เล่มที่ 8
ประวัติการแพทย์และเภสัชกรรมไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การแพทย์สมัยโบราณของประเทศอินเดียและจีน

            หนังสือว่าด้วยประวัติการแพทย์ ซึ่งเขียนโดย วอล์เคอร์ (Kemeth Walker, ค.ศ.๑๙๕๙) กล่าวว่า ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์โบราณของอินเดียมีน้อยมาก จารึกเป็นภาษาสันสกฤตที่เกี่ยวข้องกับวิชาการแพทย์มีเพียง ๒ คัมภีร์ คือ ฤคเวท (Rig Veda) ก่อนคริสต์ศักราช ๑,๕๐๐ ปี หรือประมาณ ๓,๔๗๑ ปีมาแล้ว ไม่ห่างกับสมัยหินใหม่ของประเทศไทย เป็นคำสอนในศาสนาฮินดู (Hindu bible) กล่าวถึงการเคลื่อนเข้าสู่ประเทศอินเดียและการตั้งรกรากของพวกอารยัน (Aryan)

ตุ๊กตาขี่ม้าทำด้วยดินเผาเป็นรูปคนไม่มีหัว คอมีรูกลวง (ซ้าย) คนขี่ม้า (กลาง) แสดงคอมีรูกลวง (ขวา) แสดงตุ๊กตาสองซีกประกบกัน

            อีกคัมภีร์หนึ่งคือ อายุรเวท (Ayur Veda) ราว ๗๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือประมาณ ๒,๔๗๗ ปีมาแล้ว เข้าสมัยพุทธกาล หนังสือฉบับเดียวกันกล่าวว่า อินเดียโบราณมีชื่อเสียงทางศัลยกรรมมาก แต่วิชาที่เป็นรากฐานของวิชาศัลยกรรมที่แพทย์อินเดียโบราณให้ความสนใจน้อย คือวิชาที่เป็นรากฐานของวิชาศัลยกรรมที่ว่าด้วยการศึกษาร่างกายของมนุษย์ เป็นลักษณะแบบเดียวกับการแพทย์แผนโบราณของจีนและของไทยด้วย สาเหตุอาจเนื่องจากไม่นิยมชำแหละศพคนตาย การไม่นิยมการชำแหละศพอาจเนื่องมาจากเป็นดินแดนที่มีอากาศร้อน ศพเน่าในเวลาอันรวดเร็ว ไม่น่าจะเกี่ยวกับความเชื่อในศาสนาฮินดู เว้นแต่ในจีนที่เชื่อตามลัทธิขงจื้อ ศัลยแพทย์ในวิธาการตกแต่ง ปัจจุบันยังคงกล่าวถึงวิธีการตกแต่งจมูก (rhinoplasty) ของศัลยแพทย์อินเดียโบราณอยู่คือ วิธีที่นำเอาหนังจากหน้าผากลงมาตกแต่งบริเวณจมูกที่เกิดเป็นแผลใหญ่ๆ ขึ้น เช่น แผลที่เกิดจากการตัดจมูกภรรยาที่ไม่ซื่อต่อสามี สามีอาจทำโทษให้เสียโฉมได้ และศัลยแพทย์อินเดียก็จะเป็นผ่ายตกแต่งให้ใหม่ ทำให้นึกถึงนิทานเรื่องสังข์ทอง ตอนหาเนื้อหาปลา ก็มีการตัดจมูก ตัดใบหู ๖ เขยเนื่องจากไม่สามารถหาปลาหรือเนื้อมาได้ตามบัญชาของท้าวสามล การแก้เผ็ดของเจ้าเงาะเป็นที่รู้และเป็นละครสนุกในหมู่คนไทย เป็นเรื่องแสดงการเกี่ยวเนื่องระหว่างประเทศไทยและประเทศอินเดียได้ดีประการหนึ่ง ศัลยแพทย์ชาวอินเดียที่ชื่อสุสรุตะ (Susruta) ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ พ.ศ.๙๔๓ (ใกล้กับสมัยทวารวดีของไทย) ได้กล่าวถึงเครื่องมือผ่าตัดเกือบร้อยรายการที่ใช้โดยท่านผุ้นี้และผู้ร่วมคณะกล่าวถึงการผ่าตัดเอาเด็กออกทางหน้าท้อง (Caesaian section) โดยแพทย์อินเดียโบราณ ซึ่งทำเช่นเดียวกับการผ่าตัดเอานิ่วออกจากกระเพาะปัสสาวะ

