การระวังรักษาอนามัยของลูกนก
เมื่อลูกนกแตกออกมาจากไข่ พ่อนกและแม่นกต่างก็ช่วยกันหาอาหารมาป้อนลูกอ่อนตาม กฎของธรรมชาติ เมื่อลูกนกกินอาหารเข้าไป ก็ย่อมมีการถ่ายของเสียออกมา ของเสียของลูกนกนั้น แปลกและแตกต่างจากพ่อแม่นก คือ มันถ่ายออกมาเป็นถุงขาวๆ แข็งแต่นิ่มเพื่อเป็นการรักษา ความสะอาดของรัง พ่อนก แม่นกจะคาบถุงนี้ ออกมาจากก้นของลูกนกเลยทีเดียว แล้วนำออกไปทิ้งให้ห่างจากรัง แต่ก็มีบางครั้งที่พ่อนกและแม่นกจะกินถุงถ่ายเหล่านั้น ลูกนกจะถ่ายมากน้อย ขึ้นกับปริมาณอาหารที่ถูกป้อน ที่น่าสังเกตก็คือ เมื่อลูกนกโตมากขึ้น พ่อแม่ก็จะคาบถุงถ่ายไปทิ้งน้อยลงไปตามลำดับ มีนกหลายชนิด เช่น นกการางหัวขวาน (hoopoes) นกหัวขวาน (wood pecker) ต่างๆ ซึ่งขุดรูทำรัง เป็นต้น มิได้คาบถุงถ่ายของลูกนกไปทิ้งนอกรัง คงปล่อยให้ เลอะเทอะส่งกลิ่นเหม็น
กำไลปลอกขาจากนกนางแอ่น สวมจากกรุงโซล ประเทศเกาหลี แล้วมาจับได้ที่บึงบอระเพ็ด นครสวรรค์
ตามปกติ ประชาชนในแถบบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักเข้าใจกันว่า นกเงือก ซึ่งทำรัง วางไข่ กกไข่ ใน โพรงไม้นั้น ตัวผู้เป็นตัวกกไข่ แต่แท้ที่จริงแล้ว ได้มีนักธรรมชาติวิทยาหลายคนสนใจกับข้อมูลอันนี้ ได้ทำการสำรวจอย่างละเอียด และได้พบความจริงว่า ความเชื่อมั่นของประชาชน ในถิ่นนี้ผิดไปอย่างสิ้นเชิง ความจริงแล้ว นักธรรมชาติวิทยาได้พบว่า นกเงือกตัวเมียเท่านั้นที่เข้าทำรัง วางไข่ กกไข่ โดยตัวเมียจะเข้าไปนั่งอยู่ในโพรงไม้ โดยการเจาะโพรงไม้เป็นรู ก่อนวางไข่ ๒-๓ วัน แล้วปิดปากโพรงด้วยขี้ของมันเอง ผสมด้วยขุยไม้ที่นกพยายามขุดโดยใช้ปากและเท้า ออกมาจากต้นไม้ ขี้ของนกชนิดนี้จะเหนียวคล้ายกาว และพอแห้งก็จะแข็งคล้าย ซีเมนต์ แม่นกจะใช้เวลา ๒-๓ วันแรก เข้าไปนั่งทำรังในโพรง เช่นนี้ โดยมีตัวผู้ช่วยอยู่ข้างนอก ตัวผู้จะช่วยปิดปากโพรงโดย ใช้ดินเหนียวมาพอก ใช้หงอนของนกที่แข็งมากและแบน ลูบไล้ไปมาคล้ายช่างปูนใช้เกรียงละเลงปูน พอพอกปากโพรงเสร็จ ก็จะเหลือรูเล็กๆ กว้างประมาณ ๒-๓ เซนติเมตร และยาว ราวๆ ๗-๑๐ เซนติเมตร ตอนนี้แม่นกก็ถูกขังอยู่ในโพรง และเริ่มต้นวางไข่ กกไข่ โดยมีตัวผู้คอยบินหาอาหารมาป้อนแม่นกในโพรง จนกว่าลูกนกจะออกจากไข่ และพร้อมที่จะบินออกไปหากินได้ ในระหว่างที่อยู่ในโพรงไม้นั้น แม่นกจะคาบเอาขี้ของตัวเอง และของลูกนก ทิ้งออกมานอกรังผ่านรูเล็กๆ เหล่านี้ทุกวัน เวลารับอาหารจากตัวผู้ ตัวเมียจะโผล่เฉพาะจะงอยปากออกมา รับอาหารเท่านั้น ในระยะนี้ ตัวเมียจะอ้วนท้วนมากขึ้น และสกปรกมากขึ้น เมื่อออกจากโพรงไม้ได้ ตัวเมียแทบจะบินไม่ไหวในวันแรกๆ
