การแพทย์แผนปัจจุบันในสมัยรัตนโกสินทร์ หลังจากที่ประเทศไทยในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๒๔๖) ได้ขับไล่ชาวฝรั่งเศสออกไปจากประเทศไทยแล้ว การแพทย์แผนปัจจุบันที่นำมาโดยชาวฝรั่งเศสก็พลอยสูญไปด้วย กลับไปใช้การแพทย์แผนโบราณตามเดิม การแพทย์แผนปัจจุบัน ได้กลับมาอีก พร้อมกับการเข้ามาของนักสอนศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสแตนท์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.๒๓๖๗-๒๓๙๔) พ.ศ.๒๓๗๑ มีนักสอนคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนท์ ๒ คน เข้ามาในประเทศไทย เป็นแพทย์ชาวเยอรมนีคนหนึ่งชื่อ กุตซ์ลัฟฟ์ (Rev. Carl Augustus Gutzlaff) และหมอสอนศาสนาชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อ ทอมลิน (Rev. Jacob Tomlin) นอกจาก การสอนศาสนา แจกหนังสือภาษาจีน และแจกยาแล้ว ก็ไม่ได้ทำการทางการแพทย์แผนปัจจุบันไว้ให้เป็นหลักฐานประการใด ต่อจากบุคคลทั้งสองแล้ว ก็มีนักสอนศาสนาเป็นแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ติดตามเข้ามาอีกหลายคน แต่ผู้ที่นำการแพทย์แผนปัจจุบัน และวิทยาศาสตร์ เข้ามาเผยแผ่จนเป็นที่รู้จักกันดีมี ๒ ท่าน คนแรกเป็นแพทย์คือ ดร.บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) เข้ามาใน พ.ศ. ๒๓๗๗ อีกผู้หนึ่งคือ ดร.เฮาส์ (Reynolds Samuel House) เป็นทั้งแพทย์ และเป็นนักวิทยาศาสตร์ในสาขาเคมี ฟิสิกส์ และสนใจทางชีววิทยาด้วย ดร.บรัดเลย์ได้มาปฏิบัติงานทางแพทย์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ทั้งในหมู่ข้าราชการ และประชาชน ตลอดจนบุคคลชั้นสูงสุด ของประเทศ เป็นการนำการแพทย์แผนปัจจุบันมาสู่ประเทศไทย หลังจากที่การแพทย์แผนปัจจุบันได้มีการเจริญเปลี่ยนแปลง กิจการสำคัญๆ ที่ได้มีบันทึกไว้ชัดเจนมีดังต่อไปนี้ ๑. เป็นคนแรกที่ทำการถ่ายเลือด เพื่อแก้ไขผู้ป่วยที่เสียเลือดไปเป็นจำนวนมาก แม้การถ่ายเลือดจะไม่ได้ทำในประเทศไทยก็ตาม ก็ได้ทำกับบุคคลที่จะเข้ามาในประเทศไทย คือ คนที่รอเรืออยู่ที่เมืองสิงคโปร์ ก่อนเข้ามากรุงเทพฯ เช่น ภรรยาของนักสอนศาสนาดีน (Rev. William Dean) ตกเลือด เนื่องจากการคลอดบุตร ดร.บรัดเลย์ได้ถ่ายเลือดจากสามีให้ แม้ความรู้พื้นฐานของการถ่ายเลือดในสมัยนั้นจะรู้กันน้อยก็ตาม ๒. เป็นผู้ตั้งร้านจำหน่ายยา (dispensary) และเนื่องจากได้ให้การตรวจวินิจฉัย และการรักษาโรค จึงมีลักษณะเป็นคลินิก ซึ่งเป็นแบบอย่างของคลินิกต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน คลินิกของ ดร.บรัดเลย์ไม่เก็บเงิน การทำคลินิกแล้วเก็บค่าตรวจ และค่ายา ทำขึ้นตอนต่อมาโดย ดร.เฮยส์ (T. Hayward Hays) ๓. เป็นผู้นำวิธีป้องกันโรคฝีดาษ ซึ่งทำให้คนไทยเสียชีวิตไปปีละมากๆ แม้เดิมจะไม่ค่อยได้ผล คือ การใช้สะเก็ดจากแผลของผู้ป่วยเอามาปลูก ต่อมาการปลูกฝีก็สำเร็จอย่างดี เมื่อ ดร.บรัดเลย์ได้สั่งพันธุ์หนองผีมาทางเรือ จากเมืองบอสตัน อันเป็นเหตุให้มีแพทย์ไทย ออกไปฝึกการทำหนองฝี ที่ประเทศฟิลิปปินส์ จนนำมาใช้ได้เองในประเทศ ๔. ได้ร่วมมือกับนายแพทย์เฮาส์ ไปทำการคลอดให้พระสนม ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับ ดร.เฮาส์ที่ทำงานแทน ดร.