เล่มที่ 12
การสังคมสงเคราะห์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
สมาคมและมูลนิธิเพื่อการกุศลบางองค์การ

๑. มูลนิธิอานันทมหิดล


            เป็นมูลนิธิที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น ด้วยทรงสนพระราชหฤทัย ในสวัสดิภาพ และความเป็นอยู่ของประชาชน ทรงตระหนักว่า ประเทศของเราจำต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ ในวิชาเทคนิคชั้นสูงเป็นจำนวนมากขึ้น และเพื่อผลิตบุคคลชั้นนำในวิชานั้นๆ จึงควรส่งเสริม และสนับสนุนนักศึกษา ผู้แสดงความสามารถอย่างยอดเยี่ยม ให้ได้มีโอกาสไปศึกษาในต่างประเทศ ในวิชาชั้นสูงบางวิชาโดยเฉพาะ เมื่อสำเร็จการศึกษาเพิ่มเติมกลับมาแล้ว จะได้มาทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาที่เรียนมา

            ด้วยพระราชดำริตามนัยที่ว่านี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองดำเนินการไปก่อน ด้วยทุน "อานันทมหิดล" ใน พ.ศ. ๒๔๙๘ โดยที่สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ ได้ทรงสนพระทัย และทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์มา และได้พระราชทานทุนแก่นักศึกษาแพทย์ให้ไปเรียน ณ ต่างประเทศ จนได้กลับมามีชื่อเสียงในวิชาการที่ได้เรียนมา เมื่อได้ทรงตั้งทุน "อานันทมหิดล" ขึ้นแล้ว ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนให้แก่นักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ เป็นประเดิม และที่ได้พระราชทานชื่อของทุนว่า "อานันทมหิดล" นั้น ก็เพื่อให้เป็น พระบรมราชานุสรณ์ ในพระมหากรุณาธิคุณที่ สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้พระราชทาน แด่พระองค์ท่านตลอดมา

            ทุน "อานันทมหิดล" ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๙๘ นั้น ต่อมาได้มีพระบรมราชวินิจฉัย ให้เปลี่ยนสภาพจาก "ทุน" เป็น "มูลนิธิ" ชื่อว่า มูลนิธิ "อานันทมหิดล" เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๐๒

            เนื่องจากความต้องการผู้เชี่ยวชาญ ในวิชาแขนงอื่นมีมากขึ้น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายงานของมูลนิธิฯ เพิ่มขึ้น กำหนดวิชาอื่น นอกจากแพทยศาสตร์เข้ารวมด้วย เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา และวารสารศาสตร์

๒. มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

            เมื่อวาตภัย และอุทกภัยเกิดขึ้น ในจังหวัดภาคใต้ ใน พ.ศ. ๒๕๐๕ ปรากฏว่า ราษฎรในตำบลแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช และบางแห่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งอยู่ริมทะเลได้รับภัยอย่างหนัก สูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงนำประชาชนให้ช่วยเหลือพี่น้องร่วมชาติ ผู้ประสบเคราะห์กรรมเหล่านั้น โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวัง ดุสิต ซึ่งเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงส่วนพระองค์ ออกข่าวรับบริจาคเงิน และสิ่งของ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติเป็นครั้งแรก ทำให้ประชาชนทั้งชาติ แม้กระทั่งชาวต่างประเทศตื่นตัวพากันบริจาคเงินและสิ่งของ โดยเสด็จพระราชกุศลมากมาย เฉพาะเงินสดได้รับประมาณ ๑๑ ล้านบาท หลังจากได้พระราชทานไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหล่านั้นแล้ว ปรากฏว่า เงินที่ได้รับบริจาคนั้นยังเหลือ อยู่อีกถึง ๓ ล้านบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ให้จัดตั้งเป็น "มูลนิธิราชประชานุเคราะห์" ซึ่งหมายถึง มูลนิธิที่พระมหากษัตริย์ และประชาชน ร่วมกันจัดตั้งขึ้น มีวัตถุประสงค์ให้เป็นมูลนิธิที่ช่วยผู้ประสบสาธารณภัยทั่วประเทศ โดยฉับพลัน ไม่ว่าภัยนั้นจะเกิดจากไฟไหม้ น้ำท่วม หรือพายุพัด และทรงรับมูลนิธิไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

            พระราชจริยาวัตรที่ทรงปฏิบัติในครั้งนั้น ได้ดึงดูดความสนใจของประชาชนทั้งประเทศ มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินและสิ่งของ สมทบทุนมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ โดยเสด็จพระราชกุศลเป็นจำนวนมาก เงินทุนของมูลนิธิฯ ได้เพิ่มจาก ๓ ล้านบาท ในปีแรก เป็น ๑๒ ล้านบาท และได้มีผู้อาสาสมัครเสียสละเวลาเข้าไปรับการอบรม เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในเวลาที่มูลนิธิฯ ต้องการถึง ๖๐๐ คน

๓. มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์

            ที่มาของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เริ่มต้นมาตั้งแต่ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศมานานกว่า ๒๐ ปีแล้ว โดยที่การเสด็จพระราชดำเนินไปแต่ละครั้งนั้น มิได้เพียงแต่เสด็จฯ ไป เพื่อทรงเยี่ยมเยียนไต่ถามทุกข์สุข แล้วก็ผ่านเลยไปเท่านั้น แต่จะทอดพระเนตรประชาชนที่มาคอยเฝ้าอยู่นั้น อย่างเอาพระทัยใส่ เวลาที่ทรงหยุดมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรผู้ใด ก็จะทรงไต่ถามถึงการทำมาหากิน ความเป็นอยู่ในครอบครัวอย่างละเอียด จะทรงครุ่นคิด และกังวลพระทัยเสมอว่า ราษฎรที่ทรงพบนั้น มีความลำบาก มีลูกมาก การทำมาหากิน โดยอาชีพหลัก คือ การทำนา หรือการทำเกษตรกรรม ก็ต้องขึ้นอยู่กับภาวะของดินฟ้าอากาศเป็นส่วนใหญ่ ที่ทำกินก็มีกันไม่มากนัก หรือไม่มีเลย บางปีฝนแล้ง บางปีน้ำท่วม จึงมีพระราชดำริว่า น่าจะมีอาชีพอื่นมาเสริมรายได้ของครอบครัวเกษตรกรเหล่านี้ เมื่อแรกที่ทรงเริ่มงาน หางานอาชีพเสริมให้แก่ราษฎรเหล่านี้ ต้องทรงใช้เวลาซักถาม หาข้อมูลจากราษฎรในท้องถิ่นนั้นๆ ว่า มีความรู้ หรือคุ้นเคยกับงานฝีมือชนิดใดบ้าง ทั้งงานทอ งานสาน และอื่นๆ หรือสอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่อยู่ ณ ที่นั้นว่า ในอดีต เคยมีงานฝีมือประจำของท้องถิ่นนั้นหรือไม่ วัสดุที่จะใช้ทำงานฝีมือมีมากน้อยแค่ไหน งานเหล่านั้นยังมีผู้ทำเป็นอยู่ หรือว่าสูญหายไปแล้ว

            ด้วยทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ และตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะช่วยเหลือราษฎรของพระองค์ เมื่อแรกเริ่ม จึงทรงใช้จ่ายจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต่อมากิจการขยายกว้างขวางออกไป บรรดาข้าราชบริพาร และผู้ที่ทรงคุ้นเคย จึงกราบบังคมทูล ขอพระราชทานให้ทรงจัดตั้งเป็นมูลนิธิขึ้น แต่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริว่า โครงการของพระองค์ยังไม่มีรากฐานมั่นคง และยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จึงไม่มีพระราชประสงค์จะรบกวนให้ใครมารับภาระ พระองค์ทรงดำเนินโครงการต่อไป จนคุณประโยชน์ของโครงการนี้ แพร่หลายเป็นที่ประจักษ์ชัด และต้องใช้บุคลากรเพิ่มขึ้นหลายฝ่าย ผู้มีจิตศรัทธา และข้าราชบริพาร จึงรวบรวมเงินจำนวนหนึ่ง ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ขอพระราชทานให้ทรงจัดตั้งเป็นมูลนิธิได้สำเร็จ มูลนิธิจึงมีกำเนิดขึ้น เมื่อ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๑๙ ได้รับพระราชทาน นามว่า "มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ" ทรงพระกรุณารับเป็นองค์ประธานมูลนิธิ และทรงรับมูลนิธินี้ไว้ ในพระบรมราชินูปถัมภ์

            วัตถุประสงค์ของมูลนิธิก็คือ เพื่อสงวน รักษา สนับสนุน ปรับปรุง และให้การฝึกอบรม เกี่ยวกับการประดิษฐ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน เพื่อให้เป็นอาชีพเสริม แก่ชาวไร่ชาวนา ในยามว่างจากฤดูทำไร่ ทำนา หรือในยามที่พืชผลเสียหาย เพราะดินฟ้าอากาศไม่อำนวย หรือราคาตกต่ำ ก็จะมีการประกอบอาชีพเสริม ได้รายได้ทดแทน

            นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นต้นมา มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษฯ ได้เป็นผู้จัดดำเนินงาน ตามโครงการศิลปาชีพพิเศษ มาจนกระทั่งบัดนี้ งานตามโครงการ ได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางมาก โดยเฉพาะในท้องถิ่นที่ชาวไร่ชาวนาอัตคัดขัดสน มีรายได้ไม่พอที่จะเลี้ยงครอบครัว
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร และพระราชทารนความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ประสบความเดือดร้อน
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร
และพระราชทารนความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ประสบความเดือดร้อน
๔. มูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

            มูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๑๘ อันเป็นวันคล้ายวันประสูติ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานกรรมการมูลนิธิฯ เพื่อสนองพระราชปรารภของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการที่จะให้ความสงเคราะห์ช่วยเหลือทหาร ตำรวจ และพลเรือนอาสาสมัคร ซึ่งยอมอุทิศชีวิต เลือดเนื้อ ตลอดจนยอมเสียสละความสุขส่วนตัว ออกไปปฏิบัติหน้าที่ เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ และเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของประชาชนชาวไทย โดยการมอบเงินช่วยเหลือแก่ครอบครัว ผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ทุพพลภาพ เป็นรายเดือน ตลอดชีวิต

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทอดพระเนตรงานฝีมือของทหารพิการมูลนิธีสายใจไทยฯ
            นอกจากนี้ องค์ประธานกรรมการ ยังทรงมีพระราชปรารภห่วงใยในเรื่องอาชีพและ ความเป็นอยู่ของผู้ที่ทุพพลภาพ ซึ่งไม่สามารถ กลับไปประกอบอาชีพเดิมได้ โดยทรงมีพระดำริ ให้มีการฝึกอาชีพแก่บุคคลเหล่านี้ เพื่อให้เขามี ความรู้สึกว่า แม้ร่างกายจะพิการ ไม่สามารถ ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยรบได้อีก แต่ก็ยังสามารถ ปฏิบัติงานที่เกิดประโยชน์แก่ตนเองและประเทศชาติได้ และยังมีรายได้จุนเจือครอบครัว นอก เหนือจากเงินที่มูลนิธิฯ ได้ช่วยเหลืออยู่

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯเยี่ยมทหารหาญ และพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ทหารหาญ

            ปัจจุบัน มูลนิธิสายใจไทยฯ ได้มีส่วนอย่างสำคัญในการช่วยเหลือทหาร ตำรวจ และพลเรือนอาสาสมัคร ซึ่งได้รับบาดเจ็บ และพิการ จากการปฏิบัติราชการป้องกันประเทศ สำหรับผู้ที่สูญเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ ครอบครัวก็ได้การอุปถัมภ์ต่อไป

๕. สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

            สภาสังคมสงเคราะห์ฯ ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ ด้วยความริเริ่มของกรมประชาสงเคราะห์ และองค์การเอกชนจำนวนหนึ่ง โดยมีความมุ่งหมายที่สำคัญ เพื่อเป็นศูนย์ประสานงาน และให้การส่งเสริมองค์การสังคมสงเคราะห์ในประเทศไทย

ประชาชนชาวกรุงเทพฯ ที่ประสบความเดือดร้อนจากอุทกภัย
ได้รับความช่วยเหลือจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ
            ในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๐๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ รับสภาสังคมสงเคราะห์ฯ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ รับเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์

            วัตถุประสงค์ที่สำคัญของสภาสังคมสงเคราะห์ฯ คือ การส่งเสริม และการประสานงานการสังคมสงเคราะห์ ซึ่งรวมทั้งการสงเคราะห์ผู้ประสบ- ปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อน การแก้ไขปัญหา สังคม และการพัฒนาสังคม

            สภาสังคมสงเคราะห์ฯ มีองค์การสมาชิกในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ๕๖๑ องค์การ เป็น องค์การสมาชิกส่วนกลาง ๑๙๓ องค์การ เป็น องค์การสมาชิกส่วนภูมิภาค ๓๖๘ องค์การ

การดำเนินงานของสภาสังคมสงเคราะห์ฯ อาจแบ่งออกได้เป็น ๔ ลักษณะ คือ

            ๑. การประสานงาน ทำการประสานงานกับองค์การสมาชิก รัฐบาล หน่วยราชการ และองค์การต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดี และความร่วมมือระหว่างกัน

            ๒. การส่งเสริมสนับสนุน ให้การส่งเสริมสนับสนุนองค์การสมาชิกในด้านการเงิน วิชาการ บุคลากร ขวัญและกำลังใจ ตามความสามารถ และความเหมาะสม รวมทั้งการส่งเสริม สนับสนุนโครงการ และงานของรัฐบาล หน่วยราชการ และองค์การต่างๆ ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และนโยบายของสภาสังคมสงเคราะห์ฯ

            ๓. การศึกษาวิจัยและวางแผน ทำการศึกษาวิจัย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ และถูกต้อง เพื่อประกอบการพิจารณาในการให้การสงเคราะห์ และการแก้ไขปัญหา วางแผน เพื่อกำหนดนโยบาย และการดำเนินงานในการสงเคราะห์ผู้มีปัญหา การแก้ไขปัญหาสังคม และการพัฒนาสังคมได้ ช่วยร่างแผนพัฒนาจิตใจ ซึ่งบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๓๐- ๒๕๓๔

๔. การปฏิบัติงาน แบ่งออกเป็น ๓ ด้าน คือ

            ๔.๑ การสงเคราะห์ผู้ประสบปัญหา ความทุกข์ยากเดือดร้อน เช่น การสงเคราะห์ครอบครัวที่ยากจน ผู้ประสบสาธารณภัย คนพิการ ผู้เป็นหนี้สิน ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือเดือดร้อนทางกฎหมาย โดยมีหลักการให้ผู้ประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อน สามารถช่วยเหลือ และพึ่งตนเองได้ในที่สุด โดยยึดถือพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานให้แก่คณะกรรมการของสภาสังคมสงเคราะห์ฯ มีข้อความว่า "ในการให้การสงเคราะห์จะต้องคำนึงถึงจิตใจของผู้รับการสงเคราะห์ด้วย การที่จะช่วยผู้ตกทุกข์ได้ยาก กล่าวได้ว่า ช่วยทางวัตถุเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ จะต้องช่วยใน ด้านจิตใจ ช่วยให้คนมีจิตใจสูง ด้วยการเอาศาสนาเข้ามาช่วยด้วย"

            ๔.๒ การแก้ไขปัญหาสังคม เช่น การป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด ปัญหาการครองชีพ ปัญหาเยาวชน ปัญหาสตรี ปัญหาความ เสื่อมโทรมทางศีลธรรม และจิตใจ

            ๔.๓ การพัฒนาสังคม เช่น การ พัฒนาเด็กและเยาวชน การพัฒนาสตรี การพัฒนาชุมชนแออัด การพัฒนาชนบท การพัฒนาจิตใจ การพัฒนาองค์การสมาชิก การส่งเสริมงานอาสาสมัคร การส่งเสริมความมั่นคงของชาติ

            นโยบายและโครงการที่สำคัญที่สุด ของสภาสังคมสงเคราะห์ฯ คือ อุดมการณ์ และโครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ซึ่งมีที่มาจาก พระบรมราชปณิธาน ในพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

            พระราชดำรัสที่ว่า "เราจะครองแผ่นดิน โดยธรรม" เป็นที่มาแห่ง แผ่นดินธรรม ส่วน พระราชดำรัสที่ว่า "เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน ชาวสยาม" เป็นที่มาแห่ง แผ่นดินทอง

            รัฐบาลได้รับอุดมการณ์แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง เป็นอุดมการณ์ของชาติโดย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าว ถวายราชสดุดี เนื่องในวันฉัตรมงคล ๕ พฤษภาคม ๒๕๒๘ ในสัปดาห์แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตน้อมนำแนว แห่งพระบรมราชปณิธาน ในพระปฐมบรมราชโองการ มากำหนดเป็นอุดมการณ์ เพื่อสร้างสรรค์แผ่นดินไทย ให้เป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง

            สภาสังคมสงเคราะห์ฯ ถือเป็นนโยบายที่สำคัญในการที่จะร่วมมือกับรัฐบาล หน่วยราชการ องค์การสมาชิก องค์การเอกชน สถาบัน ทางศาสนา สถาบันการศึกษา องค์การของประชาชน และประชาชนทั่วไป ในการที่จะพัฒนาตามอุดมการณ์ และโครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาคน หมู่บ้าน ชุมชน และสังคม เพื่อสร้างสรรค์แผ่นดินไทย ให้เป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง เป็นการถวายราชสักการะแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ ใน วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐

๖. มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง


            เริ่มขึ้นจากชุมชนชาวจีนในประเทศไทย ในรูปของกิจการสาธารณกุศลตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๓ และได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ โดยมีทุนเริ่มต้น เพียง ๒,๐๐๐ บาท ปัจจุบันนี้ (พ.ศ. ๒๕๓๐) มูลนิธิได้ดำเนินงานมาเป็นเวลากว่า ๕๐ ปี กิจการของมูลนิธิได้ขยายกว้างขวางขึ้นในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย หรืออัคคีภัย รวมทั้งการช่วยเหลือผู้ยากไร้ขัดสน และผู้ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ งานของมูลนิธิจึงแบ่งเป็นแผนกต่างๆ ดังนี้

            ๑. แผนกสังคมสงเคราะห์ แบ่งงานออก เป็น ๒ ส่วนใหญ่ๆ คือ งานสังคมสงเคราะห์ ในงานประเพณีประจำปี และงานสังคมสงเคราะห์ ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น งานสังคมสงเคราะห์ ในงานประเพณีประจำปีได้แก่ งานทิ้งกระจาด งานวันเด็กแห่งชาติ งานวันที่ระลึกคนพิการ งาน แจกทุนการศึกษา ส่วนงานสังคมสงเคราะห์ตามสถานการณ์ได้แก่ การสงเคราะห์ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน และยังความเดือดร้อน แก่ประชาชนในเหตุการณ์นั้นๆ เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัย อุทกภัย และวาตภัย

            ๒. แผนกฌาปนกิจศพ เป็นงานหลัก ตั้งแต่แรกตั้งมูลนิธิ ปัจจุบันนี้พนักงานประจำรถ นอกจากมีหน้าที่เก็บศพแล้ว ยังสามารถช่วยเหลือ ผู้บาดเจ็บ และช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการถ่ายภาพสถานที่เกิดเหตุ พิมพ์ลายนิ้วมือศพ อันเป็นหลักฐานที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการสืบสวนต่อไป และเก็บศพจากที่ต่างๆ ส่งไปให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์อีกขั้นหนึ่ง ที่โรงพยาบาลตำรวจ หรือโรงพยาบาลศิริราช

            หากศพนั้นไม่มีญาติมาติดต่อขอรับไป ทำพิธี ทางมูลนิธิจะนำไปฝังไว้ ณ สุสานของมูลนิธิ ประมาณ ๒-๓ ปี ถ้ายังไม่มีญาติมาติดต่อ ทางสุสานของมูลนิธิจะขุดโครงกระดูกขึ้นมาชำระล้าง และนำไปทำการฌาปนกิจ และบำเพ็ญกุศล ให้ตามพิธีทางศาสนา

เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครของแผนกฌาปนกิจศพ มูลนิธีป่อเต๊กตึ๊งช่วยกันขุดโครงกระดูกของศพไม่มีญาติ
 เพื่อนำไปชำระล้าง และบำเพ็ญกุศล ตามพิธีทางศาสนา
            ๓. แผนกบรรเทาสาธารณภัย ตั้งแต่ อดีตจนถึงปัจจุบัน มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้จัดหน่วยงาน ให้ความช่วยเหลือทางด้านสาธารณภัยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นอุบัติภัยทางด้านรถยนต์ ไฟไหม้ น้ำท่วม หรืออื่นๆ มูลนิธิจะเข้าช่วยเหลือทันที โดยอาจจะเป็นการช่วยเหลือในที่เกิดเหตุ หรือช่วยเหลือทางด้านสิ่งของที่จำเป็น และขัดสน เช่น อาหาร และเครื่องนุ่งห่ม ขณะนี้มูลนิธิฯ กำลังปรับปรุงหน่วยงานด้านนี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มอุปกรณ์ทางด้านบรรเทาสาธารณภัยที่ทันสมัย และฝึกพนักงานให้มีสมรรถภาพมากยิ่งขึ้น

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งและสมาคมจีนต่างๆ จัดเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภค สำหรับบริจาค ให้แก่ผู้ประสบความเดือดร้อนมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งและสมาคมจีนต่าง ๆ จัดเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับบริจาคให้แก่ผู้ประสบความเดือดร้อน

นอกจากนี้ มูลนิธิยังได้จัดตั้งโรงพยาบาลหัวเฉียว เพื่อสงเคราะห์ผู้ป่วยอนาถา และให้บริการทั่วไปแก่ชุมชนอีกด้วย

นอกจากมูลนิธิเอกชนเก่าแก่ เช่น มูลนิธิ ป่อเต็กตึ๊งแล้ว ยังมีมูลนิธิเอกชนอื่นๆ ซึ่งก่อตั้ง ขึ้นภายหลังจากนั้นอีกหลายมูลนิธิ เช่น

๗. มูลนิธิสัมมาชีวศิลป์


            ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ เพื่อบำรุงการศึกษา จัดตั้งโรงเรียน อุปการะโรงเรียนในเครือของมูลนิธิ อุปการะบุคคลให้ได้ประกอบสัมมาชีพ และเพื่ออบรมกุลบุตรกุลธิดา ให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใส ในการประกอบสัมมาชีพ ตามปกติของพระพุทธศาสนา
ประธานสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ และคณะเยี่ยมทหารบาดเจ็บ
ประธานสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ และคณะเยี่ยมทหารบาดเจ็บ
๘. มูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลน ในพระบรมราชินูปถัมภ์

            ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ เพื่อช่วยเหลือนักเรียนในด้านค่าเล่าเรียน อุปกรณ์การเรียน และอาหาร เป็นต้น

๙. มูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อน แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์

            ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ เพื่อช่วยสงเคราะห์คนปัญญาอ่อนตั้งแต่เยาว์วัย โดยจัดการศึกษาพิเศษ และเลี้ยงดู
จนสามารถฝึกอาชีพ และช่วยตัวเองได้เมื่อเติบโตขึ้น นอกจากนี้ยังให้ความรู้เรื่องสาเหตุ และการป้องกันการเป็นคนปัญญาอ่อน ต่อประชาชนทั่วไป
นักเรียนขาดแคลนทุนทรัพย์รับความช่วยเหลือด้านอาหารจากกรมประชาสงเคราะห์
นักเรียนขาดแคลนทุนทรัพย์รับความช่วยเหลือด้านอาหารจากกรมประชาสงเคราะห์
๑๐. มูลนิธิดำรงราชานุภาพ

            ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ เพื่อให้ทุนการศึกษา และวิจัยในขั้นอุดมศึกษา ในวิชา ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเกี่ยวข้องด้วย

๑๑. มูลนิธิแม่บ้านอาสา

            ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ มีวัตถุประสงค์กว้างขวางมาก เช่น เพื่อช่วยเหลือกำลังทรัพย์ ให้กำลังใจ และเครื่องอุปโภคบริโภค แก่ผู้ปฏิบัติการ ปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ในขณะที่อยู่ในฐานปฏิบัติการ หากผู้ปฏิบัติการเหล่านี้ได้รับบาดเจ็บถึงแก่พิการ
ทุพพลภาพ มูลนิธิจะจัดหาเวชภัณฑ์ การรักษาพยาบาล การช่วยเหลือทางการเงินแก่ครอบครัว ค่าใช้จ่ายต่างๆ ระหว่างการรักษาพยาบาล ฯลฯ นอกจากนี้มูลนิธิยังบริจาคเงิน และสิ่งของ เพื่อการกุศลแก่มูลนิธิ และองค์การอื่นๆ อีกด้วย

๑๒. มูลนิธิสงเคราะห์ผู้ถูกล่อลวงอำเภอหาดใหญ่

            ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ ที่จังหวัดสงขลา เพื่อช่วยเหลือผู้ถูกล่อลวง ทอดทิ้ง ไร้ที่พึ่ง ตลอดจนช่วยเหลือการสาธารณกุศลต่างๆ และร่วมมือกับทางราชการ และองค์การต่างๆ