เล่มที่ 7
บ้านเรือนของเรา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
กรรมวิธีในการทำน้ำประปา

แยกได้เป็นขั้นๆ ดังต่อไปนี้

๑. การจัดหาน้ำดิบ

            น้ำดิบอาจหาได้โดยการสร้างอ่าง เก็บน้ำธรรมชาติขึ้น เพื่อใช้กักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาในบริเวณอ่าง เก็บน้ำ และจากลำน้ำ ที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำ ในการสร้างเขื่อนกั้น น้ำปิดทางไหลของน้ำในแม่น้ำลำคลอง ก็จะทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำ ขึ้นหน้าเขื่อน น้ำที่อยู่ในอ่างเก็บน้ำนี้ เราเรียกว่า น้ำดิบ ซึ่งยัง ใช้บริโภคไม่ได้ วิศวกรจะฝังท่อลอดใต้เขื่อนไว้ และโผล่ปากท่อไว้หน้าเขื่อน ภายในบริเวณอ่างเก็บน้ำ น้ำดิบจะไหลมาตามท่อนี้ แล้วถูกส่งผ่านไปยังโรงกรองน้ำ เพื่อทำน้ำประปาต่อไป


คลองประปาสำหรับนำน้ำดิบมายังโรงกรองน้ำ

            ในกรณีที่มิอาจสร้างอ่างเก็บน้ำได้ ก็อาจใช้น้ำจากแม่น้ำ มาทำน้ำประปาได้ การนำน้ำจากแม่น้ำต้องเลือกที่ตั้ง ซึ่งควรจะอยู่ไกลจากปากแม่น้ำให้มาก ทั้งนี้เพื่อมิให้ความเค็มของน้ำทะเล ซึมผ่านไปถึงได้ และน้ำแม่น้ำในบริเวณนั้น ต้องไม่สกปรก (polluted) จนไม่อาจทำให้ใสสะอาดได้โดยวิธีธรรมดา โรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่บริเวณฝั่งแม่น้ำ ซึ่งผ่านน้ำเสีย ที่ใช้ในการอุตสาหกรรมลงสู่แม่น้ำโดยตรง ก็จะทำให้แม่น้ำสกปรกได้ง่าย อนึ่ง น้ำที่มาจากท่อระบายน้ำทิ้งซึ่งอยู่ ๒ ข้างบริเวณถนน ถ้าน้ำเสียดังกล่าวไหลไปสู่แม่น้ำ ก็จะทำให้แม่น้ำในบริเวณนั้นเสียได้เช่นกัน เมื่อเลือกที่ตั้งได้แล้ว ก็ทำการติดตั้งโรงสูบน้ำและขุดคลองประปาจากโรงสูบน้ำ มายังโรงกรองน้ำ

            คลองประปานี้ จะทำหน้าที่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดย่อม น้ำดิบที่ไหลในคลองประปาจะไหลช้ามากประมาณอัตราเร็ว ๐.๕ - ๑.๕ เมตร ต่อวินาที

๒. การทำน้ำดิบให้เป็นน้ำประปา

            เนื่องจากน้ำดิบที่ได้ จากแม่น้ำไม่เพียงพอแก่การทำน้ำประปา การประปานครหลวง จึงจำเป็นต้องสูบน้ำบาดาล ที่อยู่ในชั้นทะเลทราย ลึกประมาณ ๒๐๐ เมตร ในบริเวณกรุงเทพมหานครขึ้นมาใช้ น้ำที่ได้นี้เป็นน้ำบริสุทธิ์ ใสสะอาด ไม่มีเชื้อโรคหรือแร่ธาตุที่เป็นพิษต่อร่างกาย จึงมักส่งต่อเข้าท่อประปาโดยไม่ต้องผ่านถังตกตะกอน และถังกรองขั้นนี้ เป็นการผ่านน้ำดิบ ให้เข้าไปยังถังที่มีชื่อว่า ถังตกตะกอน (clarifier) ภายในถังนี้ เขาฉีดน้ำยาที่มีสารส้ม เป็นส่วนผสม ให้เข้ามาปนกับน้ำดิบ ในอัตราส่วนพอเหมาะ สารเคมีจำพวกสารส้มจะไปทำปฏิกิริยาแยกเอาตะกอน ซึ่งทำให้น้ำขุ่นสกปรก ออกเป็นก้อนที่เรียกว่า ก้อนตะกอน (floc) น้ำกับก้อนตะกอน ที่แยกออกมาแล้วจะไหลไปยังถังกรอง (filter) ในถังกรองมี ชั้นทราย และกรวดรวมกันอยู่หลายชั้น เริ่มแต่ชั้นทรายขนาด กลาง และทรายหยาบ ต่อจากนั้นเป็นชั้นของกรวดเม็ดเล็ก เม็ด ปานกลาง และเม็ดโต ทรายและกรวดจะช่วยกรองตะกอนน้ำที่ ไหลผ่านชั้นของกรวดจะเป็นน้ำใส น้ำใสจะไหลจากบ่อกรอง ไปยังถังพักน้ำใส ซึ่งเป็นบ่อถังทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก หลายๆถังต่อพ่วงกัน น้ำในตอนนี้จัดได้ว่าใสแลดูสะอาด แต่อาจจะมีเชื้อโรค ที่เป็นอันตรายเจือปนอยู่ได้ ดังนั้น ก่อนที่จะสูบน้ำใสนี้ออกให้ประชาชนใช้ การประปาจะจัดการใส่ก๊าซคลอรีน หรือผงเคมี ที่จะให้ก๊าซคลอรีน ในอัตราส่วนที่น้อยมาก ลงในน้ำใส เพื่อฆ่าเชื้อโรคดังกล่าว จากนี้ก็สามารถจะสูบน้ำออกจ่ายให้ประชาชนใช้บริโภคได้