โรคที่เป็นกับชาวอียิปต์โบราณที่คงรักษาร่องรอยไว้จนถึงปัจจุบันโดยวิธีรักษาศพเป็นมัมมี่

            ในคัมภีร์อายุรเวท มีเรื่องราวเกี่ยวกับการแพทย์มาก ได้มีการกล่าวถึงระบบหัวใจและหลอดเลือดจนทำให้ วอล์เคอร์ เชื่อว่า การแพทย์ของชาวฮินดูสมัยนั้น รู้เรื่องการไหลเวียนของเลือดก่อนการพบของฮาวีย์ (William Harvey , ค.ศ.๑๕๗๘-๑๖๕๗ ประมาณสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) คัมภีร์ฉบับเดียวกันได้จารึกถึงข้อสังเกตที่ว่า กาฬโรค (plaque) มักจะปรากฎเมื่อมีหนูตายเป็นจำนวนมากในบริเวณนั้น และมีบันทึกว่าโรคไข้จับสั่น (malaria) เกิดเนื่องจากยุง ซึ่งการแพทย์แผนปัจจุบันถึงรู้ เมื่อศัลยแพทย์ในกองทัพฝรั่งเศส ที่ตั้งอยู่ในประเทศแอลจีเรีย ได้เขียนบันทึกไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๓ (ต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ภาพจำลองที่ไม่ถูกต้อง
ตามหลักวิชากายวิภาคศาสตร์

            ในคัมภีร์อายุรเวทได้อธิบายถึงอาการของวัณโรคปอด ว่ามีไอเรื้อรังมีไข้ และไอเป็นเลือด ในคัมภีร์ มีพืชที่ใช้เป็นยา (medicinal plants) มากกว่า ๗๐๐ รายการ และมีข้อความกล่าวถึงการทำยาขี้ผึ้ง ยาใช้ในการสูดดมและทำให้จาม

            แพทย์ที่ปฏิบัติวิชาการนี้ในสมัยของคัมภีร์อายุรเวทไม่ใช่พวกพราหมณ์ แต่เป็นบุคคลในวรรณะแพทย์ (vaisyacaste) เพราะถือตามกฎของพระมนูว่า ผุ้ที่ปฎิบัติดังกล่าวเป็นผู้ที่ไม่สะอาดและไม่อนุญาตให้เข้าไปร่วมในการทำบุญผู้ตาย นอกจากคัมภีร์อายุรเวทแล้ว ยังมีคัมภีร์อื่น ๆ อีก แต่ถือว่าคัมภีร์อายุรเวทเป็นความรู้ที่แพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองของอินเดีย คือ จรกะ (Charaka) และสุสรุตะ ได้รับถ่ายทอดมาจากพระฤาษีธันวันตาริ (Dhanwantari) โดยตรง หรือถ่ายทอดมาจากฤาษี หรืออาจารย์บางองค์

            ทางฝ่ายไทย ตามบทความของแพทย์หญิง ปทุมทิพย์สาครวาสี (พ.ศ.๒๕๑๒) กล่าวว่า รู้จักแพทย์ที่เป็นชั้นแนวหน้ามากกว่าที่กล่าวแล้วในหนังสือเล่มที่แต่งโดยวอล์เคอร์ คือได้กล่าวถึงสำนักทิศาปาโมกข์ แห่งเมืองตักกสิลา ในแคว้นคันธาระ ปัจจุบันอยู่ในตอนเหนือของแคว้นปันจาป ประเทศปากีสถาน มีชื่อเสียงในทางศิลปวิทยา รวมทั้งวิชาการแพทย์ด้วย เป็นเมืองที่ชีวกโกมารภัจจ์ได้ไปเล่าเรียนในสมัยพุทธกาล ในบทความดังกล่าวได้กล่าวถึงผู้ก่อตั้งตำรายาไทยคือ ท่านมหาเถรตำแยและท่านโรคามฤคินทร์ว่า ตั้งโดยอาศัยอาการของโรคและวิธีรักษาโรค แพทย์ที่สำเร็จเป็นแพทย์ชั้นแนวหน้าในสมัยนั้น คือ

