เล่มที่ 8
ประวัติการแพทย์และเภสัชกรรมไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การแพทย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และใกล้ประวัติศาสตร์ของประเทศไทย

ประเทศไทยมีการแพทย์สองอย่าง คือ

๑. การแพทย์พื้นบ้าน

            ชาวบ้านได้ใช้กันมาเป็นเวลานาน ขณะนี้ประชาชนจำนวนมากก็ยังใช้กันอยู่ ปัจจุบันเรียกว่า การแพทย์แผนโบราณไม่ได้ใช้ว่า "การแพทย์เดิมหรือการแพทย์พื้นบ้านของไทย"

๒. การแพทย์แผนปัจจุบัน

            นำเข้ามาโดยชาวตะวันตก เรียกกันในขณะนี้ว่า "การแพทย์แผนปัจจุบัน"

            การแพทย์แผนโบราณอาจเกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน ขณะที่มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันรู้จักอยู่กันเป็นหมู่เหล่า รู้จักเพราะปลูก และเลี้ยงสัตว์ จากผลของการขุดค้นพบว่า มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้และรวมกันเป็นหมู่เหล่านั้น จะปรากฏเมื่อประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว ร่องรอยที่เชื่อว่าอาจมีบุคคลที่ทำหน้าที่คล้ายกับเป็นหมอหรือแพทย์ ก็คือ การพบสัญลักษณ์ที่อาจสันนิษฐานได้ว่าเกี่ยวเนื่องกับการเจ็บป่วย คือในโครงที่ B.๑๐ หลุม BKI ที่ขุดโดยคณะสำรวจเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ ที่หมู่บ้านเก่า ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี โครงนี้นอกจากจะมีเครื่องปั้นดินเผาขวานหิน เปลือกหอยแล้ว ยังมีวัตถุอื่นที่แปลกออกไปจากโครงอื่น ๆ อีก ๒ อย่าง ชิ้นหนึ่ง เป็นแผ่นหินรูปกลม มีรูเจาะตรงกลาง ขอบค่อนข้างคม มีรอยชำรุดเล็กน้อย และมีรอยกะเทาะค่อนข้างชัดเจน ๒ รอย ผิวขัดเล็กน้อยให้เรียบ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๕.๑ เซนติเมตร รูที่เจาะกว้าง ๗.๑ เซนติเมตร ขนาดของรูไม่โตพอที่จะสอดเข้าไปในแขนได้ อีกชิ้นหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขากวางข้างหนึ่ง (Cervus ucicolor equinus) กิ่งแรกที่แยกออก (กิ่งรับหมา) ได้ถูกตัดออกไป ที่รอยตัดถูกทำให้เป็นรูกลวง ส่วนของเขาที่ต่อขึ้นไปถูกทำให้เกลี้ยงแล้วตัดที่ปลายกิ่งที่แยกออกไป ๒ กิ่ง ถัดเข้ามาเป็นรอยควั่น ขนานกับรอยตัดกิ่ง ทำให้เป็นรูเช่นเดียวกับกิ่งแรก ขนาดยาว ๓๒.๕ เซนติเมตร ในรายงานสมบูรณ์ นายซอเนเซน (Mr. Sorensen) แจ้งว่า ไม่ทราบว่าใช้สำหรับทำอะไร แต่ในรายงานย่อยสันนิษฐานว่าโครงที่พบกับเครื่องมือดังกล่าวอาจทำหน้าที่เป็นหมอ และเขากวางใช้ในการพิธีรักษา ต่อมาในการขุดค้นได้จากหมู่บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดนครปฐม เป็นโครงของสมัยทวารวดี ก็ได้พบอีกชั้นหนึ่งแต่ชำรุดชิ้นที่ ๓ ชาวบ้านขุดค้นได้จากหมู่บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นของยุคสำริด เป็นเขาของกวางขนาดใหญ่ มีขนาดยาวเพียง ๑๕ เซนติเมตร มีรอยตัดทั้งกิ่งรับเหมาะและกิ่งที่ต่อขึ้นไป แต่ไม่ยาวไปถึงส่วนที่จะแบ่ง เช่นที่พบที่หมู่บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี ชิ้นที่ ๔ พบที่ ตำบลโพธิ์หัก จังหวัดราชบุรี การพบนี้อาจจะมีคำโต้แย้ง เพราะโครงกระดูกทั้ง ๔ แห่งนี้ได้มีประเพณีนำส่วนใดส่วนหนึ่งของสัตว์ไปทำเป็นเครื่องเซ่น สัตว์ที่พบมากก็คือหมู โดยมากใช้ส่วนหัวของหมู พบได้เป็นจำนวนมากกับโครงกระดูกที่ขุดพบ แต่เขากวางเป็นของพบได้น้อย และส่วนที่เป็นเขาก็ไม่ได้ใช้เป็นอาหาร การใช้เขากวางจึงเป็นเหมือนเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งเป็นเครื่องใช้สอยถูกนำไปวางไว้เป็นเครื่องเซ่นการใช้เขากวางเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวกับการแพทย์ ได้พบเป็นรายงานอีกแห่งหนึ่ง คือ การเขียนรูปแพทย์ (medical man) หรือหมอผี (witch doctor) ที่ผนังของถ้ำในเทือกเขาพีรีนีส (Pyrenees) มีชื่อว่า ถ้ำเลส์ ตรัวส์ แฟรร์ (Les Trois Freres) อยู่ในประเทศฝรั่งเศส ภาพที่เขียนเป็นภาพคน คลุมด้วยหนังของสัตว์ชนิดหนึ่งมีส่วนขาและแขนเขียนลายเป็นแถบๆ แต่ที่หัวมีเขากวางติดอยู่ประมาณว่าเป็นภาพที่เขียนในสมัยโอริกเนเซียน (Aurignacian) ในตอนกลางของทวีปยุโรป

