มันก็ใช้ปากเคาะตรงกิ่งไม้นั้น ได้ยินไกลดัง โป๊ก โป๊ก พอแน่ใจว่า เป็นหนอนตรงบริเวณนั้น มันก็จะ ระดมใช้ปากโขกจนไม้แตกเป็นโพรง แล้วใช้ลิ้นอันเหนียวของมัน ซึ่งยาวผิดกว่านกอื่นๆ มาก จับหนอนนั้นกินเป็นอาหารเสีย
นกหัวขวาน
๑๖. อันดับนกเกาะ หรือนกร้องเพลง (Order Passeriformes)
นกในอันดับต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้น มักจะร้องเพลงได้ไม่ไพเราะเท่าไรนัก และไม่มี ความสามารถเกาะกิ่งไม้ได้ดีเท่าใด แต่นกในอันดับนกเกาะ บางครั้งเรียกว่า นกเปอร์ชิง (perching bird) นี้ สามารถเกาะกิ่งไม้ได้ดีมาก และกล่องเสียงก็เจริญเปลี่ยนไป สามารถทำเสียงได้หลายเสียง และติดต่อกันเป็นเพลงอันไพเราะ นิ้วเท้าของนกพวกนี้ แยกไปข้างหน้า ๓ หลัง ๑ และเป็นอิสระ ทำให้สามารถเกาะกิ่งไม้ได้ดีขึ้น นกพวกนี้เดินไม่ใคร่เป็น ฉะนั้น เวลาลงดิน จึงพบมันกระโดดหยอยๆ มากกว่าจะก้าวขาเดินแบบพวกนกแก้ว มีหลายชนิด เป็นนกที่มีวิวัฒนาการสูงสุดใน บรรดาพวกนกด้วยกัน นกที่พบรอบๆ ตัวเรา ประมาณสองในสามส่วนเป็นนกพวกนี้ทั้งหมด พวกนี้รู้จักสร้างรัง วางไข่ กกไข่ นับว่า เจริญและพิสดารกว่านกอื่นๆ เกือบทั้งหมด ที่เรารู้จักกัน ก็มี นกกระจอก นกกระจาบ นกกางเขน นกกิ้งโครง และนกสีชมพู ฯลฯ เป็นต้น ที่น่าจะรู้จัก สามารถแบ่งออกเป็น ๑๖ วงศ์ คือ
นกแตวแร้วหรือนกเต้นตามกวาง
๑. วงศ์นกเต้นตามกวาง (Family Pittidae)
เป็นนกที่ชอบอยู่ตามดิน ดังนั้นชาวบ้าน ป่าจึงเรียกว่า นกเต้นตามกวาง นกเต้น หรือนกเจ็ดสี เพราะบางชนิดจะมีสีสันงดงามมาก มีสี ต่างๆ นับได้ถึง ๗ สีจริงๆ มักพบตามป่าทั่วๆ ไป ส่งเสียงร้องดังมาก ออกเดินคุ้ยเขี่ยหาอาหาร พวกหนอน มด แมลงเล็กๆ และบางคราวก็จิ้งเหลน กิ้งก่า กบ เขียดน้อยๆ ตามป่าทั่วๆ ไป พวก นี้มักชอบป่าที่ชุ่มชื้น ตามป่าไผ่ก็ชอบอยู่ นับว่าเป็นนกที่สวยงามประเภทหนึ่ง
นกพญาปากกว้าง
๒. วงศ์นกพญาปากกว้าง (Family Eurylaimidae)
