หลักการและเหตุผลของการสาธารณสุขมูลฐาน ตามนโยบายการเร่งรัดพัฒนาชนบท ที่จะทำให้ประชาชนในชนบทส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งมีฐานะยากจน ด้อยการศึกษา และมีสถานภาพทางสุขภาพต่ำ ให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้นนั้น รัฐบาลถือว่า สุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศ ประชาชนในชนบท เป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศ จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องได้รับการบริการสุขภาพที่ดี แต่การบริการสาธารณสุขที่รัฐบาลได้ดำเนินการมา ยังไม่สามารถครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ได้ งบประมาณที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับประมาณ ร้อยละ ๔ - ๕ ของงบประมาณทั้งประเทศนั้น ส่วนใหญ่ถึงร้อยละ ๖๕ - ๘๐ นำไปใช้ในการจัดสร้างสถานบริการสาธารณสุขต่างๆ เช่น โรงพยาบาล สถานีอนามัย และสำนักงานผดุงครรภ์ ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดบริการสาธารณสุข สามารถให้บริการประชาชนได้ครอบคลุมเพียงร้อยละ ๑๕ - ๓๐ เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกับสถานบริการสาธารณสุข เช่น ในเขตเมืองหรือตำบลใกล้เคียง นอกจากมีงบประมาณจำกัดแล้ว การกระจายบุคลากรทางการแพทย์ และการสาธารณสุขยังไม่สมดุลกันอีกด้วย คือ แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขส่วนใหญ่ ประจำอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือตามเมืองใหญ่ มีเพียงส่วนน้อยที่ประจำอยู่ในชนบท และเหตุผลที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ สถานบริการสาธารณสุขที่มีอยู่นั้น ประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร ทั้งทางด้านการรักษาพยาบาล การ ส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสุขภาพ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ในเรื่องสุขภาพอนามัย และประโยชน์ ของสถานบริการสาธารณสุขของรัฐที่มีอยู่ | ||
โรงพยาบาลจังหวัด สถานบริการสาธารณสุขระดับจังหวัด | ||
บริการสาธารณสุขของรัฐบาลได้ดำเนินการ มากว่า ๔๐ ปี โดยการจัดเป็นระบบที่สอดคล้อง กับระบบการบริหารงานส่วนภูมิภาค คือ ตำบล อำเภอ จังหวัด ในระดับตำบล กระทรวงสาธารณสุขจัดให้มีสถานีอนามัย และมีเจ้าหน้าที่ สาธารณสุขอย่างน้อยสองคนอยู่ประจำให้บริการ สาธารณสุขพื้นฐาน ในระดับอำเภอมีโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลชุมชน ในทุกอำเภอที่มีประชาชน อยู่ค่อนข้างหนาแน่น มีแพทย์ประจำอย่างน้อย ๑ คน และเจ้าหน้าที่อื่นๆ รวมเป็นทีมงานบริการ สาธารณสุข งานของโรงพยาบาลชุมชนนั้น มีความสามารถสูงกว่าบริการสาธารณสุขพื้นฐาน ที่สถานีอนามัยตำบล เพราะมีงานด้านการรักษาพยาบาลและดูแลผู้ป่วยมากกว่า นอกจากนั้น โรงพยาบาลชุมชนยังคอยรับรักษา หรือให้คำปรึกษา เมื่อสถานีอนามัยตำบลได้ส่งผู้ป่วยที่เกินขีดความสามารถที่ตนจะทำการรักษาได้มาให้ ในเรื่องของการเจ็บป่วยโดยทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนสามารถให้การช่วยเหลือได้แทบทั้งหมด