โครงกระดูกสมัยหินใหม่            โครงกระดูกสมัยหินใหม่ พบที่หมู่บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี มีเครื่องปั้นดินเผา ขวานหิน เปลือกหอย หินกลมมีรู (สิ่งค้นพบ ๕) และเขากวาง (สิ่งค้นพบ ๙)

            จากข้อความดังกล่าว ประกอบกับคำอธิบายเป็นส่วนตัวจาก นายซอ เรนเซน สันนิษฐานว่าเขากวางที่พบในประเทศไทยนั้น อาจใช้แต่งประกอบกับศีรษะของหมอผี หรือรูปสลักเป็นรูปคน แล้วเอาเขากวางที่ตัดตกแต่งแล้วไปประดับ ไม่ใช่เขากวางทั้งชิ้นประดับเช่นในรูป
เขากวาง ยาว ๓๒.๕ เซนติเมตร
เขากวาง ยาว ๓๒.๕ เซนติเมตร
            การพบนี้อาจมีความสำคัญเกี่ยวกับการสืบเนื่องถึงพิธีกรรม ที่อาจทำสืบต่อกันมาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยหินใหม่ที่บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี (ประมาณ ๔,๐๐๐ ปี ) ถึงสมัยทวารวดีที่ตำบลทัพหลวง อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม (๑,๒๐๐ปี)
            หลักฐานประการที่ ๒ ที่แสดงว่าได้มีการรักษากันจริงๆ ก็ คือ การเจาะกะโหลกให้เป็นรูทะลุ ซึ่งศัพท์แพทย์ใช้ว่า ทรีไฟนิง (trephining) หรือ ทรีแพนนิง(trepanning) พบที่บ้านธาตุ ใกล้บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี และเป็นโครงกระดูกสมัยเดียวกัน คือ สมัยสำริด หรือสมัยโลหะ รูที่พบอยู่ทางด้านซ้ายของกะโหลกในบริเวณขมับ ซึ่งเป็นกระดูกเทมปอรัล (temporal bone) มีขนาด ๙ x ๑๐ มิลลิเมตร อยู่สูงจากรูหู ๔๐ มิลลิเมตร

            การใช้เขากวางเป็นสัญลักษณ์ของผู้ทำการรักษาผู้ป่วย(medical man):เขากวางชำรุด สมัยทวารวดี พบที่บ้านโพธิ์หัก จังหวัดราชบุรีการใช้เขากวางเป็นสัญลักษณ์ของผู้ทำการรักษาผู้ป่วย

            การเจาะรูในกะโหลกในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้พบหลายแห่งของโลก มนุษย์สมัยหินใหม่ที่อาศัยอยู่ในทวีปยุโรปก็ทำกัน พบได้หลายแห่ง พบมากในประเทศฝรั่งเศส พบได้บ้างในประเทศออสเตรีย โปแลนด์ รัสเซีย เยอรมนี และสเปน นอกจากทวีปยุโรปยังพบในบริเวณที่เป็นเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก พบในอเมริกาเหนือและใต้ ในแอฟริกาและเอเชีย เป็นการรักษาทีไม่ตรงกับจุดประสงค์ของการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งจะทำการรักษา เมื่อมีหลอดโลหิตแตกในกะโหลก หรือเจาะแล้วเปิดกะโหลกให้กว้าง เพื่อรักษาก้อนทูมหรือหลอดเลือดที่แตกลึกเข้าไปในเนื้อสมอง แต่การกระทำในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อาจทำเพื่อปล่อยสิ่งที่บุคคลในสมัยนั้นเชื่อว่าทำให้เกิดการปวดศีรษะอย่างแรง หรือทำให้ผู้ป่วยเป็นลมบ้าหมู

