เล่มที่ 7
บ้านเรือนของเรา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การก่อสร้างบ้านไม้โดยทั่วไป

            เมื่อได้ทำการขุดหลุม และได้ตอกเข็มไม้ หรือเข็มคอนกรีตตามขนาด ความยาว และจำนวนที่ต้องการแล้ว ช่างจะตั้งเสาไม้ และติดตั้งคาน และตง ทั้งชั้นล่างและชั้นบน ต่อจากนั้น ก็ติดตั้งขื่อหลังคา แล้วจึงวางโครงหลังคา เริ่มมุงหลังคา โดยใช้กระเบื้องลอน หรือแผ่นสังกะสี หรือแผ่นอะลูมินัมลอน เมื่อ มุงหลังคาเสร็จแล้ว จึงจะเริ่มติดตั้งบันไดชั้นล่างขึ้นชั้นบน ปูพื้นไม้ ติดตั้งเคร่าฝา วงกบประตูหน้าต่าง แล้วตีฝาไม้ตามนอน หรืออาจจะตีฝาตามตั้งก็ได้ ไม้กระดานฝามักใช้ไม้ยางขนาด ๑/๒ นิ้ว x ๖ นิ้ว เมื่อบ้านเสร็จแล้วจึงเริ่มทาสี โดยใช้สีน้ำมันทา ใช้ สีรองพื้นชั้นหนึ่งก่อน สีรองพื้นนี้ใช้อุดตามรูและแผลในเนื้อไม้ เสร็จแล้ว จึงใช้สีน้ำมันทาทับอีก ๒ ครั้ง บ้านไม้บางหลังไม่ใช้ สีน้ำมันทา แต่ใช้น้ำมันกันตัวสัตว์ทาก็มี

การทำพื้นไม้

            ไม้กระดานพื้นนิยมปูตามความยาวของเรือน

การทำบันไดไม้

            บันไดไม้มีบันไดพุก และบันไดเจาะ ความกว้างของขั้นบันไดไม่ควรจะน้อยกว่า ๑.๐๐ เมตร ไม้ทำขั้นบันไดควรใช้ไม้หนา
๑ ๑/๒ นิ้ว ขึ้นไป ความสูง และความกว้างของขั้นบันไดควรจะได้มาตรฐาน เพื่อจะได้ขึ้นลงได้สะดวกสบาย
การทำหลังคา

หลังคามีรูปทรงแบบต่างๆ หลายแบบ ซึ่งอาจจะสรุปได้ดังนี้ คือ

            ๑) หลังคาทรงปั้นหยา
            ๒) หลังคารูปจั่ว
            ๓) หลังคารูปเพิง
            ๔) หลังคารูปโดม

            ไม้หลังคานิยมใช้ไม้เต็งรัง หรือไม้เนื้อแข็ง ระแนงควร ใช้ไม้สักเพื่อกันการบิดตัว ไม้ทุกชิ้นควรได้รับการทาด้วยน้ำมัน ดิน (น้ำมันโซลิกนัม) ทั้งนี้เพื่อป้องกันปลวก มอด ที่จะเข้ากัดกิน เนื้อไม้ ระยะห่างของไม้ระแนง หรือไม้แปขึ้นอยู่กับชนิดของกระเบื้อง ไม้หลังคาที่ต่อกันนั้น จะต้องต่อเฉพาะตอนที่มีไม้รอง รับจันทันก็ต้องต่อกันตรงที่รองรับจันทัน หลังคาต้องมีช่องลม สำหรับระบายความร้อน ซึ่งจะช่วยทำให้ห้องชั้นบนไม่ร้อนจนเกินไป เมื่อได้รับความร้อนจากแสงแดด
การทำเพดาน

            โดยทั่วไปนิยมใช้กระเบื้องกระดาษหนาประมาณ ๔ มิลลิเมตร หรือ ๖ มิลลิเมตร ทำฝ้าเพดาน ส่วนกระทงฝ้า มักใช้ไม้ยาง หรือไม้เนื้อแข็ง ขนาด ๑ ๑/๒นิ้ว x ๓ นิ้ว วางห่างกัน ประมาณระยะ ๖๐ เซนติเมตร เพื่อใช้รับกระเบื้องกระดาษ บางครั้งก็ใช้ไม้กระดานฝา ขนาด ๖ นิ้ว x ๑/๒นิ้ว ตีทำฝ้าเพดาน