การแพทย์ในทวีปยุโรปที่ใกล้เคียงกับในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ระหว่างพุทธศักราช ๒๐๕๔ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีฝรั่งเข้ามาในสมัยอยุธยา และ พ.ศ.๒๒๓๑ ซึ่งเป็นปีที่ตรงกับปีสวรรคต ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น เกือบตรงกับ พ.ศ.๒๐๔๓ - ๒๒๔๓ ซึ่งทางฝ่ายยุโรปถือเป็นระยะเวลาที่สำคัญ คือ เป็นระยะเวลาที่มีการฟื้นฟูศิลปวิทยาของยุโรป (Renaissance) เช่น มีการประดิษฐ์การพิมพ์ การพบทวีปอเมริกา และมีการเดินเรือติดต่อกับประเทศอินเดีย ทำให้ประชาชนรวมทั้งรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป มีความกระตือรือร้น ที่จะแสวงหาความรู้ เลิกล้มความเชื่อถือเก่าๆ และพยายามศึกษาหาข้อเท็จจริง ทำให้วิชาการหลายแขนง เจริญก้าวหน้ากว่าเดิมเป็นอันมาก วิชาการแพทย์ของทวีปยุโรป ก็รวมอยู่ในกลุ่มทางวิชาการที่ก้าวหน้านี้ด้วย เพราะมีพื้นฐานดีอยู่แล้ว จากวิชาการแพทย์ที่เจริญอยู่ในประเทศใกล้เคียง และที่มีอิทธิพลมากก็คือ ความรู้ที่เกิดขึ้น ในประเทศกรีซ (Greece) วิชาการที่เห็นได้ชัดเจนคือ ความรู้ในเรื่องร่างกายของมนุษย์ เป็นความรู้ที่ถูกต้อง เพราะศึกษาจากของจริง โดยการชำแหละศพของคน แม้ความรู้เกี่ยวกับร่างกายจะมีอยู่บ้างแต่เดิม ก็ไม่ถูกต้องตรงกับความจริง เพราะศึกษาจากศพของสัตว์ เช่น งานของกาเลน (Galen, ค.ศ.๑๓๐-๒๐๐) ผู้ริเริ่มศึกษาหาความรู้ที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นแพทย์ แต่เป็นศิลปินคนสำคัญของโลก คือ ลีโอนาร์ดา ดา วินซี (Leonardo da Vinci, ค.ศ.๑๔๕๒-๑๕๑๙) ท่านผู้นี้ไม่พอใจความรู้เกี่ยวกับร่างกายที่มีอยู่ เพราะไม่อาจใช้ได้ถูกต้องในการปั้น และการเขียนภาพของคน ท่านจึงลงมือศึกษาเองจากศพ โดยวิธีชำแหละ แต่การศึกษาของท่าน ก็เกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ที่มองเห็นได้จากภายนอก เช่น แขน ขา และลำตัว ไม่ลึกซึ้งเข้าไปถึงอวัยวะภายใน อันเป็นความรู้ที่จำเป็นต่อวิชาแพทย์ เพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรค และการรักษา ความรู้ที่เป็นที่ต้องการอย่างยิ่งเกี่ยวกับวิชาการแพทย์ ได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนโดย อันเดรียส เวซาลิอุส (Andreas Vesalius, ค.ศ.๑๕๑๔-๑๕๖๔) นักกายวิภาคศาสตร์ ชาวเบลเยียม จนกระทั่งได้รับการยกย่องทั่วโลกว่า เป็นบิดา ของวิชากายวิภาคศาสตร์ พร้อมกับความก้าวหน้าในวิชาพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้วิชาการแพทย์ที่เกี่ยวกับการผ่าตัดในส่วนต่างๆ ของร่างกายมนุษย์ก้าวหน้าขึ้น ก็เกิดมีอัจฉริยะบุคคลคือ อัมบรัวซ์ ปาเร (Ambroise Pare, ค.ศ.