นกหัวขวานก็เป็นนกประเภทอยู่รู หรือตามโพรงไม้อีก ประเภทหนึ่ง ตามปกติแล้วนกหัวขวานมักจะเลือกสถานที่ทำรัง โดยใช้ปากอันแข็งแรงของมันเจาะต้นไม้จนเป็นโพรงใหญ่ ขนาด ที่ตัวของมันจะเข้าออกได้อย่างสบาย อย่างไรก็ตาม ตัวเมียก็มี ส่วนช่วยเลือกสถานที่ทำรังเหล่านี้ด้วย ส่วนมากมักชอบไม้เนื้อ อ่อน ซึ่งในฤดูแล้ง ต้นไม้เหล่านี้จะทิ้งใบบ้าง แต่บางครั้งชอบ ทำรังตามต้นไม้แห้งๆ ตามต้นมะพร้าวก็เคยพบ ที่แปลกก็คือ นกหัวขวานตัวเมีย หลังจากออกไข่แล้ว ตัวผู้จะเข้ากกไข่และ เลี้ยงดูลูกอ่อน และตัวเมียมาช่วยบ้างเป็นครั้งคราว อย่างไร ก็ตาม พวกนกหัวขวานนี้มักจะมีโพรงอยู่เป็นประจำ คือ โพรง ของใครก็ของมัน พอตกเย็นจวนค่ำ ก็บินกลับมานอนในโพรง ต่างๆ เหล่านี้ ตามปกติ นกหัวขวานตัวหนึ่งๆ มักจะมีโพรงที่ อาศัยนอนเช่นนี้ ๒-๓ แห่ง เพื่อป้องกันอันตรายจากผู้คน และ สัตว์อื่นๆ รบกวน
ฝูงนกนางแอ่นเกาะสายไฟในเวลากลางคืน
ตามปกติ การกกไข่และเลี้ยงลูกอ่อนนั้น มักจะเป็น หน้าที่ของแม่นก อย่างไรก็ดี ในประเทศไทยอย่างน้อยก็มีนกอยู่ ๒ พันธุ์ด้วยกัน ซึ่งตัวผู้ต้องสร้างรัง กกไข่ เลี้ยงลูกอ่อนเอง นกทั้งสองชนิดนี้ก็คือ นกซ่อมโป่งวิด หรือที่พวกชาวต่างประเทศ เรียกว่า นกซ่อมช่างทาสี (painted snipe) เพราะว่าตัวเมียของ นกชนิดนี้จะมีสีสันลวดลายสวยงาม ต่างจากนกซ่อมชนิดอื่นๆ ทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเมียของนกชนิดนี้มีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ซึ่งผิดแปลก จากนกพันธุ์อื่นๆ นอกจากนกซ่อมช่างทาสีนี้แล้ว ยังมีพวกนกคุ่มอืด ซึ่งมีตัวเมียใหญ่กว่าตัวผู้ ดังนั้นตัวผู้จึงต้อง รับภาระในการเลี้ยงและดูแลลูกแทน
นกเงือก
ใครๆ ก็ทราบว่า เป็ดนั้นอาศัยอยู่ในน้ำ แต่ก็มีน้อยคนที่จะทราบว่า เป็ดนั้นวางไข่ในโพรงตามต้นไม้ หรือง่ามไม้ บางครั้งก็ตามขื่อหลังคาบ้าน เป็ดแดง และเป็ดคับแค นั้น วาง ไข่ตามโพรงต้นไม้ พอกกไข่และฟักไข่เป็นตัวแล้ว พ่อเป็ดแม่เป็ดก็จะพาลูกเป็ดลงน้ำหากินต่อไป บางครั้งก็กระโดดลงมา แต่บางคราวก็ให้ลูกเกาะหลัง แล้วพ่อเป็ดแม่เป็ดจะร่อนบินถลาลงมา นับว่าเป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติที่แปลกประหลาดอีกอย่างหนึ่ง
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร หรือเรียกสั้นๆ กันว่า นกเจ้าฟ้า หรือที่ชาวบ้านในบริเวณบึงบอระเพ็ด นครสวรรค์ เรียกกันว่า นกตาพอง นั้น เป็นนกชนิดเดียวในโลกที่ค้นพบและตั้งชื่อตามหลักสัตวศาสตร์โดยคนไทย เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๑๑ นี้เอง
นกเจ้าฟ้าเป็นนกนางแอ่นขนาดใหญ่ พบปะปนกับพวก นกนางแอ่นอื่นๆ และนกเล็กๆ อีก ๒-๓ ชนิด เกาะอาศัยตามยอดหญ้า กอสวะในบึงบอระเพ็ด
ในปัจจุบัน เรายังไม่ทราบรายละเอียดมากมายนักเกี่ยวกับนิสัยของนกชนิดนี้ นอกเสียจากว่า ญาติพี่น้องของนกเจ้าฟ้านั้น อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา ประเทศคองโก ทำรังโดยขุดรูอยู่ ตามเกาะแก่งกลางลำน้ำกว้างๆ และอพยพเป็นระยะทางกว่า ๘๐๐ กิโลเมตรในฤดูหนาว
นกเจ้าฟ้านี้ ผู้ตั้งชื่อได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตนำพระนามของสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ มาเป็นชื่อของนกตัวนี้ ซึ่งนับว่า เป็นนกไทยชนิดเดียวที่ได้รับเกียรติเช่นนี้ โดยชื่อทางหลักภาษาสัตวศาสตร์ว่า Pseudochelidon sirintarae