ยกเว้นแต่อาการป่วยบางชนิดที่ต้องการการดูแล หรือการตรวจอย่างละเอียดถี่ถ้วน หรือต้องการ ผ่าตัดที่ค่อนข้างจะซับซ้อน โรงพยาบาลชุมชน จึงจะส่งต่อไปให้โรงพยาบาลจังหวัด หรือที่เรียกว่า โรงพยาบาลทั่วไปในขณะนี้ โรงพยาบาล ทั่วไปมีการรักษากว้างขวางและลึกซึ้งมากกว่า โรงพยาบาลชุมชน เพราะมีแพทย์ เจ้าหน้าที่ และวัสดุอุปกรณ์ ที่จำเป็น ในการรักษาพยาบาลมากกว่า แม้รัฐบาลจะได้พยายามจัดให้มีระบบ บริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง แต่ก็ยังมีปัญหา ซึ่งนับว่าจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก ทรัพยากรของ รัฐมีจำกัด และประชาชนเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี ประกอบกับในปัจจุบันและอนาคต ทรัพยากร ธรรมชาติก็จะลดลง ถ้าสภาพทางเศรษฐกิจและ สังคมเติบโตช้าก็จะไม่ทันสนองความต้องการ พื้นฐานของประชาชนได้ ด้วยเหตุนี้บริการสาธารณสุขที่รัฐจัดให้ อาจไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้ ถ้าหากไม่หากลวิธีในการแก้ปัญหาเสียใหม่
นอกจากนี้ เหตุผลที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ปัญหาสาธารณสุขที่พบในชนบทนั้น มากกว่า ร้อยละ ๗๐ เกิดจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจเรื่องราว ของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งสามารถป้องกันได้ ด้วยตนเอง ความไม่รู้และไม่เข้าใจนี้ ทำให้ประชาชนต้องประสบกับอันตรายยิ่งขึ้น เมื่อมีโรคร้ายแรงแล้ว จะลองดูแลรักษากันเอง โดยไม่ไปปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่สถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลจังหวัดในระยะ เริ่มแรก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตไปโดยไม่ควรเหตุผล ที่สำคัญมากประการสุดท้ายก็คือ สุขภาพอนามัย นั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคล ทุกคนมีสิทธิโดยชอบธรรม ที่จะรู้ และมีส่วนรับผิดชอบในสุขภาพอนามัยของตนเอง รัฐบาลมีหน้าที่ให้ประชาชนมีความรู้ ความสามารถ ที่จะป้องกันดูแลตนเอง อย่างเท่าเทียมกัน | ||
โรงพยาบาลชุมชนสถานบริการสาธารณสุขระดับอำเภอ | ||
ดังนั้น การที่จะขยายบริการสาธารณสุข ให้ครอบคลุมประชากรในชนบทให้มากยิ่งขึ้น มีการใช้ประโยชน์ของสถานบริการต่างๆ อย่างเต็มที่ ประชาชนสามารถรักษาโรคอย่างง่ายๆ ได้ เพราะประชาชนได้มีส่วนรับผิดชอบสุขภาพอนามัยของตนเอง กระทรวงสาธารณสุขจึงคำนึงถึงกลวิธีใหม่ คือ พัฒนาประชาชนให้เกิดความรู้ความสามารถ ที่จะช่วยเหลือ หรือดำเนินการสาธารณสุขที่จำเป็นขั้นมูลฐาน หรือพื้นฐานได้ด้วยตนเอง โดยวิธีการนี้ ก็จะมีงานสาธารณสุขที่ประชาชนทำได้ และที่ประชาชนทำไม่ได้ รัฐบาลจะทำในสิ่งที่ประชาชนทำไม่ได้ และจะต้องทำการพัฒนาสนับสนุนให้ประชาชนเกิดความสามารถ ทำในสิ่งที่เขาสามารถทำได้ โดยอาศัยวิทยาการต่างๆ เมื่อเป็นเช่นนี้จะพอเห็นได้ว่า แม้ว่าทรัพยากรไม่เพิ่มขึ้น บริการสาธารณสุขที่จำเป็นขั้นมูลฐาน หรือพื้นฐานก็สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทุกคน |