การแพทย์แผนโบราณของไทยที่สืบต่อถึงปัจจุบัน เท่าที่ได้กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า การแพทย์ของไทยโบราณ แม้จะได้รับความรู้มาจากประเทศที่ก้าวหน้าไปบ้างในทางการแพทย์ เช่นประเทศอินเดีย และประเทศจีน ความรู้ที่ได้มาดูจะหนักไปในการรักษาทางยา มากกว่าวิชาการทางศัลยกรรม เพราะผู้ที่จะเป็นศัลยแพทย์ได้ดี จำเป็นจะต้องมีความรู้เรื่องร่างกายของมนุษย์ดีด้วย เมื่อความรู้ทางพื้นฐานไม่แน่นพอ การที่นำวิชาการไปถ่ายทอดต่อไปจึงไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ เข้าใจว่า การรักษาโรคภัยไข้เจ็บในสมัยสุโขทัย คงเป็นการรักษา โดยใช้ยา เป็นวิธีการที่สำคัญ แม้กระนั้นเท่าที่ได้สืบค้นมาถึงขณะนี้ ยังไม่พบบันทึกใดที่เกี่ยวกับการใช้ยาหรือวิธีการใด ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ในสมัยสุโขทัยหรือก่อนหน้านั้น แต่มีหลักฐานอยู่ประการหนึ่ง ซึ่งยังเป็นที่โต้เถียงกันมาก คือ ได้พบแผ่นหินที่มีช่องเจาะ และมีรอยเท้า ๒ ข้างเหมือนฝาปิดส้วมซึมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ขณะนี้ชิ้นหนึ่ง ยังตั้งแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติรามคำแหง จังหวัดสุโขทัย นายแพทย์สำราญ วังสพ่าห์ เข้าใจว่า เป็นฝาส้วมจริงๆ ถ้าเป็นจริง ก็แสดงว่า ประชาชนในกรุงสุโขทัยมีความก้าวหน้าในเรื่องสุขภาพอนามัยยิ่งกว่าชาวชนบทในปัจจุบัน คือ รู้จักควบคุมอุจจาระ ไม่ให้แพร่กระจาย อันเป็นสาเหตุของโรคที่พบในปัจจุบันหลายโรค แต่บางท่านก็ไม่เชื่อ กลับไปอธิบายว่า เป็นฐานรองรับศิวลึงค์ในลัทธิฮินดู ผู้เขียนทดลองไปนั่งดู เท้าทั้งสองข้างวางได้ที่ แต่เกิดสงสัย เพราะถ้าถ่ายอุจจาระจริงๆ อุจจาระ จะเลยรูที่เจาะไว้ การแพทย์ที่ใช้อยู่ในสมัยสุโขทัยคงสืบต่อมาจนถึงสมัยอยุธยา และอาจสืบต่อมาถึงปัจจุบันด้วย เพราะตำรายาไทยที่พบ และใช้มากมาย ก็เป็นตำรับที่สืบต่อกันมา ไม่สามารถจะกล่าวได้ว่า ได้มีผู้ใดตั้งตำรับประสมยาขนานใดขนานหนึ่งขึ้นใหม่ แต่ตำรับยาแต่ละตำรับ ก็สืบเนื่องกันมาตามการอบรมการเป็นแพทย์ในสมัยนั้นๆ คือ การแพทย์แผนโบราณ ไม่ปรากฏมีโรงเรียน และมีหลักสูตรแน่นอน การจะเป็นแพทย์ก็คือเข้าไปฝึกฝนกับอาจารย์คนใดคนหนึ่งโดยตรง แบบชีวกโกมารภัจจ์ ที่เดินทางไปศึกษาที่เมืองตักกสิลา ศึกษากับอาจารย์คนใดคนหนึ่งตามความรู้ความชำนาญของอาจารย์คนนั้น ซึ่งผิดกับการอบรมแพทย์ตามแผนปัจจุบันมาก เพราะเมื่อได้จำแนกวิชาลงไปแล้ว โรงเรียนแพทย์แผนปัจจุบัน ก็หาอาจารย์มาสอนเฉพาะแขนงวิชานั้นๆ ไม่ได้มอบหมายศิษย์คนใดคนหนึ่ง กับอาจารย์ท่านใดท่านหนึ่งอบรมสั่งสอน