เล่มที่ 12
การแพทย์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ความสำคัญของบริการทางการแพทย์ และการสาธารณสุขในชุมชน

            ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ องค์การอนามัยโลก ได้มีการประชุมคณะกรรมการใหญ่ และกำหนดนโยบายที่แน่ชัดว่า ภายใน ๒๐ ปี ข้างหน้า ประชาชนทุกคนในโลก โดยเฉพาะในประเทศด้อยพัฒนา ควรมีสิทธิเท่าเทียมกันในเรื่องสุขภาพอนามัยที่ดีของตนเอง

            กลวิธีที่เชื่อว่าจะบันดาลให้เกิดผลดังกล่าว ได้ คือ การสาธารณสุขมูลฐาน กระทรวงสาธารณสุขจึงได้นำกลวิธีนี้ กำหนดไว้ในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ (๒๕๒๐- ๒๕๒๔) ขณะนี้มีการร่วมมือกันอย่างจริงจังระหว่าง ๔ กระทรวงหลัก คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการพัฒนาชุมชน โดยมีการสาธารณสุขมูลฐานเป็นเครื่องมือหลักที่สำคัญ

            มีเหตุปัจจัยประจวบเหมาะหลายประการ ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนขึ้นได้อย่างกว้างขวาง ดังกล่าว แต่เหตุที่สำคัญที่สุด ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปคือ การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสนพระทัยและปฏิบัติอย่างจริงจังมาเป็นเวลาช้านาน ได้ทรงสละเวลาออกไปในชนบทและถิ่นทุรกันดาร เพื่อทรงสอดส่องดูแล เยี่ยมเยียน และแนะนำ สิ่งที่ทรงทำ เป็นหัวใจ ของการสาธารณสุขมูลฐาน ก่อนที่จะมีการใช้คำนี้กัน สิ่งเหล่านี้เป็นแรงดลใจให้ทางราชการ รัฐบาล และฝ่ายอื่นๆ สนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง จนเกิดความเห็นพ้อง และมีนโยบายทางการเมือง เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาชุมชนดังกล่าว


การประชุมชาวบ้านเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพอนามัย

            การสาธารณสุขมูลฐาน จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริม และสนับสนุนจากการแพทย์ และการสาธารณสุขระดับอื่น ซึ่งต้องเชื่อมโยงพึ่งพากัน เช่น การสนับสนุนในทางวิชาการ เทคโนโลยี การพัฒนากำลังคน การศึกษาวิจัย และการรับ การส่งต่อผู้ป่วยที่มีปัญหายากเกินความสามารถของชุมชน โครงการตามพระราชประสงค์ในปัจจุบัน มีบทบาทอย่างสูง ต่อการสร้างความเข้มแข็ง ให้ชุมชนสามารถก้าวไปสู่จุดหมายตามแนวทางการพัฒนา ซึ่งอาจพิจารณาได้เป็น ๓ ประการดังนี้

            ๑. ทางด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งเป็นผลที่ได้รับได้โดยตรง จะช่วยแก้ปัญหาการเจ็บป่วย หรือทุพพลภาพได้เป็นจำนวนมาก ในปีหนึ่งๆ จำนวนราษฎรทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมดที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ ในการบำบัดรักษาจากหน่วยแพทย์พระราชทานนั้น เป็นชาวชนบทผู้ยากจน หรือเป็นเกษตรกร ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

            ๒. ทางด้านเศรษฐกิจ ราษฎรเจ็บป่วย เมื่อได้รับการบำบัดรักษาให้มีสุขภาพพลานามัยที่ดีแล้ว ก็สามารถประกอบอาชีพได้ เกิดผลิตผล มีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว เศรษฐกิจของแต่ละครอบครัวดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจส่วนรวมของสังคม
ดีขึ้นด้วย

            ๓. ทางด้านสังคมจิตวิทยา ราษฎรผู้เจ็บป่วย ได้รับความช่วยเหลือให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน มีสุขภาพแข็งแรง หรือผู้ทุพพลภาพพิการก็ได้ รับการแก้ไข จนสามารถเข้าสังคมกับคนทั่วไปได้
บุคคลเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ย่อมก่อให้เกิดสายใยเชื่อมโยงความรักความสามัคคีของชนในชาติ โดยมีองค์พระประมุขของชาติ เป็นศูนย์รวมแห่งสายใยนั้น