สาระสำคัญของการสังคมสงเคราะห์ ผู้ทำกิจกรรมการสังคมสงเคราะห์เรียกว่า "นักสังคมสงเคราะห์" นักสังคมสงเคราะห์มี ๓ ประเภท ประเภทที่ ๑ คือ นักสังคมสงเคราะห์อาชีพ หมายถึง ผู้ที่ได้ผ่านการศึกษาทางสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ จากสถาบันการศึกษาทางสังคมสงเคราะห์ จนได้ปริญญาทางด้านนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่ปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ เราก็ยังเรียกว่า นักสังคมสงเคราะห์อาชีพประเภทที่ ๒ คือ ผู้อาสาปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "อาสาสมัคร สังคมสงเคราะห์" หมายถึง ผู้ที่มีความศรัทธาในการทำงาน เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยไม่รับเงินเดือน หรือค่าตอบแทนใดๆ งานที่ทำเป็นงานที่ไม่เหลือความสามารถ และรับทำ โดยพิจารณาตามเวลาว่างที่มี ประเภทที่ ๓ คือ ผู้ช่วยงานสังคมสงเคราะห์ หมายถึง ผู้ทำงานเคียงข้างนักสังคมสงเคราะห์อาชีพ ให้ความช่วยเหลือ เตรียมงาน และมีส่วนร่วมในการทำงาน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของวิชาชีพ คนเหล่านี้ไม่มีคุณวุฒิทางสังคมสงเคราะห์ การทำงานนั้นได้รับค่าตอบแทน |
ผู้ประสบภัยไร้ที่อยู่อาศัย |
สำหรับผู้รับบริการในงานสังคมสงเคราะห์ มีหลายกลุ่มเช่นเดียวกัน ถ้าจะแบ่งกลุ่มผู้รับบริการที่ประสบปัญหาสังคม ตามการปฏิบัติงานของกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการโดยตรง ที่รับผิดชอบในการดำเนินงาน ส่งเสริม และสนับสนุนการสังคมสงเคราะห์ เพื่อสวัสดิภาพ และความผาสุกของประชาชน แบ่งได้ดังต่อไปนี้ กลุ่มเด็กและเยาวชน ได้แก่ เด็กกำพร้า อนาถา ถูกทอดทิ้ง เร่ร่อน พิการทางร่างกาย หรือจิตใจ มีปัญหาทางความประพฤติ เด็กยากจน ขาดการศึกษา เด็กที่กระทำความผิด และศาลสั่งให้เข้ารับการฝึกอบรม กลุ่มสตรี ได้แก่ หญิงม่ายที่ต้องการความช่วยเหลือ โสเภณี สตรีตั้งครรภ์นอกสมรส สตรีที่สามีต้องโทษจำคุก สตรีที่ยากจน ขาดการศึกษา และสตรีที่มีบุตร แต่สามีไม่รับเลี้ยง กลุ่มหัวหน้าครอบครัว ได้แก่ หัวหน้าครอบครัวที่มีปัญหาความแตกแยก หย่าร้าง ไม่มีงานทำ ไม่มีอาชีพ และหัวหน้าครอบครัว ซึ่งไม่มีที่พึ่ง (ขอทาน) กลุ่มคนชรา ได้แก่ คนที่ไร้ญาติ ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือคนชราที่อยู่กับครอบครัวไม่มีความสุข กลุ่มคนพิการ ได้แก่ คนปัญญาอ่อน คนที่พิการทางด้านร่างกาย และจิตใจ กลุ่มผู้ประสบสาธารณภัย ได้แก่ ผู้ที่ประสบสาธารณภัยทุกชนิด ผู้ที่พ้นโทษแล้วไม่มีญาติ พี่น้อง ผู้ที่ติดยาเสพติด ผู้ที่ตายโดยไร้ญาติขาดมิตร ผู้อพยพมาจากประเทศอื่น (ผู้ลี้ภัย) ชนกลุ่มน้อยที่มีปัญหา |