เป็นนกขนาดกลาง จนถึงขนาด ใหญ่ๆ ประมาณนกขมิ้น เป็นนกที่มีสีสันสวยงามมาก นกวงศ์นี้จะมีปากซึ่งกว้างใหญ่มาก แต่ ไม่หนา จึงได้ชื่อว่า นกพญาปากกว้าง ส่วนมากมักจะมีสีสันสวยงามเกินกว่าที่จะคิดไว้ โดยเฉพาะ สีที่ปาก ซึ่งนกทั่วๆ ไปจะมีสีดำ น้ำตาล หรือแดง แต่ปากของนกบางชนิดในวงศ์นี้จะมีสีเขียว ใบไม้ตัดกับสีแดงอมเหลืองสวยมาก อย่างไรก็ตาม สีของปากนกพวกนี้ มักจะซีดจางหายไป เมื่อตายแล้ว พบอยู่เป็นฝูงๆ ตามป่าดงดิบทั่วๆ ไป
นกกระจาบฝน
๓. วงศ์นกกระจาบฝน (Family Alaudidae)
ขนาดโตกว่านกกระจอกสักเล็กน้อย แต่ ตัวอ้วนกว่า ร้องเพลงเพราะ พบตามท้องนารอบๆ กรุงเทพฯ และท้องนาทั่วๆ ไปในต้นฤดูฝน นกชนิดนี้ตัวผู้จะบินร่อนขึ้นสูง แล้วร่อนถลาลงดินพร้อมทั้งส่งเสียงร้องเพลงอย่างไพเราะ เนื่องจาก มีรูปร่างขนาดนกกระจาบและพบบ่อยตอนต้นฝน จึงเรียกกันว่า นกกระจาบฝน (lark)
นกนางแอ่น
๔. วงศ์นกนางแอ่น (Family Hirundinidae)
เป็นนกขนาดเล็กปีกเรียวแหลม ทำให้ บินร่อนได้ทนทาน ส่วนมากนกพวกนี้อพยพลงมาจากทางเหนือของไซบีเรีย เกาหลี ผ่านลงมาทาง กรุงเทพฯ และเลยไปยังมาเลเซีย ไปจนถึงตอนเหนือของทวีปออสเตรเลียก็เคยพบ นับว่า เป็นนกที่มีความสามารถในการอพยพย้ายถิ่นได้อย่างวิเศษสุด เป็นนกที่เราพบเกาะสายไฟฟ้าตามเมือง บินรอบๆ เมืองเสมอในฤดูหนาว ภาษาอังกฤษเรียกว่า สวัลโลว์ (swallow) ชนิดอยู่ริมน้ำเรียกว่า มาร์ติน (martin) นกนางแอ่นนี้เป็นคนละพันธุ์และคนละวงศ์กับนกนางแอ่นที่เราใช้รังมากินอาหาร ซึ่งเรียกว่า สวิฟต์ (swift) นกเจ้าฟ้าของเราที่เพิ่งพบ ก็จัดอยู่ในวงศ์นกนางแอ่นเหมือนกัน
นกแซงแซว
๕. วงศ์นกแซงแซว (Family Dicruidae)
ได้แก่ นกแซงแซว (drongo) เป็นนกที่ พบและรู้จักกันทั่วไป ขนาดโตกว่านกกางเขน สีดำทั้งตัว มีทั้งแซงแซวหางปลา และแซงแซว หางบ่วง บางชนิดขนเป็นมันสีเหลือบ ดูสวยมาก พบเกาะรอบๆ ตัวเมือง และในสวน บินโฉบจับ แมลงกินอยู่ในนาเนืองๆ
นกขมิ้น
๖. วงศ์นกขมิ้น (Family Oriolidae)
ชื่อของนกชนิดนี้แสดงให้รู้แล้วว่าเป็นนกสีเหลือง สวยงามมาก แต่พวกนกขมิ้นดง (maroon oriloe) นั้น สีน้ำตาล แดงเข้มจนเกือบดำก็มี นกขมิ้น เหลืองอ่อนนั้น เป็นที่รู้จักว่าไม่มีรังจะนอนอาศัย เพราะนกชนิดนี้ได้อพยพเข้ามาหากินในประเทศ ตอนฤดูหนาวนั่นเอง
นกขุนแผน
๗. วงศ์กา (Family Corvidae)