การใช้เขากวางเป็นสัญลักษณ์ของผู้ทำการรักษาผู้ป่วย(medical man):เขากวางสมัยสำริด พบที่บ้านเชียง จังหวัออุดรธานี            การใช้เขากวางเป็นสัญลักษณ์ของผู้ทำการรักษาผู้ป่วย (medical man) : เขากวางสมัยสำริด พบที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี

            หลักฐานเกี่ยวกับหมอผี และการรักษาซึ่งถือเป็นการแพทย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทยคงพบได้เพียง ๒ อย่างตามที่กล่าว แต่โรคที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยังมีอีกหลายโรค แต่การศึกษายังไม่กว้างขวางพอที่จะกล่าวในขณะนี้ได้
โครงกระดูก โครงกระดูก
            โครงกระดูก ๒ โครง (ก. และ ข.) สมัยหินใหม่ พบที่บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี โครงบนในรูป ก. และโครงในรูป ข. มีการเปลี่ยนแปลงในกระดูกสันหลังส่วนเอว
            เนื่องจากสิ่งที่ขุดค้นได้เป็นหลักฐานมีแต่เพียงกระดูกเท่านั้น ส่วนที่เป็นเนื้อเยื่ออื่น ๆ ได้เน่าเปื่อยไปหมด ทำให้ไม่สามารถจะบอกได้ว่าในสมัยก่อนประวัติศาสตร์จะมีโรคเกิดขึ้นกับอวัยวะภายในของร่างกายมากน้อยเพียงไร เช่น โรควัณโรคที่เกิดกับปอด ย่อมเน่าเปื่อยไปพร้อมกับอวัยวะ ไม่เหลือเป็นหลักฐานแต่ถ้าวัณโรคลามไปจนเกิดเป็นโรคขึ้นในกระดูก เช่น เกิดที่กระดูกสันหลัง กระดูกที่ขุดค้นพบก็จะแสดงร่องรอยของการเป็นโรคนี้ได้

ภาพกระดูกเชิงกรานและกระดูกต้นขาของโครงที่มีรูเจาะที่กะโหลก แสดงการเปลี่ยนแปลงที่ส่วนหัวของกระดูกต้นขาข้างซ้าย พร้อมทั้งหลุมรับกระดูกต้นขา และลุ่มของกระดูกเชิงกรานตื้นขึ้น
ในการขุดค้นที่หมู่บ้านเก่า ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ได้พบหลักฐานการเป็นโรค คือ

            ๑. มีกระดูกสันหลังส่วนเอวชิ้นที่ ๑ หัก พบหนึ่งโครง (B.K.I, B. I) มีผลทำให้ส่วนตัวของกระดูก (body) แฟบลงไป และทำให้ข้อต่อของกระดูกสันหลังติดกัน เคลื่อนไหวไม่ได้ดี (spondylosis)

            ๒. มีฟันผุและมีรอยลึกในด้านเคี้ยวมากกว่าปกติ

            ๓. มีกระดูกกะโหลกหนาที่บริเวณกระดูกพาไรอีตัล (parietal bone) บางโครงหนาถึง ๑๑ มิลลิเมตร หนาเนื่องจากเนื้อฟองน้ำหนาขึ้น และชิ้นกระดูกฟองน้ำมีเนื้อหยาบ เกิดจากโรคโลหิตจางชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งยังไม่อาจยืนยันได้ว่าเกิดจากเป็นโรค เนื่องจากเสียเลือดหรือไม่ ขณะนี้กำลังศึกษาและค้นคว้าต่อไปอีก