ถังกรองน้ำที่มีทรายเป็นชั้นกรองรับน้ำจากถังตกตะกอน

            ท่อน้ำประปาที่ออกจากโรงสูบน้ำของการประปา เป็นท่อ ขนาดใหญ่บางท่อมีเส้นผ่านศูนย์กลางโตถึง ๑ เมตร ท่อดังกล่าวนี้ เขาฝังไว้ข้างถนนจมลึกจากระดับถนนประมาณ ๑ - ๒ เมตร จากท่อใหญ่ก็มีท่อซอยซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กลง ตามลำดับ ท่อดังกล่าวนี้จะแยกเข้าตามถนนสายเล็กลงมาเข้า ตามซอย ตามตรอก


ถังตกตะกอนที่น้ำดิบจะเข้าผสมกับสารส้ม และตะกอนจะตกในถังนี้

            บางตำบลของกรุงเทพมหานคร ได้น้ำประปามาจากการดูดน้ำบาดาล ที่อยู่ในชั้นของทราย ซึ่งเก็บน้ำได้ปริมาณมาก ดังนั้น บ่อบาดาลที่ขุดลึก ๑๕๐ - ๒๐๐ เมตร ก็จะได้น้ำบาดาลที่เป็น น้ำบริสุทธิ์ใสสะอาด แม้ว่าในบางครั้ง จะมีทรายละเอียดจำนวนเล็กน้อยเจือปนอยู่ แต่ก็ไม่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ หลังจากที่ได้ตรวจดูคุณภาพของน้ำแล้ว ไม่พบสารหรือแร่ธาตุ ที่เป็นพิษต่อร่างกาย ละลายเจือปนอยู่ ก็จัดเป็นน้ำที่ใช้บริโภคได้
            การประปากรุงเทพฯ และการประปาส่วนภูมิภาค ได้ขุด บ่อน้ำบาดาลตามจังหวัดต่างๆขึ้นปีละหลายสิบบ่อ เมื่อสูบน้ำบาดาลขึ้นมาแล้ว ก็จะส่งต่อเข้าในท่อประปาเลยทีเดียว บ่อน้ำ บาดาลดังกล่าวนี้ เมื่อได้สูบใช้ไปนานวันเข้า ปริมาณน้ำที่ได้ก็จะลดลง ทั้งนี้ เพราะมีทรายหลายขนาดถูกเครื่องสูบน้ำดูดติด กับน้ำเข้ามาด้วย ทรายเหล่านี้จะอุดรูตะแกรงที่รับน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำที่สูบได้ลดน้อยลงทุกที ปกติทางการประปาจะใช้วิธีล้างตะแกรง ให้ทรายที่อุดรูหลุดออก โดยหยุดสูบน้ำขึ้น แล้วสูบน้ำที่ได้จากที่อื่น พ่นลงไปด้วยความดันสูง หรือมิฉะนั้นก็ใช้เป่าอากาศ กลับลงไปใต้ดิน เพื่อให้น้ำและลมที่เป่านี้เข้าไล่เม็ดทราย และสิ่งสกปรกที่อุดรูตะแกรงให้หลุดออกไป เมื่อดูดน้ำขึ้นมาใหม่ ก็จะได้น้ำที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นได้


ก่อนจะสูบส่งน้ำเข้าท่อ จะจ่ายคลอรีนผสมกับน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนถึงบ้านเรือน

            เมื่อเราปลูกสร้างอาคารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้องไปติดต่อ ขออนุญาตจากการประปา เพื่อให้ต่อท่อประปาแยกท่อใหญ่ มาเข้าบ้านเรา ในการต่อท่อประปาเข้าบ้าน การประปาจะติดตั้งมาตร วัดน้ำให้ด้วย สำหรับการต่อท่อน้ำ ซึ่งอยู่ภายในบ้านนั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าของบ้านจะต้องทำการเดินท่อเอง
            เมื่อเราต่อท่อภายในบ้าน เข้ากับมาตรวัดน้ำ และเปิดประตูน้ำ (Valve) ให้น้ำไหลเข้าบ้านได้แล้ว น้ำจะไหลผ่านมาตรวัดน้ำ ทำให้เข็มหมุนชี้จำนวนปริมาณของน้ำ ที่ไหลผ่านมาตร การประปาได้ใช้มาตรวัดน้ำเป็นเครื่องชี้ สำหรับการเก็บเงินค่าใช้น้ำ ของแต่ละบ้าน


แผนภาพด้านตัดขวางของบ่อบาดาลแสดงชั้นทรายที่มีน้ำบาดาล

            เนื่องจากน้ำประปาที่การประปาจ่ายให้ประชาชนอาจมี ทรายละเอียดปนอยู่เล็กน้อย ทรายดังกล่าวนี้ เมื่อไหลผ่านมาตรวัดน้ำหลายๆ ครั้ง จะทำให้มาตรเกิดการสึกหรอ และทราย บางส่วนไปตกตะกอนหรือไปขัดในมาตร ทำให้เข็มมิอาจหมุนได้สะดวก มาตรวัดน้ำบางเครื่องจึงใช้ได้ไม่ทนทาน บางเครื่อง ใช้ได้เพียง ๒-๓ เดือนก็เสีย ต้องเปลี่ยนใหม่ หรือต้องนำไปล้าง และซ่อมให้ใช้ได้ ต่างประเทศบางแห่งเลิกใช้มาตรวัดน้ำกันแล้ว และเก็บค่าน้ำ โดยพิจารณาจากจำนวนผู้ใช้น้ำ ที่อาศัยอยู่ในบ้านเรือนแต่ละหลังนั้นเอง