ได้แก่ อีกา (crow) กาแวน นกขุนแผน และพวก นกกะลิงเขียด (tree pie) พวกเจย์ (jay) ซึ่งมีสีสันสวยงามมาก พวกนี้โดยมากมีขนาดโต สีสันก็ แตกต่างเปลี่ยนไปคนละชนิด แต่เรารู้จักว่า อีกามีสีดำทั้งตัวเท่านั้น
นกปรอดหัวโขน
๘. วงศ์นกปรอด (Family Pycnonotidae)
เราเรียกกันว่า นกปรอด (bulbul) ก็เพราะ ว่ามันจะส่งเสียงร้อง "กรอด-กรอด" อยู่ตามสวน ตามรั้วบ้านเรานี่เอง มีหลายสิบชนิด สีสัน แปลกๆ ต่างกัน สวยงามมาก ส่วนมากมักอยู่ตามป่าเขาสูงๆ
นกกินแมลง
๙. วงศ์นกกินแมลง (Family Muscicapidae)
เป็นวงศ์นกขนาดใหญ่มาก แบ่งออกเป็น วงศ์ย่อยๆ อีกมากมาย เช่น พวกนกกางเขน (robin) นกกะถัว (laughing thrush) และพวกนก กระจิบ (warbler) ต่างๆ เป็นวงศ์นกที่ใหญ่ที่สุดของเราเวลานี้ นักปราชญ์บางคนได้แยกนกเหล่านี้ ออกไปเป็นวงศ์ต่างๆ อีกหลายวงศ์ แต่เพื่อความสะดวก เราจะไม่กล่าวถึงในที่นี้
นกพญาไฟ
๑๐. วงศ์นกพญาไฟ (Family Pericrocotidae)
นกพญาไฟ (minivet) เป็นนกที่สวย งามมาก ตัวผู้จะมีหัวและปีกเป็นสีดำสนิทเป็นมัน อก ท้อง และลายบนปีกเป็นสีแดงเพลิงตัด กันงดงามมาก แต่ตัวเมียมีสีเหลืองและสีเทา นกบางชนิดในวงศ์นี้ เช่น นกขี้เถ้า (cuckoo shrike) มีขนาดตัวโตมากกว่านกพิราบ แต่มีสีเทาทั่วตัว ทั้งตัวผู้และตัวเมีย
นกอุ้มบาตร
๑๑. วงศ์นกก้นห่ม (Family Motacillidae)
เป็นนกที่อพยพลงมาหากินในประเทศไทย ตอนปลายฤดูฝนต่อหนาว และกลับไปทำรังทางภาคเหนือในหน้าร้อน มีสีสันต่างๆ กันหลายชนิด เวลาเดินหรือเกาะอยู่กับที่ มักจะส่ายหรือกระดกหางขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเวลา จึงเรียกกันว่า นกก้นห่ม (wagtail) บางคนก็เรียกว่า นกเด้าลม ทางภาคเหนือมักจะเรียกว่า นกอุ้มบาตร เพราะนก พวกนี้ชนิดหนึ่ง มีสีขาวทั้งตัว แต่หน้าอกมีสีดำเป็นแผ่นคล้ายๆ พระหรือเณรอุ้มบาตร ชาวบ้านภาคเหนือจึงเรียกนกอุ้มบาตร
๑๒. วงศ์นกอีเสือ (Family Laniidae)
เป็นนกขนาดกลาง มีปากหนา พวกนี้ชอบ จับพวกจิ้งเหลน กิ้งก่า หรือกบเขียดกินเป็นอาหาร พวกแมลงต่างๆ ก็ชอบกินมาก บางครั้งหาก กินอาหารไม่หมด มักจะชอบเอาอาหารไปซุกซ่อนตามคาคบไม้ นกอีเสือเป็นนกที่อพยพมาจาก ทางประเทศจีนในฤดูหนาว และหากินรอบๆ กรุงเทพฯ และตามภาคต่างๆ ส่วนนกแก้วตาไว หัวดำหลังแดงนั้น เป็นนกที่ทำรังวางไข่ตามบริเวณที่ราบภาคกลางนี้เอง