บรัดเลย์ระหว่างการไปพักผ่อนในอเมริกา ก็ได้ปฏิบัติการในทางการแพทย์ และทางวิทยาศาสตร์ เป็นที่สนใจของข้าราชการ และประชาชนยิ่งขึ้น ประกอบกับที่ รัชกาลที่ ๔ ทรงซาบซึ้งในทางภาษาอย่างดี โดยอาศัยบุคคล ในคณะมิชชันนารีเป็นครูสอน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยอาศัยศิลปวิทยาของชาวตะวันตกเพิ่มขึ้นทีละน้อย เตรียมประเทศ และประชาชนไทยให้พร้อมที่จะรับการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ซึ่งได้มีขึ้นอย่างมากมาย ในรัชสมัย ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในทางการแพทย์ก็มีการจ้างแพทย์ชาวอังกฤษมาประจำในราชสำนัก แต่กิจการที่สำคัญที่ทำให้การแพทย์แผนปัจจุบันเข้ามาปักหลักมั่นคงในประเทศไทย ก็คือ พระราชดำริให้สร้างโรงศิริราชพยาบาล เป็นที่พักถาวรสำหรับราษฎรที่เกิดการป่วยไข้ขึ้น ก่อนหน้านั้น ถ้ามีโรคระบาดเกิดขึ้น ก็อาศัยวังของเจ้านาย และเคหสถาน ของขุนนางใหญ่ ทำเป็นที่พักชั่วคราว การสร้างโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นสภาบันการแพทย์แห่งแรกของประเทศไทย มีประวัติดังนี้ | |
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว | ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการเป็นคอมมิตตี จัดการโรงพยาบาลรักษาคนป่วยไข้ ให้เป็นทานแก่ประชาชนทั่วไป โดยมิเลือกหน้าเป็นครั้งแรก |
๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๑ ขณะที่คอมมิตตีกำลังดำเนินงาน สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ก็สิ้นพระชนม์ด้วยโรคบิด ทำให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระดำรัสว่า "แม้ลูกเราจะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างดี ก็ยังได้รับการทุกข์ทรมานถึงเพียงนี้ ลูกราษฎรที่ยากจนจะได้รับความทุกข์ทรมานสักเพียงใด" ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๑ ภายหลังที่คอมมิตตี ได้จัดการถากถางที่รกร้างว่างเปล่าในบริเวณวังหลังแล้ว ได้สร้างเป็นเรือนไม้ขึ้น ใช้สำหรับการรักษาพยาบาล สำเร็จจากไม้ และวัสดุจากเมรุที่ใช้ในการพระราชทานเพลิง จึงมีประกาศเปิดโรงพยาบาลรับรักษาโรคแก่ประชาชนทุกรูปทุกนาม โดยมิคิดค่ารักษา และค่ายาจากคนไข้เลย และพระราชทานชื่อสถานพยาบาลนั้นว่า "โรงศิริราชพยาบาล" การรักษาใช้ทั้งยาไทย และทางการแพทย์แผนปัจจุบัน |
๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๑ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกคอมมิตตี จัดการโรงพยาบาล และให้ตั้งกรมพยาบาลขึ้น และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ เป็นอธิบดีกรมพยาบาลองค์แรก | พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ |
พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ เนื่องจากทางการขาดแพทย์ประจำโรงพยาบาลที่สร้างขึ้นใหม่ และแพทย์แผนโบราณของไทย ก็ไม่นิยมมาทำงานร่วมกัน ทางการจึงเปิดโรงเรียนแพทย์เป็นครั้งแรก มีการสอนวิชาแพทย์แผนปัจจุบันขึ้นในโรงศิริราชพยาบาล โดยมีนายแพทย์เฮยส์ แพทย์คณะมิชชันนารี เป็นอาจารย์สอนคนแรก ภายหลังประกาศรับสมัครนักเรียน มีผู้มาสมัคร ๔๐ คน แต่ค่อยๆ หายไป ทีละคนสองคน ที่สุดเหลือ ๑๕ คน นักเรียนแพทย์สมัยนั้นต้องทำสัญญากับกรมศึกษาธิการโดยมีข้อกำหนดว่า (๑) กำหนดเวลาเรียน ๓ ปี (๒) ขณะเรียนได้เงินเดือนๆ ละ ๑๒ บาท และเบี้ยเลี้ยงอีกเดือนละ ๗ บาท (๓) ต้องประจำอยู่ในโรงเรียนตลอดเวลาที่เรียน (๔) เรียนครบ ๓ ปี แล้วจึงสอบ ถ้าสอบได้จะได้เป็นผู้ช่วยแพทย์ตามโรงพยาบาล ได้เงินเดือนๆ ละ ๒๕ บาท จนถึง ๔๐ บาท เป็นอย่างสูง ถ้าสอบตกอนุญาตให้เรียนต่อไปอีก (๕) ถ้าไม่เอาใจใส่ในการเรียน หรือละทิ้งการเรียนนับว่ากระทำผิด นักเรียนจะต้องคืนเงินเดือน และเบี้ยเลี้ยง ต่อกระทรวงธรรมการทั้งสิ้น พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๓ มีทะเบียนนักเรียนแพทย์เป็นหลักฐานเป็นครั้งแรก นักเรียนแพทย์ในสมัยแรกนี้ ได้เรียนทั้งแผนปัจจุบัน และแผนโบราณ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๕ นายแพทย์ ยอร์ช แมคฟาแลนด์ (George McFarland) รับตำแหน่งเป็นนายแพทย์ใหญ่ของโรงศิริราชพยาบาล และสอนวิชาแพทย์แผนปัจจุบันแก่นักเรียนด้วย | |