            ๑. อาจารย์อทริยะ แห่งเมืองตักกสิลา แคว้นคันธาระ เป็นอาจารย์ของท่านชีวกโกมารภัจจ์
            ๒. ท่านชีวกโกมารภัจจ์ ก่อนพุทธกาล ๒๔ ปี
            ๓. พระอาจารย์สุสรุตะ แห่งกรุงพาราณสี แคว้นกาสีก่อนพุทธกาล ๒๔ ปี
            ๔. พระฤาษีภาสทวาระ
            ๕. พระฤาษีธันวันตาริ
            ๖. หมอจรกะ แห่งปรางค์ปุระ แคว้นแคชเมียร์ประมาณ พ.ศ. ๖๖๓-๖๙๓


            ในฐานะที่คนไทยรู้จักชีวกโกมารภัจจ์ยิ่งกว่าผู้อื่นว่า นอกจากจะเป็นแพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธะเจ้าแล้ว ยังได้รับยกย่องให้เป็นบรมครูของการแพทย์แผนโบราณของไทยด้วย จึงขอย่อประวัติของท่านจากบทความที่แปลและเรียบเรียงโดยพระอริยเมธีและเปมังกโรภิกขุ (๒๕๑๒) มาเสนอ เพราะในประวัติของท่านได้กล่าวถึงวิธีการศึกษาแพทย์ในสมัยนั้นและการรักษาที่ท่านได้กระทำ

ภาพจำลองที่ไม่ถูกต้อง
ตามหลักวิชากายวิภาคศาสตร์

            ชีวกโกมารภัจจ์ เป็นพระโอรสเลี้ยงของอภัยราชกุมาร พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร ผู้ครองกรุงราชคฤห์ แห่งแคว้นมคธโดยสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้ชีวกโกมารภัจจ์รู้ฐานะของตนจึงตกลงเลือกเรียนวิชาแพทย์และได้ออกเดินทางโดยอาศัยพ่อค้าชาวเมืองตักกสิลา แห่งแคว้นคันธาระ ที่มาค้าขายที่กรุงราชคฤห์ไปเมืองตักกสิลา พระฤาษีโรคาพฤกษตฤณาเป็นอาจารย์ (บางแห่งให้อาจารย์อทริยะเป็นอาจารย์) เป็นนักเรียนที่ไม่เสียค่าเล่าเรียนเพราะไม่มีสมบัติติดตัวไป จึงทำงานให้กับสำนักร่วมไปกับการเรียนด้วยชีวกโกมารภัจจ์เรียนสำเร็จภายในเวลา ๗ ปี ซึ่งตามกำหนดต้องใช้เวลาถึง ๑๔ ปี จึงจะสำเร็จบริบูรณ์ การทดสอบว่าชีวกโกมารภัจจ์มีความรู้สุดสิ้นหรือไม่นั้น อาจารย์จะมอบตะกร้าให้ใบหนึ่ง สั่งให้ถือเข้าไปในป่า ห่างจากประตูเมืองออกไปด้านละ ๑ โยชน์จนครบ ๔ วัน (๔ ประตู) หากพบว่าสมุนไพรชนิดใดที่ไม่มีสรรพคุณในทางเป็นยารักษาโรคก็ให้เก็บเอามาให้อาจารย์หลัง ๔ วัน ได้นำตะกร้ากลับมาคืน กล่าวว่าไม่พบพืชแม้แต่ชนิดเดียวที่ไม่มีสรรพคุณในทางทำเป็นยารักษาโรค ทุกชนิดล้วนมีสรรพคุณเป็นยาทั้งสิ้น นี้เป็นวิธีที่รับรองความสำเร็จของชีวกโกมารภัจจ์

            ข้อความที่กล่าวจะมีความจริงประการใดไม่อาจยืนยันได้ ตำรายาไทยทุกเล่มจะต้องอ้างข้อความดังกล่าวนี้ ถ้าวิธีทดสอบนี้ เป็นความจริง ก็จะได้ข้อคิดเป็น ๒ ประการ ประการหนึ่ง การเรียนแพทย์ของเมืองตักกสิลา เป็นการเรียนทางอายุรศาสตร์ ยิ่งกว่าทางศัลยกรรม ประเทศไทยเราดูจะรับเรื่องทางยาสมุนไพรมายิ่งกว่าทางการผ่าตัด การผ่าตัดจึงเป็นเรื่องปฏิบัติกันน้อยมาก หรือเกือบไม่มีเลยในสมัยสุโขทัย สมัยอยุธยาและในตอนต้นของสมัย รัตนโกสินทร์ พึ่งจะมาปรากฏชัดเจนเอาในตอนกลาง ของสมัยรัตนโกสินทร์ ประการที่ ๒ ถ้าพืชทุกชนิดเป็นยา การที่มีผู้คิดจะปลูกสวนพืชใช้ทำยาก็ไร้ประโยชน์ ผิดจากข้อเท็จจริง เพราะเมื่อพืชทุกชนิดเป็นยา ทำไมจึงจะไปคัดพืชบางชนิดออกว่า ไม่ใช่พืชใช้เป็นยา แล้วไม่ยอมนำเอาไปปลูกในสวนนั้น

ภาพจำลองชีวกโกมารภัจจ์

            ในการเดินทางกลับ ชีวกโกมารภัจจ์ได้ใช้วิชาความรู้ที่เรียน หาเสบียง เพื่อเดินทางกลับกรุงราชคฤห์ โรคแรกที่รักษา คือ รักษาโรคปวดศีรษะเรื้อรัง ที่เมืองสาเกตุ แคว้นมหารัฐโกศล เมื่อถึงกรุงราชคฤห์ ได้ถวายการรักษาริดสีดวงทวาร โดยวิธีใช้ยาทา ให้แก่พระเจ้าพิมพิสาร จนได้รับตำแหน่งแพทย์ประจำพระองค์ และเป็นแพทย์ประจำองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย มีการผ่าตัดเข้าไปในกะโหลกเหมือนทรีไฟนิง เช่นที่กล่าวถึงมาแล้ว ทำการรักษาฝีในช่องท้องโดยการผ่าตัด ยาที่ประกอบขึ้น ดูจะมีสรรพคุณเหลือหลาย ทำเป็นพระโอสถถวายพระเจ้าจันทปัชโชติ แห่งกรุงอุชเชนี แคว้นอวันตี เพียงครั้งเดียวก็หาย เพียงยาขนาดติดปลายเล็บ ก็พอเป็นยาถ่ายอย่างรุนแรง จนข้าของพระเจ้าจันทปัชโชติตามมาจับตัวหมดแรง เดินทางต่อไปไม่ได้ นอกจากนี้ ยังได้ถวายพระโอสถถ่ายแด่พระพุทธองค์โดยวิธีดม ไม่ต้องเสวย ถวายการรักษาบาดแผลที่พระชงฆ์ของพระพุทธองค์ ที่เกิดจากทรงถูกสะเก็ดหินก้อนใหญ่ ที่กลิ้งลงมาโดยพระเทวทัตและบริวาร เพื่อทำร้ายพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นเรื่องที่รู้กันแพร่หลายยิ่งกว่าการกระทำอื่นๆ ของท่านชีวกโกมารภัจจ์

            ในการทรงพระครรภ์ของพระมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าอชาตศัตรู พระนางเชื่อคำทำนายของโหรว่า พระโอรสในพระครรภ์ เมื่อประสูติออกมา จักเป็นศัตรูกับพระราชบิดา และคิดปลงประชนม์ พระนางจึงทรงใช้ยา เพื่อทำลายพระครรภ์เสีย แต่ไม่สำเร็จ เพราะพระเจ้าพิมพิสารทรงห้ามไว้ เป็นการแสดงว่า ได้มีการใช้ยา เพื่อการทำแท้งในสมัยนั้น

            เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่กระทำโดยชีวกโกมารภัจจ์ ก็คือ เรื่องเกี่ยวกับสาธารณสุข เพราะได้ทูลขอต่อสมเด็จพระพุทธองค์ ไม่ให้บวชคนมีโรคติดต่อ เช่น โรคเรื้อน (กุฐํ) โรคผิวหนัง (กิลาโส) ไข้ม่องคร่อ (ชื่อโรคชนิดหนึ่ง มีเสมหะแห้งอยู่ในลำหลอด ปอด) ผู้ป่วยที่เป็นลมบ้าหมู (อปมาโร) เพราะสังคมในหมู่สงฆ์ ใกล้ชิดกว่าในหมู่ประชาชน เช่น ในเรื่องการฉันจังหัน การรวมกันอยู่ในที่พักอาศัย อาจทำให้โรคแพร่ไปได้ พระพุทธองค์ ทรงรับและทรงวางบทบัญญัติห้าม เป็นอันตรายิกธรรม ขัดต่อความเป็นภิกษุ ในการขอบรรพชา บุคคลผู้ขอต้องแสดงข้อเท็จจริง ในเรื่องนี้ต่อที่ประชุมสงฆ์ด้วย สงฆ์หรือพระภิกษุรูปใด รับบวชบุคคลดังกล่าว ถือว่า มีโทษเป็นอาบัติ เข้าใจว่า เมื่อพระพุทธศาสนาแผ่เข้ามาในดินแดนไทย พิธีบวชก็คงตามมาด้วย ปัจจุบัน พิธีบวชเป็นภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนาคงห้ามโรคดังกล่าว ซึ่ง ห้ามมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล

            แนวการปฏิบัติที่สมเด็จพระพุทธองค์ทรงวางพระวินัย ให้พระสาวกปฏิบัติตาม เกี่ยวกับวัตถุต่างๆ ที่เป็นเภสัชคงติดตามเข้ามา พร้อมกับการแพร่พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทย สมเด็จพระพุทธองค์ทรงเข้มงวดมากเกี่ยวกับการบริโภคของพระภิกษุ ที่เป็นสาวก วัตถุที่มีลักษณะเป็นอาหาร ภิกษุจะบริโภคได้เฉพาะ ในเวลารุ่งอรุณเห็นลายมือถึงเที่ยงวันเท่านั้น เรียกว่า เวลาในกาล นอกเวลานั้น ถือเป็นเวลานอกกาล หรือเวลาวิกาล แม้วัตถุที่จะใช้เป็นยาก็ทรงมีพระบัญญัติห้ามไม่ให้ใช้ ถ้าไม่มีความจำเป็น นอกจากนี้ยังทรงเคร่งครัดในการขบเคี้ยวอีกด้วย

            วัตถุที่คล้ายอาหารที่ทรงมีพุทธานุญาตให้รับประเคนได้ใน เวลาวิกาล ปรุงแต่งได้ในเวลาวิกาลและบริโภคได้ในเวลาวิกาล มีเพียง ๕ อย่างคือ เนยไส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย สาเหตุที่ทรงมีพุทธานุญาต ก็คือ พระสาวกอาพาธชุกชุมในฤดู สารท มีอาการอาเจียน และร่างกายซูบผอม มีอาหารไม่พอ

อุตพิด

            วัตถุที่เป็นเภสัชซึ่งทรงมีพุทธานุญาตให้ใช้ได้เฉพาะเมื่อจำเป็น มีรากไม้ที่เป็นเภสัช เช่น ขมิ้น ขิง ว่านน้ำ ว่าน เปราะ อุตพิด ข่า แฝก แห้วหมู ต่อไปก็ทรงมีพุทธานุญาตให้ใช้ น้ำฝาดที่เป็นเภสัชได้ เช่น น้ำฝาดสะเดา น้ำฝาดมุกมัน น้ำฝาด กระดอนหรือขี้กา น้ำฝาดบอระเพ็ดหรือหญ้ามือเหล็ก น้ำฝาด กระถินพิมาน ใช้ใบไม้ที่เป็นเภสัช เช่น ใบสะเดา ใบมุกมัน ใบ กระดอนหรือขี้กา ใบกะเพราหรือแมงลัก ใบฝ้าย ใช้ยางไม้ที่ เป็นเภสัช เช่น ยางอันไหล หรือเคี่ยวจากต้นและใบของหิงคุ ยางจากยอดจากใบของต้นกะตะ กำยาน ใช้ผลไม้ที่เป็นเภสัช เช่น ลูกพิลังกาลา ดีปลี พริก สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม

            เมื่อพระสาวกต้องการเกลือเป็นเภสัช ก็ทรงมีพุทธานุญาต ให้ใช้เกลือ คือ เกลือสมุทร เกลือดำ เกลือสินเธาว์ เกลือดินโป่ง เกลือหุง เช่นเดียวกับรากไม้ ใบไม้ ยางไม้และผลไม้ข้างต้น คือรับประเคนเภสัชเหล่านั้นได้ ต่อมีเหตุจึงใช้บริโภคได้ เมื่อ เหตุไม่มี ภิกษุบริโภคอาบัติทุกกฎ

ข่า
            ต่อมาเมื่อพระสาวกต้องการเภสัชที่บดละเอียด จึงได้ทรงมีพุทธานุญาต ให้ใช้หินบด และลูกหินบด และผ้ากรอง ทำให้เข้าใจว่า หินบดและลูกหินบด ที่ใช้เป็นเครื่องมือบดยา ที่พบในสมัยทวารวดีเป็นจำนวนมาก น่าจะใช้เป็นเครื่องมือในการบดเมล็ดพืช เมล็ดพืชที่เตรียมโดยวิธีใช้หินเป็นเครื่องมือบด อาจเป็นสาเหตุประการหนึ่ง ที่ทำให้ฟันของคนโบราณสึกลึกมากกว่าคนปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกัน โดยพิจารณาอายุประกอบ

            ในสมัยพุทธกาลกล่าวถึงยาตาที่ทรงมีพุทธานุญาต ยาตา ที่ปรุงด้วยเครื่องปรุงหลายอย่าง ยาตาที่ทำด้วยเครื่องปรุงต่างๆ ยาตาที่เกิดในกระแสน้ำ เป็นต้น หรดาลกลีบทอง เขม่าไฟ ต่อมาก็ทรงมีพุทธานุญาตให้ใช้ไม้จันทน์ กฤษณากะลัมพะ ใบเฉียง แห้วหมู บดผสมเป็นยาตา เป็นยาตาที่ใช้ในสมัยพุทธ- กาล และทรงให้มีกลักเก็บยา มีฝาปิดและมีไม้ป้ายยาตา แต่ทรงห้ามสิ่งเหล่านี้ไม่ให้ทำด้วยทอง ด้วยเงิน คงให้ใช้ทำ ด้วยกระดูก งา เขา หรือทำด้วยเปลือกสังข์ ทรงให้ใช้ยานัตถุ์ แก้อาการปวดศีรษะเรื้อรังและทรงให้ใช้เครื่องดูดควัน แต่ใน พระไตรปิฎกไม่ได้กล่าวถึงวัตถุที่ใช้ในการทำให้เกิดควัน

ขิง

            ในสมัยนั้นพระสาวกองค์หนึ่ง คือพระปิลินทวัจฉะอาพาธ เป็นโรคลม แพทย์ให้น้ำมันหุงเจือน้ำเมา ก็ทรงมีพุทธานุญาต แต่เมื่อใช้น้ำเมาผสมเกินขนาด เกิดเมาขึ้น จึงได้ทรงให้เปลี่ยนเป็นใช้ทา ไม่ใช่ใช้บริโภค ในการรักษาโรคลม ทรงมีพุทธานุญาตให้ใช้การเข้ากระโจม เป็นการรักษาลมใหญ่ น้ำต้มเดือด มีใบไม้ต่างๆ ชนิด และทรงให้ใช้อ่างน้ำ

            ในการอาพาธเป็นโรคลมเสียดยอกตามข้อ ทรงมีพุทธานุญาตให้ระบายโลหิตออก ไม่ใช่เจาะเอาออก ให้เอาออก โดยวิธีกอกด้วยเขา ในอาพาธเท้าแตก ทรงให้ใช้ยาและปรุง น้ำมันทาเท้า ในการรักษาโรคฝี ทรงมีพุทธานุญาต ให้ผ่าตัด ใช้น้ำฝาด เข้าใจว่า ใช้ชะแผล ใช้เมล็ดงาที่บดแล้วเป็นยาพอก และใช้ผ้าพันแผล ในการรักษาเนื้องอก ทรงมีพุทธานุญาตให้ตัด ด้วยก้อนเกลือ ในการรักษางูพิษกัด ใช้ยามหาวิกัฏ ๔ อย่าง คือ คูถ มูตร เถ้า ดิน และพระสาวกที่ดื่มยาพิษ ทรงอนุญาตให้ใช้น้ำ เจือคูถ

หรดาลกลีบทอง

            พระสาวกที่อาพาธเป็นโรคผอมเหลือง (ดีซ่าน) ตรัส อนุญาตให้ดื่มยาผลสมอดองน้ำมูตรได้ และภิกษุที่อาพาธเป็นโรค ผิวหนัง ทรงอนุญาตให้ใช้ลูบไล้ด้วยของหอมได้ ในการรักษาภิกษุ ที่มีกายกอร์ปด้วยโทษมาก ทรงมีพุทธานุญาตให้ดื่มยาประจุ ถ่าย น้ำถั่วเขียวต้ม จนกระทั่งน้ำเนื้อต้ม