ตลอดหลักสูตรของการเรียนแพทย์ แพทย์ที่เป็นอาจารย์จึงอาจฝึกฝนในวิชาของตนให้มีความรู้กว้างขวางขึ้น แต่ก็ไม่อาจจะรู้ไปทุกแขนงวิชาของการแพทย์ ความรู้อาจจะก้าวหน้าจริงตามความสามารถ ความชำนาญ และการสืบสวนค้นคว้าของอาจารย์ แต่ก็ไม่สามารถถ่ายทอดวิชาที่ตนรู้ทั้งหมดแก่ศิษย์คนใดคนหนึ่งได้ เพราะเขาจะไปเล่าเรียนกับอาจารย์คนอื่นๆ ในแขนงวิชาต่างๆ จนจบหลักสูตรการแพทย์ ต่อจากนั้น จึงจะมาเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในสาขาใดสาขาหนึ่ง ตามความสมัครใจของศิษย์ผู้นั้นภายหลังเมื่อสำเร็จแพทย์แล้ว แม้ในหนังสือบางเล่มจะกล่าวถึง วิธีการเรียนแพทย์แผนโบราณว่า คล้ายการแพทย์แผนปัจจุบัน คือ มีการเพ่งเล็งสมุฏฐานของโรคว่า คือ สาเหตุการเกิดโรค ในการทายโรค และวินิจฉัยโรค แต่การแพทย์แผนปัจจุบันแม้จะศึกษาสาเหตุของการเกิดโรคเช่นกัน แต่ก็พิจารณาการเป็นโรค นอกจากสาเหตุแล้ว ยังพิจารณาอวัยวะที่เป็นโรคไปพร้อมกันด้วย สมุฏฐานของโรค ในการแพทย์แผนโบราณไม่ได้เพ่งเล็งที่อวัยวะ หรือแม้จะเพ่งเล็งก็น้อยมาก ฉะนั้นจึงจัดสมุฏฐานออกเป็น ธาตุสมุฏฐาน คือ สมุฏฐานของการเปลี่ยนแปลงแปรปรวนของธาตุทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน (ปัถวีธาตุ) ธาตุน้ำ (อาโปธาตุ) ธาตุลม (วาโยธาตุ) และธาตุไฟ (เตโชธาตุ) แม้จะมีฤดูสมุฏฐาน คือ สาเหตุจากความเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ อายุสมุฏฐาน คือ อายุของบุคคล มีความโน้มเอียงที่จะเกิดโรคต่างๆ ได้ และ กาลสมุฏฐาน คือ โรคซึ่งเกิดขึ้นตามเวลาแห่งวัน ทั้ง ๓ สมุฏฐานที่กล่าว ก็เป็นเพียงข้อปลีกย่อยที่นำไปประกอบธาตุสมุฏฐานทั้ง ๔ ดังตัวอย่างที่ย่อจากคู่มือการศึกษาวิชาเวชกรรม (พ.ศ. ๒๕๑๓) ต่อไปนี้ กองที่ ๒ กองอุตุสมุฏฐาน (ฤดูสมุฏฐาน) แปลว่า ฤดูเป็นที่ตั้งที่ แรกเกิดของโรค แบ่งออกเป็น ๓ หมวด ... หมวดที่ ๒ ในปีหนึ่ง แบ่ง ๔ ฤดู เป็นฤดูละ ๓ เดือน ฤดูที่ ๑ นับจากขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ เดือน ๖ ถึงสิ้นเดือน เป็นสมุฏฐานเตโชธาตุ ... หมวดที่ ๓ ในปีหนึ่งแบ่ง ๖ ฤดู เป็นฤดูละ ๒ เดือน ฤดูที่ ๕ นับจากแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ ถ้าเป็นไข้เป็นเพื่อวาโย ธาตุ เสมหะและปัสสาวะ กองที่ ๓ กองกาละสมุฏฐาน แบ่งออกเป็น ๔ ตอน (ยาม) ... ตอนที่ ๔ เวลากลางวัน นับแต่ ๑๕.๐๐ น. ถึง ๑๘.๐๐ น. เวลากลางคืน นับตั้งแต่ ๐๓.๐๐ น. ถึง ๐๖.๐๐ น. เป็นสมุฏฐาน วาโยธาตุ จากตัวอย่างดังกล่าวธาตุทั้ง ๔ คือ ธาตุสมุฏฐานจึงเป็น รากฐานในการแพทย์แผนโบราณของไทย | |
ปัถวีธาติ เป็น | อา |
วา | เตโชธาตุ เป็น |
รวม ขอ |