โรงศิริราชพยาบาล | |
ปลาย พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้มีการสอบไล่วิชาแพทย์เป็นครั้งแรก มีผู้สอบไล่ได้ ๙ คน ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ กรมพยาบาลประกาศเปิด และตั้งชื่อโรงเรียนแพทย์ว่า "โรงเรียนแพทยากร" ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๙ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการฝึกหัดวิชาแพทย์ผดุงครรภ์ขึ้น เพื่อเป็นการอนุเคราะห์ประชาชนทั้งหลาย โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ และให้กรมพยาบาลเป็นผู้จัดการสอน อาศัยอยู่ในโรงศิริราชพยาบาล ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้เริ่มการสอนวิชาแพทย์ผดุงครรภ์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงภาสกรวงศ์ (เปลี่ยน บุนนาค) เป็นผู้อำนวยการ ให้พระยาบำบัดสรรพโรค เป็นผู้สอน มีหลักสูตรการเรียน ๓ ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ สมเด็จพระบรมราชินีนาถขณะทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนแพทย์ ให้มีทั้งที่อยู่ที่กินของนักเรียนให้เป็นหลักฐาน ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงเรียน และพระราชทานนามว่า "โรงเรียนราชแพทยาลัย" ในปีนี้เองมีนักเรียนผดุงครรภ์สอบไล่ได้ครั้งแรก ๑๐ คน โรงเรียนแพทย์ผดุครรภ์ต้องโยกย้ายไปอยู่ที่อื่นเสีย ๓ ปี ดังนั้นนางผดุงครรภ์ที่ออกในรุ่นนี้ จึงไม่ได้มีการสอบไล่ หรือให้ประกาศนียบัตร เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงทรงมีพระราชเสานีย์โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงธรรมการ จัดการวางระเบียบใหม่ โดยให้ติดต่อกับโรงศิริราชพยาบาล | |
โรงเรียนราชแพทยาลัย | |
พ.ศ. ๒๔๔๖ โอนโรงเรียนราชแพทยาลัยมาขึ้นกับกรมศึกษาธิการรับนักเรียนถึง ๑๐๐ คน สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร (ขณะนั้นคือ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์) เสด็จมาเป็นผู้บัญชาการราชแพทยาลัย ทรงปรับปรุงการแพทย์ โดยเพิ่มวิชาที่เรียน และรับนักเรียนที่มีวุฒิสูงขึ้น และทรงเสาะหาอาจารย์ผู้ช่วยสอนอีกด้วย พ.ศ. ๒๔๔๘ ขยายหลักสูตรการศึกษาวิชาแพทย์จาก ๓ ปี เป็น ๔ ปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้ตั้งต้นฝึกหัดบุรุษพยาบาลขึ้น จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๗ จึงหยุดรับนักเรียนประเภทนี้ พ.ศ. ๒๔๕๐ รวมวิชาแพทย์ไทยกับฝรั่งเข้าเป็นอันเดียวกัน เลิกวิชาการแพทย์แผนโบราณ คงให้มีแต่วิชาการแพทย์แผนปัจจุบัน พ.ศ. ๒๔๕๖ ขยายหลักสูตรวิชาแพทย์จาก ๔ ปี เป็น ๕ ปี ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับทางด้านนักเรียนผดุงครรภ์ได้จัดวางระเบียบ และหลักสูตรใหม่ โดยมีการสอนวิชาพยาบาลโดยทั่วไปอย่างกว้างขวางอีกด้วย มีหลักสูตร ๓ ปี ครึ่ง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงเรียนราชแพทยาลัย และโรงศิริราชพยาบาลเข้าในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งเป็นคณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล พ.ศ. ๒๔๖๑ มหาวิทยาลัยได้ขยายหลักสูตร ๕ ปี เป็น ๖ ปี |