(ข้อความดังกล่าวย่อจากเภสัชขันธกะ มหาวรรคภาค ๒ พระวินัยปิฎกเล่ม ๗)

            อีกแหล่งหนึ่งที่อาจเผยแพร่วิชาการแพทย์มาสู่ประเทศ ไทยได้ก็คือ ประเทศจีน ในสมัยสุโขทัย พ.ศ.๑๘๐๐-๑๙๒๐ ประเทศไทยมีหลักฐานการเกี่ยวข้องกับประเทศจีน คือ การทำ เครื่องถ้วยชามเคลือบ ซึ่งที่ทำในประเทศไทยนั้นได้รับชื่อว่า "สังคโลก" บางคนก็กล่าวว่า "สังคโลก" หมายถึง เครื่องถ้วยชามของสมัยแผ่นดิน "ซ้อง" พ.ศ.๑๕๐๓-๑๘๒๒ บางท่านก็บอกว่า หมายถึง สวรรคโลก แต่อย่างไรก็ตาม ลักษณะของเครื่องปั้นดินเผา ของสมัยนั้น ซึ่งคล้ายคลึงกันเป็นหลักฐานชี้บ่งว่า ประเทศจีน และประเทศไทยได้มีการติดต่อกัน และมิได้ติดต่อเพียงแค่ศิลปวิทยาทางเครื่องปั้นดินเผาเท่านั้น อาจนำวิชาการแพทย์ จากประเทศจีน มาสู่ประเทศไทยบ้างก็ได้


การฝังเข็ม (Acupuncture) เป็นวิธีการแพทย์ของจีนที่รู้จักกันมาก : ผู้ป่วยที่รับการฝังเข็มที่หนังศีรษะ

            การแพทย์ของจีนนั้นมีผู้อ้างว่า อาจสอบค้นทบทวนไปได้ ถึงสมัย เมื่อ ๔-๕ พันปีมาแล้ว เท่ากับระยะเวลา ของการแพทย์แผนปัจจุบันของประเทศตะวันตก ซึ่งอาจตามเรื่องราวย้อน ต้นไปถึงสมัยอียิปต์โบราณ เมื่อ ๔-๕ พันปีมาแล้วเช่นกัน เพราะนักปราชญ์ของจีนได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการแพทย์ แทบทุกยุคทุกสมัยไว้เป็นหลักฐานตลอดมา


การฝังเข็ม (Acupuncture) เป็นวิธีการแพทย์ของจีนที่รู้จักกันมาก : จุดที่ใช้ในการฝังเข็มบริเวณศีรษะ

            หนังสือที่ว่าด้วยวิธีการแพทย์ของจีนแต่งโดย ฮูม (Hume, ๑๙๔๐) ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของการแพทย์ของจีน และกล่าวถึงแพทย์คนสำคัญถึง ๑๔ คน คนหนึ่งในจำนวนนี้ ที่ชาวไทยรู้จักกันดีก็คือ หมอฮัวโต๋ในหนังสือสามก๊ก ท่านผู้นี้ เกิดใน พ.ศ.๗๓๓ นายแพทย์สงัด เปล่งวานิช (พ.ศ.๒๕๑๐) ผู้เรียบเรียงประวัติของแพทย์ผู้นี้ ยกย่องท่านมากในวิชาศัลยกรรม กล่าวว่าเป็นผู้ใช้วิธีบำบัดด้วยน้ำ (hydro-therapy) และเป็นคนแรกที่ใช้ในการออกกำลังกายช่วยในการบำบัดโรค เป็นผู้ใช้ยาระงับความรู้สึกซึ่งยังเป็นที่โต้เถียงกันว่า ผู้ใช้คนแรก อาจเป็นหมอเบียงเฉียว ศัลยแพทย์ที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่ง ยาที่หมอฮัวโต๋ใช้เป็นยาผง เมื่อใส่ลงในเหล้าก็เดือดเป็นฟอง ช่วยให้หมอฮัวโต๋ผ่าตัดในช่องท้องได้ แต่ที่คนไทยรู้จักกันมาก ก็คือการผ่าตัดแผลเกาทัณฑ์ที่ต้นแขนของกวนอู ซึ่งเป็นเกาทัณฑ์อาบยาพิษทำให้กระดูกตาย ถ้าเป็นการผ่าตัดในสมัยนี้ ก็ต้องวางยาสลบ เพราะเป็นการผ่าตัดที่เจ็บปวดมาก และกินเวลาในการผ่าตัด ไม่มีผู้ใดทนได้ถ้าไม่ได้รับยาระงับปวดอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่หนังสือต้องการจะยกย่องกวนอูว่า มีความอดทนเป็นเลิศ ไม่ยอมให้หมอฮัวโต๋มัดตัวติดกับเสาก่อนผ่าตัด คงเสพแต่สุรา และเล่นหมากรุกจนการผ่าตัดสิ้นสุด เภสัชตำรับของจีนต่อมากล่าวว่า ยาระงับความเจ็บปวดของหมอฮัวโต๋อาจเป็น ลำโพง และได้ใช้ยานี้บำบัดโรคไข้หวัด โรคชักกระตุก เมื่อผสมกับกัญชา และยาอื่นอีกบางอย่างใช้เป็นยานอนหลับ