            พร้อมกับโครงกระดูกที่แสดงการรักษาด้วยวิธีเจาะกะโหลก ได้พบโรคที่เกิดขึ้นกับข้อต่อตะโพกข้างซ้าย ให้คำสันนิษฐานว่าเป็นโรคเปอร์ที (perthe's disease) อันเป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนหัวและส่วนคอของกระดูกต้นขาข้างนั้น ส่วนหัวหายไปหมด คงเหลือแต่ส่วนคอเพียงเล็กน้อย และ มีผลทำให้หลุมที่รับหัวกระดูกต้นขา (acetabulum) เล็กและตื้น
            จากแหล่งที่มีการขุดค้นเกี่ยวกับเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ อาจพบโรคอื่นๆ ได้อีก แต่ยังไม่มีรายงานเป็นหลักฐาน และอาจมีโรคอะคอนโดรเพลเซีย (Achondroplasia) ซึ่งเป็นโรคสืบต่อกันมาทางพันธุกรรม เป็นกับโครงหนึ่งในสมัยทวารวดีที่ตำบลภูขี้เบา จังหวัดขอนแก่น แต่ยังขาดหลักฐาน คือ กระดูก ไม่ได้ถูกขุดขึ้นมาตรวจอย่างละเอียดหญิงเป็นโรคอะคอนโดรเพลเซียเปรียบเทียบกับหญิงปกติ
หญิงเป็นโรคอะคอนโดรเพลเซีย
เปรียบเทียบกับหญิงปกติ 
            เนื่องจากหลักฐานที่มีอยู่ในประเทศไทยยังมีอยู่น้อย จึงอาศัยรายงานจากต่างประเทศมาเสริม เพื่อให้เห็นว่า มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นประเทศไทย ก็คงไม่แตกต่างกันมากไปจากมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในแหล่งอื่นๆ ของโลก จึงอาจจะมีโรคต่างๆ ได้ เช่นกัน

            ร่องรอยแรก ที่แสดงการเป็นโรคในมนุษย์ซึ่งยอมรับกันทั่วไปก็คือ กระดูกต้นขาของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในโลกเมื่อประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว ซึ่งพบโดย ดร.ดูบัวส์ (Dr.D.Dubois) เมื่อ ๘๗ ปีมาแล้ว (ค.ศ. ๑๘๙๐) ที่ชวา ที่มีชื่อเดิมว่า ปิธีแคนโธรปุส อีเรคตุส (Pithecanthropus erectus) ขณะนี้เรียกว่า โฮโม อีเรคตุส (Homo erectus) เพราะยอมรับในการมีลักษณะของมนุษย์ ซึ่งอยู่ในสกุล (genus) เดียวกับมนุษย์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสกุลโฮโม กระดูกต้นขาที่พบมีบริเวณใกล้ปลายบน มีกระดูกงอกยื่นออกไปเป็นปุ่มป่ำ บางคนให้เป็นกระดูกงอกธรรมดา บางคนให้เป็นก้อนทูมของกระดูก (osseous tumour) ในมัมมี่ของชาวอียิปต์พบโรคกระดูกและข้ออักเสบ (osteoarthritis) และโครูมาติสม์เรื้อรัง (chronic rheumatism) โรคเกาต์ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะนิ่วในถุงน้ำดี วัณโรคของกระดูกสันหลังและพบร่องรอยของการอักเสบที่เป็นมาก่อนของไส้ติ่ง แล้วมีเนื้อเยื่อพังผืดมายึดติดล้อมรอบ

            ตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า ๓,๐๐๐ ปี มนุษย์ที่อาศัยในดินแดนที่เป็นประเทศไทยเจริญขึ้น เปลี่ยนจากการใช้หินเป็นวัตถุทำเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องประดับมาเป็นสำริด และเหล็ก หลักฐานเกี่ยวกับการเจ็บป่วยหรือการแพทย์มีน้อยมากจากความรู้ปัจจุบันในการสะเดาะเคราะห์ผู้ป่วย หมอทางไสยศาสตร์มักทำพิธี เอาดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปคน รูปสัตว์ พร้อมทั้งทำกระทงมีของกินคาวหวาน ผลไม้ จุดธูปเทียน แล้วลอยไปตามน้ำพร้อมกับรูปปั้น แต่ในที่บางแห่งก็ใช้รูปปั้นวางไว้ตามทางสามแพร่ง แล้วหักคนเสีย เป็นพิธีที่เรียกว่า "พิธีเสียกบาล" แต่เท่าที่มีแสดงในภาพ เป็นหญิง ๒ คน คนหนึ่ง ที่กำลังอุ้มเด็กอยู่เป็นคนมีอายุมากกว่าอีกคนหนึ่ง เพราะมีนมคล้อยไปมากอีกภาพหนึ่งส่วนที่กำลังอุ้มหักหายไป ทำให้ไม่ทราบว่ากำลังอุ้มอะไรอยู่ ลักษณะของเต้านมกำลังคัด แสดงว่าท้องใกล้คลอดหรือพึ่งคลอดใหม่ ๆ ตุ๊กตาทั้งสองตัวได้มาจากจังหวัดสุโขทัย ไม่ทราบประวัติ แต่ที่ต้องนำเรื่องเกี่ยวกับสุโขทัยมากล่าวก่อน ก็เนื่องจากในการทำเหมืองแร่ดีบุกโดยวิธีฉีดน้ำเข้าไปทำลายดินที่มีดีบุกปะปนอยู่ (เหมืองฉีด) ที่จังหวัดราชบุรีใกล้เขตแดนประเทศพม่าได้พบตุ๊กตาทำด้วยดินเผา ปั้นไม่มีหัวแต่ที่บริเวณคอทำกลวงลงไป คล้ายทำไว้สำหรับเสียบหัว พบชัดเจน ๓ ตัว ตัวหนึ่งทำคล้ายเป็นรูปคนนั่งพนมมือ อีกตัวหนึ่งทำเป็นรูปคล้ายคนยืน แต่ส่วนขาหักไป ที่มือคล้ายถืออะไรอยู่บอกไม่ได้ว่าเป็นอะไร รูปที่ปั้น ปั้นได้สวยงามมากก็คือ รูปคนขี่ม้าไม่มีหัว มีคอกลวงเหมือน ๒ ตัวแรก แต่รูปม้าทำเป็น ๒ ซีกประกบกัน ของที่พบที่เหมืองแร่ใกล้พรมแดนพม่านี้แม้ขณะนี้จะยังไม่ทราบแน่ว่าอยู่ในสมัยที่ใช้วัตถุอะไรทำเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องประดับ แต่เนื่องจากได้พบเครื่องมือสมัยหินใหม่จำนวนมาก และมีเครื่องสำริดบ้างเล็กน้อย ทำให้สันนิษฐานว่า หลังจากการใช้สัญลักษณ์เป็นเขากวางแล้ว การรักษาการป่วยไข้ในสมัยต่อมา ได้มีรูปปั้นสะเดาะเคราะห์ผู้ป่วยใช้ด้วย และประเพณีนั้นได้สืบต่อมาจนถึงสมัยสุโขทัย (ประมาณพ.ศ. ๑๘๐๐-๑๙๐๐)

            ตุ๊กตาทำด้วยดินเผา เป็นรูปคนไม่มีหัว คอมีรูกลวง (ซ้าย) คนนั่งพนมมือ (ขวา) คล้ายคนยืนแต่ไม่มีขา (ล่าง) แสดงคอมีรูกลวง ตุ๊กตาเหล่านี้พบที่เหมืองดีบุก จังหวัดราชบุรีใกล้เขตแดนพม่า

            ถัดขึ้นไปจากสมัยสุโขทัย ประเทศไทยอยู่ในสมัยใกล้ประวัติศาสตร์ (Protohistory) คือสมัยทวารวดี พ.ศ.๑๐๐๐ - ๑๕๐๐) หลักฐานเกี่ยวกับการแพทย์คือ การพบเขากวางที่ตำบลทัพหลวง จังหวัดนครปฐม ซึ่งมีลักษณะเหมือนที่พบที่บ้านเก่าตามที่ได้กล่าวมา ขณะนี้ยังไม่มีร่องรอยของหลักฐานอื่น ๆ ในระยะเวลานี้ประเทศไทยมีการติดต่อกับประเทศใกล้เคียง ประเทศที่ติดต่อกันมากควรจะเป็นประเทศอินเดีย เพราะนอกจากการแพร่ของพุทธศาสนาเข้ามาสู้ประเทศไทยแล้ว ประเทศไทยอาจรับลัทธิฮินดูพร้อมกับศิลปวิทยาอื่น ๆ เข้ามาด้วย ซึ่งอาจจะมีวิชาการแพทย์อยู่ด้วย จึงจ่าจะได้พิจารณาการแพทย์ของประเทศอินเดียในสมัยนั้น ซึ่งอาจจะเผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทยเพราะประเทศไทย ได้รู้จักบุคคลสำคัญในทางแพทย์ของประเทศอินเดียคือ ท่านชีวกโกมารภัจจ์ดีเท่ากับคนอินเดียส่วนมาก นอกนั้นก็มีบันทึกเกี่ยวกับปรัชญาและวิชาการทางวิทยาศาสตร์บ้าง เรื่องราวเกี่ยวกับการแพทย์ของอินเดียจะได้กล่าวต่อไป