นายแพทย์วิกเตอร์ ไฮเซอร์ | มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ นายแพทย์ ไฮเซอร์ (Victor Heiser) ผู้ตรวจการของมูลนิธิร็อกกี เฟลเลอร์ เข้ามาตรวจการสาธารณสุขในประเทศ พร้อมด้วยนายแพทย์บานส์ ได้มาขอดูกิจการ ของมหาวิทยาลัย และคณะแพทยศาสตร์โดยละเอียด ได้พบปะกับเจ้าหน้าที่กระทรวงธรรมการ และมีโอกาสได้เข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีการทาบทามกัน ในการให้มูลนิธิ ช่วยเหลือการแพทย์ ของประเทศไทย | ||
๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ภายหลังที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เชิญไปยัง มูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ ได้มีหนังสือเชิญไปยังมูลนิธิ | |||
นายจอห์น ดี ร็อกกี เฟลเลอร์ | ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ มูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ ส่งนายแพทย์เปียร์สเข้ามาดูกิจการแพทย์ในประเทศไทย | ||
๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๔ นายแพทย์เปียร์สได้ส่งระเบียบการของมูลนิธิ สำหรับจัดการศึกษาแพทยศาสตร์ในคณะแพทย์ มายังรัฐบาลไทยเพื่อวินิจฉัยรับรอง ภายหลังเมื่อรัฐบาลไทยวินิจฉัยแล้วก็ตอบรับไป และได้ทูลเชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระราชบิดา) ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ในยุโรป เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย ในการติดต่อร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทางฝ่ายมูลนิธิ นอกจากนั้น ยังทรงพระกรุณาสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์อีกเป็นจำนวนมาก เข้าช่วยเหลือในการนี้ตลอดมาด้วย เช่น การสร้างสถานศึกษา และมอบทุนการศึกษา
๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ นับเป็นวันเริ่มต้นแห่งการร่วมมือระหว่างมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์กับรัฐบาลไทย ทางมูลนิธิได้ส่งศาสตราจารย์ เอ.จี. เอลลิส (A. G. Ellis) ซึ่งเข้ามาแล้วครั้งหนึ่งในฐานะศาสตราจารย์ทางพยาธิวิทยา เป็นผู้แทนมูลนิธิ และเป็นผู้อำนวยการสอน และดัดแปลงวิชาการแพทย์ ได้ปรับปรุงหลักสูตรในคณะแพทยศาสตร์ เพิ่มการสอนถึงระดับปริญญา ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๔๗๗ เป็นระยะเวลา ๑๒ ปี ซึ่งการแพทย์ในประเทศไทยได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ คือ ก. ช่วยทุนในการสร้างตึกตามโครงการ ให้เหมาะสมเป็นสถานที่เล่าเรียนวิชาแพทย์ ตามมาตรฐานของต่างประเทศ ข. ช่วยจัดหาศาสตราจารย์ชาวต่างประเทศมาประจำแผนกวิชาชั่วคราว รวมทั้งออกเงินเดือน และค่าใช้จ่ายเพิ่ม เฉพาะตัว ศาสตราจารย์ ค. ให้ทุนคนไทยอย่างน้อยแผนกละ ๒ คนออกไปศึกษาเพิ่มเติมในต่างประเทศ เพื่อจะได้กลับเข้ามาเป็นอาจารย์ นอกจากนั้นมูลนิธิยังได้ร่วมมือช่วยปรับปรุงโรงพยาบาลศิริราช และโรงเรียนพยาบาล และผดุงครรภ์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ โดยส่งพยาบาลชาวต่างประเทศเข้ามาชั่วคราว ๕ คน และปรับปรุงทำนองเดียวกับโรงเรียนแพทย์ พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นปีที่การร่วมมือกับมูลนิธิสิ้นสุดลง คณะแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลศิริราชก็ได้ดำเนินการตามรูปงานที่ได้วางไว้ และขยายกิจการบางส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ตลอดจนได้ปรับปรุงทั้งฝ่ายวิชาการ และธุรการให้ก้าวหน้าตลอดมา เพิ่มจำนวนอาจารย์ แพทย์ และพยาบาล เจ้าหน้าที่อื่นๆ รวมทั้งสิ่งก่อสร้าง รากฐานที่วางไว้อย่างดี ทำให้สามารถดำเนินการรักษาพยาบาล และการสอนได้ตลอดสงครามโลกครั้งที่สอง การช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาหลังสงครามสงบ ก็ดำเนินไปด้วยดี บนรากฐานเดิมที่มีอยู่แล้ว |
พ.ศ. ๒๔๘๕ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกา ตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ ซึ่งต่อมาได้ดำเนินกิจการของตนโดยอิสระ | คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
พ.ศ. ๒๕๐๒ มีประกาศพระราชกฤษฎีกา โอนมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จากกระทรวงสาธารณสุข ไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วต่อมา จึงเปลี่ยนมาสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล โดยเปลี่ยนชื่อจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นมหาวิทยาลัยในสังกัดของทบวงมหาวิทยาลัย มีคณะแพทยศาสตร์ ๒ คณะคือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราช และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และตั้งคณะวิทยาศาสตร์ทำการอบรมนักศึกษาในชั้นเตรียม ที่จะเข้าศึกษาต่อในคณะต่างๆ ซึ่งเดิมสอนที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การสร้างโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลศิริราชเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้การแพทย์แผนโบราณของไทยเลิกล้มไป แม้ในระยะแรกโรงพยาบาลจะให้การรักษาพยาบาลทั้ง ๒ แบบ คือ แบบ แผนโบราณ และแผนปัจจุบัน พร้อมทั้งการสอนก็สอนทั้ง ๒ แบบ เช่นกัน แต่ต่อมาการสอนการแพทย์แผนโบราณของไทยไม่เป็นที่ นิยมในหมู่นักศึกษา (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๐) วิธีรักษาพยาบาล ตามการแพทย์แผนโบราณ จึงมีอยู่เฉพาะในหมู่ประชาชนเท่านั้น จากการตั้งโรงพยาบาลศิริราชขึ้นเป็นผลสำเร็จ ทางการได้สร้างโรงพยาบาลเฉพาะเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลโรคจิต โรงพยาบาลโรคทรวงอก โรงพยาบาลโรคเรื้อน และสถานสงเคราะห์ผู้อนาถา เป็นต้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ทรงก่อสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ขึ้น นอกจากจะเป็นโรงพยาบาลทั่วไปแล้ว ยังเป็นที่ทำการของสภากาชาดด้วย และต่อมาก็ได้ก่อตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งที่ ๓ ขึ้น เป็นคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การแพทย์แผนปัจจุบันของประเทศไทยได้เจริญก้าวหน้าขึ้นอีกมาก เมื่อทางการได้ย้ายกรมสาธารณสุข ซึ่งเดิมขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย มาตั้งเป็นกระทรวงสาธารณสุข รวมการศึกษา แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัช และสัตวแพทย์ เป็นกรมมหาวิทยาลัย พร้อมกันนั้นก็กระจายกิจการแพทย์แผนปัจจุบันไปสู่หัวเมือง และชนบท ทำให้ทุกจังหวัดในประเทศไทยขณะนี้ มีโรงพยาบาลประจำจังหวัด และมีโรงพยาบาลขนาดเล็กประจำอำเภอเกือบครบถ้วน ในการขยายกิจการแพทย์ออกไปมากขึ้น ความต้องการ แพทย์ก็มีมากขึ้นเป็นลำดับ ทางการจึงได้สร้างโรงเรียนแพทย์ ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และได้ขยายกิจการของ การแพทย์ของกองทัพเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ขึ้นหลายแห่ง และก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นเป็นแห่งที่ ๒ ในกองทัพบก (โรงเรียนนายทหารเสนารักษ์) ต่อมาได้เลิกล้ม ขณะนี้กำลังดำเนินการให้โรงเรียนแพทย์ทหาร มีมาตรฐานเท่าเทียมกับคณะแพทย์ของฝ่ายพลเรือน |