ไฟฟ้าที่ใช้ในบ้าน
เมื่อการก่อสร้างตัวบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าของบ้านจะต้องไปติดต่อที่การไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ของเขตนั้นๆ เพื่อขออนุญาตใช้ไฟฟ้า เจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าจะมาตรวจสอบการวางสายไฟในอาคาร ดูขนาดของสายไฟ ดวงโคม และจุดต่างๆ ที่ต้องใช้ไฟ ว่าเป็นไปตามมาตรฐานของการไฟฟ้าหรือไม่ เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ทางการไฟฟ้าก็จะนำมิเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งมีขนาดเพียงพอกับปริมาณไฟฟ้า ที่จะขอใช้มาติดยังเสาไฟฟ้า ซึ่งปักอยู่หน้าบ้าน โดยผู้ขออนุญาตใช้ไฟเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการขออนุญาต เมื่อทำการต่อสายเข้าบ้าน และได้สับสวิตช์ซึ่งอยู่ภายในตัวบ้านแล้ว บ้านนั้นก็ จะมีไฟฟ้าใช้ได้
เครื่องป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร
การเดินสายไฟในบ้าน และการติดตั้งดวงโคม ฟิวส์ และปลั๊กเสียบสวิตช์ไฟต่างๆ นับเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้ามีการใช้ไฟฟ้ามากผิดปกติ เช่น ในกรณีที่ใช้สายไฟฟ้าขนาดเล็ก แต่ทางบ้านได้นำเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น เครื่องหุงต้มไฟฟ้า เตารีดไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น พัดลมหลายๆ อัน ใช้พร้อมๆ กัน กระแสไฟฟ้าจะไหลเข้ามาตามสายอย่างมาก ทำให้สายไฟเกิดร้อนจัด เป็นเหตุให้ฉนวนหุ้มสายเสื่อม ใช้การไม่ได้ อันตรายจะเกิดขึ้นเมื่อสายไฟมาแตะกัน ทำให้เกิดวงจรลัด (short circuit) หรือที่เรียกว่า ไฟช็อต เป็นเหตุให้กระแสไฟจำนวนมากมายไหลเข้ามาในบ้านหลังนั้น ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ในบ้านหลังนั้นได้ เพื่อป้องกันมิให้กระแสไฟฟ้าเข้าสู่บ้านมากเกินไป จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายดังกล่าว ทุกบ้านจะต้องติดตั้งสวิตช์ไฟตัดตอน พร้อมทั้งกลักฟิวส์ หรือสวิตช์อัตโนมัติ (circuit breaker) เมื่อเกิดกระแสไฟฟ้าเข้าบ้านผิดปกติ หรือในกรณีที่เกิดวงจรลัด กระแสไฟจำนวนมากจะไหลผ่านกลักฟิวส์ เกิดร้อน ละลาย ขาดออกจากกัน กระแสไฟก็จะหยุดไหลเข้าในบ้านหลังนั้นทันที
ในเขตกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวงได้จ่ายกระแสไฟฟ้าให้ประชาชน โดยอาศัยกระแสไฟฟ้าที่ได้มาจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ที่ตั้งอยู่ ณ ตำบลต่างๆ เช่น ที่สถานีจ่ายไฟย่อย บางกรวย ธนบุรี โรงจักรพลังไอน้ำพระนครเหนือ โรงจักรพลังไอน้ำพระนครใต้ โรงจักรพลังไอน้ำสามเสน และโรงจักรดีเซลตามที่ต่างๆ รวมทั้งพลังไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ที่ติดตั้ง ควบกับกังหันน้ำ ณ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี กระแสไฟฟ้าจากเขื่อนต่างๆ จะถูกส่งมาตามสายส่งศักย์สูง ซึ่งขึงตึงอยู่บนหอคอย (pylon) วางเป็นระยะๆ จากจังหวัดดังกล่าวลง มาผ่านกรุงเทพมหานคร และเลยลงไปยังจังหวัดบางจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศ แรงดันไฟฟ้าจากเขื่อนจะถูกยกขึ้นจนสูงถึง ๒๓๐,๐๐๐ โวลต์ โดยใช้หม้อแปลงไฟขึ้น (step-up transformer) และได้ส่งพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนภูมิพล ลงมายังกรุงเทพฯ โดย มีสถานีย่อย (sub-station) ๕ แห่ง ที่นครสวรรค์ อ่างทอง พระนครเหนือ บางกะปิ และบางกอกน้อย ที่สถานีย่อยนี้ แรงดัน ๒๓๐,๐๐๐ โวลต์ จะถูกลดลงมาเหลือ ๖๙,๐๐๐ โวลต์ การสร้างสถานีย่อยนี้ เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้แก่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ โดยลดแรงดันให้เป็น ๑๑,๐๐๐ โวลต์ การลดแรงดันไฟฟ้ากระทำโดยใช้หม้อแปลงไฟลง (step-down transformer) กระแส ไฟฟ้าที่มีแรงดัน ๑๑,๐๐๐ โวลต์ ก็จะถูกส่งไปตามสายไฟ ซึ่งขึงบนเสาคอนกรีตแต่ละเสาปักห่างเป็นระยะทางประมาณ ๕๐ เมตร เมื่อเข้าเขตที่มีอาคารบ้านเรือน การไฟฟ้าจะติดตั้งหม้อแปลงไฟ ลงอีกชุดหนึ่ง เพื่อลดแรงดันไฟฟ้าที่สูง ๑๑,๐๐๐ โวลต์ ลงมา เหลือเพียง ๒๒๐ โวลต์ อันเป็นแรงดันไฟฟ้าสำหรับใช้ตามบ้านเรือนทั่วไป