เล่มที่ 1
นก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
หนังสือค้นคว้าเรื่องนกในประเทศไทย

            เป็นที่น่าเสียใจว่า เรายังไม่มีหนังสือเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่หรือหนังสือแนะนำชนิดนก เป็นภาษาไทยเลย อย่างไรก็ตาม หนังสือที่เด็กๆ ควรได้อ่านได้เห็น ก็คือหนังสือเรื่อง "BIRD GUIDE OF THAILAND" ของนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล มีรูปสีของนกทุกชนิดที่รู้จักหรือเคย พบในประเทศไทย พร้อมด้วยคำอธิบายย่อๆ เป็นแนวทางสำหรับผู้สนใจต่อไป

            ทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกับชาติอื่นๆ ทางแถบ เอเชียตะวันออก เพื่อศึกษาเส้นทางอพยพย้ายถิ่นของนกเหล่านี้ โดยได้ร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย โดยประเทศ เหล่านี้ได้ทำการดักนกต่างๆ แล้วสวมปลอกกำไลขานก แล้วปล่อยไป ผู้จับนกที่มีปลอกกำไลขา เหล่านี้ได้ ก็จะทราบถึงทิศทาง อายุ และเวลาที่ใช้ในการบินของนกชนิดนั้นได้ นกที่มีปลอกกำไล นี้อาจจะถูกจับได้ภายในประเทศหรือต่างประเทศ การศึกษาเรื่องนกอพยพนี้ได้เริ่มทำกันมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ มีผลสรุปได้ดังนี้ คือ

            ๑. นกนางแอ่นที่เกาะสายไฟตามถนนเยาวราช เจริญกรุง และสีลมนั้น ทำรังวางไข่แถบ แคว้นอะมัวแลนด์ ประเทศไซบีเรีย โดยเราได้จับนกทำการสวมปลอกกำไลขานกที่ถนนเหล่านี้แล้วปล่อยไป ต่อมามีผู้พบนกซึ่งมีปลอกกำไลขาเหล่านี้ ทำรังวางไข่ ที่แคว้นอะมัวแลนด์ ประเทศ ไซบีเรีย

            ๒. นกนางแอ่นจะบินผ่านเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ โดยเราสวมปลอกกำไลขา และมีผู้ จับได้ในประเทศดังกล่าวมาแล้ว นอกจากนั้นทางสถาบันวิจัย ฯ ยังเคยจับนกนางแอ่นจากถนน ดังกล่าว ซึ่งมีปลอกกำไลของประเทศเกาหลีใต้ได้เช่นกัน

            ๓. นกนางแอ่นเหล่านี้ ได้บินผ่านเลยไปจนถึงสหพันธ์มาเลเซีย โดยทางสหพันธ์มาเลเซีย เคยจับนกที่มีปลอกกำไลของประเทศไทย และทางประเทศไทยก็เคยจับนกที่มีปลอกกำไลของ สหพันธ์มาเลเซียได้เช่นกัน

            ๔. นกนางแอ่นเหล่านี้ บินผ่านนครราชสีมา ลงมายังกรุงเทพ ฯ เพราะในขณะที่เราจับ นกนางแอ่นที่ถนนเยาวราชอยู่นั้น ได้พบปลอกกำไลที่ทำเองและเขียนว่า "โคราช" อยู่ด้วย บาง พวกอาจมาตามชายฝั่งทะเลชลบุรี เพราะมีผู้สวมกำไลนกนางแอ่นที่ชลบุรี แล้วมาจับได้อีกที่ กรุงเทพฯ ในเวลาต่อมา

            ๕. นกปากห่างที่ทำรังอยู่วัดไผ่ล้อมตอนปลายฤดูฝนนั้น พบว่าได้อพยพย้ายถิ่นไปหากิน ถึงประเทศปากีสถานตะวันออก (บังคลาเทศ) เขมร และลาว ด้วย

            ๖. นกกระจาบปีกอ่อน พบมากตามภูเขาสูงทางภาคเหนือ พบว่าอพยพลงมาจากประเทศ เกาหลี โดยทางเกาหลีจับนกกระจาบปีกอ่อนมีกำไลขา ซึ่งใส่ไปจากประเทศไทยได้

            ๗. นกกระสาแดง ที่ปล่อยจากไซบีเรีย เคยมีคนพบที่จังหวัดชัยภูมิ โดยนกกระสาแดง นั้นมีปลอกกำไลสวมที่ขาจากสถาบันค้นคว้าการอพยพของนกจากไซบีเรียอยู่ด้วย

            ๘. นอกจากนี้เรายังเรียนรู้ว่านกส่วนใหญ่ที่อพยพผ่านประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีนั้น จะ อพยพลงไปทางประเทศฟิลิปปินส์เป็นส่วนใหญ่

            ทั้งหมดนี้เป็นผลของการศึกษาเรื่องการอพยพย้ายถิ่นของนก โดยทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนของประเทศไทยเข้าทำการค้นคว้าร่วมกับสถาบันของ ชาติอื่นๆ และก็ได้เคยประกาศขอความร่วมมือจากประชาชนว่า หากพบปะหรือจับนกที่สวม ปลอกกำไลขาได้ ก็ขอได้โปรดแจ้งให้ทางสถาบันวิจัยฯ ทราบด้วย