นกแก้วตาไว
๑๓. วงศ์นกเอี้ยง-กิ้งโครง (Family Sturnidae)
เป็นนกที่พวกเราพบเห็นกันทุกวันรอบๆ บ้านเรานี้เอง ประกอบด้วย นกเอี้ยง นกสาลิกา นกกิ้งโครง และนกขุนทอง ซึ่งเรียกกันว่า ทอล์กกิงไมนา (talking myna) เพราะสามารถเอามาเลี้ยงหัดให้พูดได้ ปัจจุบันประเทศไทยส่งนก ขุนทองไปขายต่างประเทศ ปีละเป็นแสนตัว ทำรายได้ให้ประเทศนับจำนวนล้านบาททีเดียว นก พวกนี้กินแมลงต่างๆ เป็นอาหาร พวกนกกิ้งโครง นกเอี้ยง และ นกสาลิกา ชอบหากินตามหลัง วัวควาย เพราะเวลาวัวควายเดินไปตามท้องนา หางของมันจะโบกปัดเอาตัวแมลงบินขึ้นมา นกพวกนี้ก็จะจับจิกกินเป็นอาหาร
นกขุนทอง
๑๔. วงศ์นกกินปลี (Family Nectariniidae)
เป็นนกที่เจริญมาก ขนาดตัวเล็ก ตัวผู้ และตัวเมียมีสีสันผิดกันมากมาย ตัวผู้มักมีสีงดงามมาก ปากงอโค้ง ลิ้นของมันเป็นหลอดใช้ใน การดูดน้ำหวาน น้ำซับต่างๆ พวกนี้กินน้ำหวานเป็นอาหาร มักชอบกินผลไม้สุกที่เละๆ เพราะ ได้น้ำหวาน เช่น ลูกตำลึง มะละกอสุก บ้านเราก็มีนกกินปลี (sunbird)
นกกินปลี
๑๕. วงศ์นกกาฝาก (Family Dicaeidae)
เล็กกว่านกกินปลี และปากสั้นกว่ามาก สีสัน คล้ายกับนกกินปลี แต่ชอบกินดอกกาฝากและดอกไม้อย่างอื่นๆ บ้านเราก็มีนกกาฝากและนกสีชมพูสวน (flower-pecker)
นกสีชมพู
๑๖. วงศ์นกกระจาบ (Family Ploceidae)
ได้แก่ นกกระจาบ (weaver bird) นกกระจอก (sparrow) ซึ่งรู้จักกันดี นกพวกนี้บางชนิดร้องเพลงได้ไพเราะมาก บางชนิดก็ทำรังอยู่รวมกันเป็น ฝูงใหญ่ๆ จนชาวต่างประเทศเรียกว่า นกโซเชียล (social bird) มีการกรีดใบหญ้าเส้นเล็กเส้นน้อย เอามาสานกันประกอบเป็นรังห้อยตามต้นไม้ มีรูเข้าออก ดูสวยงามประณีตมาก ที่รู้จักกันมากก็คือ นกกระจาบหัวเหลือง และนกกระจอก นกกระจาบบางชนิดก็อพยพลงมาหากินในประเทศไทย ตอนฤดูหนาว
นกกระจอก
เท่าที่กล่าวมาข้างต้น เป็นตัวอย่างนกบางชนิดที่จำแนกออกตามหลักสัตวศาสตร์สากล แต่ต้องเข้าใจว่า นกต่างๆ ของประเทศไทย มีจำนวนมากมาย ที่กล่าวมานี้เป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อย เท่านั้น