การฝังเข็ม (Acupuncture) เป็นวิธีการแพทย์ของจีนที่รู้จักกันมาก: วิธีการหาจุด และแทงเข็มบริเวณศีรษะ

            บทความของนายแพทย์สงัดยังกล่าวต่อไปอีก ถึงการ ผ่าตัดเอาม้ามที่เน่าออกจากผู้ป่วย แสดงว่าในสมัยหมอฮัวโต๋ แพทย์จีนมีความก้าวหน้าในร่างกายมนุษย์มากกว่าการแพทย์ของประเทศอินเดีย หมอฮัวโต๋จึงได้รับยกย่องมากในวิชาการแพทย์ สาขาศัลยกรรม แต่ข้อความที่ปรากฏในหนังสือสามก๊กถ้าเป็นจริงก็ แสดงว่าท่านผู้นี้นอกจากจะเก่งทางการผ่าตัดแล้ว ยังเป็นนักเล่นกลฝีมือเยี่ยมอีกด้วย ถึงกับสามารถผ่าฝีที่คิ้วได้นกกระจอกเต้นออก มา และรักษาก้อนเนื้อที่ถูกสุนัขกัดได้เข็มถึง ๑๐ เล่ม และลูก เต๋า ๒ ลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่หมอฮัวโต๋ทำนายไว้ก่อน หมอฮัวโต๋เสียชีวิต เพราะไปรักษาโจโฉ ซึ่งไม่เชื่อว่า จะสามารถรักษาโรคปวดศีรษะได้ จากการผ่ากะโหลก จึงเอาไปขังเสียจนตาย ตำรับตำราของท่าน ก็กล่าวกันเป็น ๒ นัย นัยหนึ่งกล่าวตามหนังสือที่แต่งโดยฮูมว่า ท่านทำลายเอง อีกนัยหนึ่งในสามก๊กกล่าวว่า ผู้คุมได้ไป แต่ภรรยาเอาไปเผาเสีย เพราะกลัวสามีจะต้องตายในคุก เช่นเดียวกับเจ้าของตำรา

หมอฮัวโต๋
ศัลยแพทย์มีชื่อของจีน

            นายแพทย์สงัดได้สรุปข้อความในตอนท้ายไว้ว่า ทั้งๆ ที่ หมอฮัวโต๋ได้ค้นพบยาระงับความรู้สึก และใช้ได้ผลดีมานานถึง ๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว แต่วิชาศัลยกรรมของจีนก็หาได้ก้าวหน้าไปแต่อย่างใดไม่ ทั้งนี้ว่ากันว่า เพราะคำสั่งสอน ของท่านศาสดาขงจื้อ (ประมาณ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว สมัยพุทธกาล) ซึ่งสอนให้เคารพเทิดทูนร่างกายของคน การที่จะเชือดเฉือนเนื้อหนัง ถือเป็นการทำลายสิ่งที่ควรแก่การเคารพ เป็นเหตุทำให้ความรู้ซึ่งควรจะก้าวหน้า เกี่ยวกับร่างกาย ต้องชะงักงัน