๑๕๑๐-๑๕๙๐) ชาวฝรั่งเศส คิดแก้ไขวิธีการผ่าตัดให้ปลอดภัย และมีอันตรายน้อยลง เช่น เดิมบาดแผลของแขนขาที่ถูกตัด เพื่อจะให้เลือดหยุด แพทย์จะใช้เหล็กเผาไฟจี้ให้เลือดหยุด (cautery) แต่วิธีนี้เป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อบริเวณนั้น นอกจากจะทำให้แผลหายช้าแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดอย่างสาหัส ปาเรได้แก้ไขโดยวิธีผูกหลอดเลือดแทน ฉะนั้น ปาเรจึงเป็นบุคคลแรก ที่คิดทำคีมจับหลอดเลือดขึ้น ในสมัยของปาเร บาดแผลที่ถูกกระสุนปืน ใช้น้ำมันเดือดราดไปบนแผล อ้างว่า กันไม่ให้แผลเป็นพิษ แต่ปาเรใช้น้ำมันที่สะอาดแต่งแผลแทน ผู้ป่วยไม่มีความเจ็บปวด และแผลหายเร็วขึ้น วิธีของปาเรคงติดมาถึงเมืองไทยในสมัยนั้นด้วย เดอ ฟอร์แบงจึงนำมาใช้ในการรักษาทหารที่ถูกอันตรายที่หน้าท้อง จนลำไส้ และกระเพาะอาหารทะลักออกมาภายนอก ปาเรเป็นคนคัดค้านไม่ยอมให้ใช้เนื้อมัมมี่ และเขาของสัตว์เขาเดียว (Unicorn) ในการรักษากาฬโรค
ปาราเซลซุส
ฝ่ายทางยาหรืออายุรศาสตร์ก็มี ปาราเซลซุส ('Paracel- sus, Phillippus Aureolus', Theophrastus Bombastus Von Hohenheim, ค.ศ. ๑๔๙๓-๑๕๔๑) เป็นผู้แนะนำให้กลับไปใช้วิธีการของฮิปโปคราเตส (Hippocrates, ๕๐๐ ปี ก่อนคริสต์ศักราช) โดยอาศัยธรรมชาติเป็นสำคัญ ทำให้การรักษาพยาบาลดีขึ้น ตัวอย่างคำกล่าวสั้นๆ แบบคำพังเพย (apjorisms) ของฮิปโปคราเตสได้แก่ ผู้ใดชัก สืบเนื่องจากบาดแผลบอกอาการตาย (บาดทะยัก) ผู้ที่มีลักษณะตามธรรมชาติเป็นคนอ้วน มักตายด้วยโรคปัจจุบันยิ่งกว่าคนผอม เมื่อผู้เพ้อหลับลงได้นับเป็นการดี ชีวิตสั้นแต่ศิลปะวิทยาจะอยู่ต่อไปอีกนาน การเปลี่ยนแปลงของโรคเป็นไปโดยรวดเร็ว การทดลองย่อมต้องฝ่าอันตราย การตัดสินใจเป็นเรื่องยาก คนชราจะเป็นโรคต่างๆ ได้น้อยกว่าคนหนุ่มสาว แต่ถ้าคนชราเกิดเป็นโรคเรื้อรังขึ้น โรคนั้นก็มักติดตามไปถึงหลุมศพด้วย อย่าละเลยว่า เป็นสิ่งเล็กน้อย ไม่มีบาดแผลใดที่ศีรษะ แม้เป็นบาดแผลเล็กน้อย ที่อาจจะละเลยได้ และก็ไม่มีบาดแผลใดที่ศีรษะ แม้จะดูร้ายแรงเพียงไรจนคิดว่า จะทำให้ถึงแก่ชีวิตแล้วละเลยเสีย เป็นต้น (คำแปลคำพังเพยนี้ อาจจะยาวไปกว่าตัวจริง แต่เพื่อจะให้เกิดความเข้าใจตามความหมายจึงได้ขยายขึ้นเล็กน้อย) คำพังเพยยังคงใช้ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนั้นยังมีข้อความ ที่ผู้ที่จะดำเนินชีวิตในอาชีพแพทย์ จะต้องกล่าวคำสาบาน (Hippocratic oath) ที่ใช้กันอยู่แพร่หลาย ในหลายแห่งของโลก ทำให้แพทย์มีจรรยาบรรณในการปฏิบัติ ที่เหมาะสม
ที่ประเทศอังกฤษได้ตั้งสมาคมแพทย์ขึ้นโดยทอมัส ลินักร์ (Thomas Linacre, ค.ศ. ๑๔๖๐-๑๕๑๔) ซึ่งเป็นผู้พบว่า มีผู้ที่ให้การรักษาผู้ป่วย เป็นหมอเถื่อนที่ขาดการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาสมาคมนี้ ได้กลายเป็นราชวิทยาลัยแพทย์ แห่งกรุงลอนดอน (Royal College of Physicians of London) ดูแลให้กิจการแพทย์ของประเทศอังกฤษ ดำเนินไปตามหลักการของวิทยาศาสตร์ และ ผู้ทำการรักษาพยาบาลจะต้องได้ใบประกอบโรคศิลป์
เกี่ยวกับประวัติการแพทย์ เท่าที่ได้เอ่ยนามบุคคลต่างๆ มาแล้ว ไม่อาจจะนำรายละเอียดมาเสนอได้ เพราะจะกลายเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่ง เป็นประวัติการแพทย์สากลไป แต่ต้องการจะให้ทราบแต่เพียงว่า การเจริญทางการแพทย์ของประเทศตะวันตกนั้น ย่อมถูกชักนำเข้ามา พร้อมกับผู้มาแสวงโชค ในทางการค้ากับคณะนักบวช คณะทหาร และคณะทูต ที่มาเจริญทางสัมพันธไมตรี พร้อมกับการแพทย์ งานทางวิทยาศาสตร์ก็คงได้นำเข้ามาด้วย เพราะในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ คือจาก ค.ศ. ๑๖๐๐-๑๗๐๐ (พ.ศ. ๒๑๔๓-๒๒๔๓) ได้เกิดอัจฉริยบุคคลขึ้น หลายท่าน เช่น ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon,ค.ศ. ๑๕๖๑- ๑๖๒๖) ผู้เน้นความสำคัญ ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ กาลิเลโอ (Galileo, ค.ศ. ๑๕๖๔-๑๖๔๒) ผู้สร้างกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งเป็นแม่แบบของกล้องจุลทรรศน์ (Compound microscope) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในวิชาการแพทย์ต่อมา โดยบุคคลในตระกูล แจนเซน (Janzen, Z. & H.) โดยใช้เลนส์ที่มีความโค้งออกทั้งสองด้าน ใส่เข้าไปในท่อ ท่านผู้นี้ยังเป็นผู้สร้างให้เกิดความแน่นอน ในการวัด ทำให้การทดลองทางการแพทย์ มีผลแน่นอนขึ้น โดยอาศัยแนวการปฏิบัติของกาลิเลโอ ทำให้แซงตอเรียม (Sanctorium, ค.ศ. ๑๕๖๑-๑๖๓๖) ประดิษฐ์ปรอทใช้วัดความร้อน และต่อมา ได้ประดิษฐ์เครื่องมือวัดชีพจรขึ้น
รอเบิร์ต บอยล์ (Robert Bolye, ค.ศ. ๑๖๒๗-๑๖๙๑) เป็น คนแรกที่แสดงให้เห็นว่าอากาศเป็นวัตถุและมีปริมาตรที่วัดได้ งานของบอยล์ ทำให้ จอน เมยัวร์ (John Mayour, ค.ศ. ๑๖๔๕- ๑๖๗๗) กล่าวว่า อากาศมีส่วนประกอบสำคัญในการหายใจ และเป็นผู้ทำออกซิเจนโดยเผาออกไซด์ และเกือบเป็นผู้พบว่า ออกซิเจน เป็นตัวเปลี่ยนเลือดจากหลอดเลือดดำให้เป็นสีแดง ในศตวรรษเดียวกันนี้ ก็ได้พบการไหลเวียนของเลือดโดยฮาร์วีย์ มีการใช้ เหล็กในการรักษาโรคโลหิตจาง การใช้เปลือกต้นซิงโคนา จากประเทศเปรูในการรักษาไข้จับสั่น ซึ่งได้นำเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา โดยคณะนักบวชตามที่ได้กล่าวแล้ว รู้จักการใช้ปรอทในการรักษาโรคซิฟิลิส โดยโทมัส ซิดเดนแฮม (Thomas Sydenham, ค.ศ. ๑๖๒๔-๑๖๘๙) ผู้ซึ่งแนะแนวในการวินิจฉัยโรค และการรักษาตามแนวของฮิปโปคราเตส จนได้ฉายาว่า ฮิปโปคราเตส ชาวอังกฤษ (English Hippocrates) และมีชื่อสัมพันธ์อยู่กับโรคสันนิบาตลูกนก และการไอชนิดหนึ่ง ซึ่งเนื่องมาจากประสาท