เล่มที่ 12
การสังคมสงเคราะห์
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
วิวัฒนาการของการสังคมสงเคราะห์ในต่างประเทศและประเทศไทย

            ในสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทย หรือต่างประเทศ มีคนที่มีปัญหาด้วยกันทั้งสิ้น บางประเทศก็มีมาก บางประเทศก็มีน้อย ดังเช่น ประเทศเยอรมัน ในสมัยก่อนมีคนยากจนมาก คนพวกนี้ชอบเดินทางจากเมืองหนึ่ง ไปอีกเมืองหนึ่งอยู่เสมอ ขณะที่ไปรอรถที่จะไปอีกเมืองหนึ่ง ไม่มีเงินพอที่จะเช่าโรงแรมอยู่ได้ ก็ต้องหาที่นอนตามสถานีรถ ซึ่งเป็นที่น่าสงสารมาก องค์การอาสาสมัครในเมืองแฮมเบิร์ก และเมืองเอลเบอร์เฟลด์ ได้จัดสร้างที่พัก สำหรับคนเดินทางที่ยากจน พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำ และยังมีคณะกรรมการควบคุมการปฏิบัติงาน ของเจ้าหน้าที่ในที่พักนั้นด้วย ซึ่งการให้ความช่วยเหลือคนยากจนนี้ ได้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของการสังคมสงเคราะห์ด้วย
นักสังคมสงเคราะห์เยี่ยมบ้านผู้ประสบความเดือดร้อนในชนบท
นักสังคมสงเคราะห์เยี่ยมบ้านผู้ประสบความเดือดร้อนในชนบท
            สำหรับประเทศอังกฤษ ได้มีการสงเคราะห์คนยากจนที่มีผลเนื่องจากการเลิกระบบทาส โดยรัฐได้ออกกฎหมายบังคับให้วัดทำทานกับคนยากคนจนทุกวันอาทิตย์ ผู้ใดให้ทานกับคนจนนอกเหนือจากวันอาทิตย์ จะถูกปรับเป็นจำนวน ๑๐ เท่าของเงินที่ให้ทานไป คนยากจนที่แข็งแรง รัฐจะส่งกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมและหางานให้ทำ
ผู้ที่หนีจะถูกเฆี่ยนตี หรือถูกตัดหู ตัดขา ส่วนคนที่หนีกลับมาขอทานอีก ก็จะถูกแขวนคอซึ่งเป็นการสงเคราะห์ที่โหดร้ายมาก

            ประเทศอังกฤษได้ออกกฎหมายสงเคราะห์ คนจนฉบับแรกของโลกเรียกว่า อิลิซะบีแทนพัวร์ ลอว์ (Elizabethan Poor Law) เป็นกฎหมายที่แบ่งประเภทของคนจนคือ คนจนที่มีร่างกายแข็งแรงสามารถทำงานได้ จะถูกส่งกลับไปภูมิลำเนาเดิม และหางานให้ทำ คนจนที่เป็นคนพิการ ทำงานไม่ได้ รวมทั้งเด็กอายุไม่เกิน ๒๑ ปี จะถูกส่งไปรับการเลี้ยงดูที่โรงทาน (Almshouse) ส่วนเด็กกำพร้า อนาถา และอื่นๆ ก็จะถูกส่งให้เข้าไปรับการเลี้ยงดูที่โรงทานอีกเช่นเดียวกัน

            การให้การสงเคราะห์ในประเทศอังกฤษ เริ่มทำเป็นระบบระเบียบมากขึ้น โดยหน่วยงานของเอกชน คือ มีการส่งคนซึ่งมีใจรักที่จะให้ความ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ซึ่งมีอาชีพต่างๆ กัน ออกไปศึกษาปัญหาความต้องการของผู้มีปัญหา ถึงที่บ้านพัก จากนั้นก็นำปัญหามาพูดคุยกันเพื่อ หาทางช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องต่อไป ผู้ที่ออกไปศึกษาสิ่งต่างๆ เหล่านี้เรียกว่า "นักสังคมสงเคราะห์เฉพาะราย" หรือ "นักสังคมสงเคราะห์ระดับบุคคล" และผู้ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้บุกเบิกงานสังคมสงเคราะห์เฉพาะราย คือ แมร์รี อี ริชมอนด์ (Marry E. Richmond)

            ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการสงเคราะห์คนยากจนเช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ การสงเคราะห์ได้จัดแบ่งประเภทของผู้รับบริการคือ ผู้รับบริการประเภทโรคจิต คนพิการ เด็กกำพร้า อนาถา และคนชรา เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้การ บริการเป็นไปอย่างเหมาะสม

            วิกฤตการณ์ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้การช่วยเหลือที่เรียกว่า "การสังคมสงเคราะห์กลุ่มชน" หรือ "การสังคมสงเคราะห์ระดับกลุ่ม" เกิดขึ้น ทั้งนี้โดยนักสังคมสงเคราะห์ให้ความช่วยเหลือ สมาชิกของกลุ่มให้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น และช่วยพัฒนาบุคลิกลักษณะ ของสมาชิกในกลุ่มอีกด้วย

            ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ตรากฎหมายว่าด้วย ความมั่นคงทางสังคม อันเป็นกฎหมายที่ครอบคลุมถึงบริการให้กับคนประเภทต่างๆ ได้แก่ การประกันสังคม ซึ่งมีการประกันการว่างงาน การประกันการชราภาพและการประกันเมื่อถึงแก่กรรม และการสาธารณูปการ เป็นการให้ความช่วยเหลือคนตาบอด คนไร้ที่พึ่ง และคนชราที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ นอกจากนั้นยังมีบริการต่างๆ ที่ให้กับเด็กพิการ รวมทั้งบริการการดูแลสุขภาพมารดาและทารก

            สำหรับประเทศไทย ได้มีสถาบันที่มิใช่ของทางราชการ สงเคราะห์คนตกทุกข์ได้ยากมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะ "วัด" นับได้ว่า เป็นศูนย์กลางของการสงเคราะห์คนทั่วไป
โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทย
โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทย
            การสังคมสงเคราะห์ที่ดำเนินการโดยรัฐบาล มีปรากฏเด่นชัดในสมัยรัชกาลที่ ๕ คือ มีการ สร้างโรงพยาบาลศิริราช ใน พ.ศ. ๒๔๒๙ ซึ่งนับว่า เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทย เป็นสถานที่ช่วยคนเจ็บป่วยและยากจน สภาอุณาโลมแดงหรือสภากาชาดสยาม หรือสภากาชาดไทย ในปัจจุบัน ก็ได้ตั้งขึ้นมาใน พ.ศ. ๒๔๓๖ เพื่อช่วยทหารที่บาดเจ็บจากการสู้รบกับฝรั่งเศส เรื่อง เขตแดนฝั่งแม่น้ำโขง
สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี
สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี
            สมัยรัชกาลที่ ๖ ใน พ.ศ. ๒๔๕๔ เกิด สถานสงเคราะห์เด็กแห่งแรกในประเทศไทย คือ สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี

            สมัยรัชกาลที่ ๗ ใน พ.ศ. ๒๔๘๓ เกิด กรมประชาสงเคราะห์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางราชการ ที่มีวัตถุประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือ และส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย ให้ผาสุก
คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สถาบันการศึกษาด้านการสังคมสงเคราะห์แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย
คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สถาบันการศึกษาด้านการสังคมสงเคราะห์
แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย
            และใน พ.ศ. ๒๔๙๗ ก็ได้เกิดคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านการสังคมสงเคราะห์ แห่งแรก และแห่งเดียว ในประเทศไทย

            จึงสามารถกล่าวได้ว่า เอกชนหรือหน่วยงานภาคเอกชนเป็นผู้ริเริ่มการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ก่อนหน่วยงานทางรัฐบาล การเริ่มปฏิบัติงานระยะแรกเป็นไปแบบตามมีตามเกิด เป็นแบบการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ต่อมา จึงได้พัฒนาเป็นรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ ที่ทำ เป็นกระบวนการ มีระบบอาศัยหลักวิทยาศาสตร์ และศิลปะ มาประยุกต์ใช้ แล้วก็มีโรงเรียนที่ให้ ความรู้ทางสังคมสงเคราะห์เกิดขึ้นตามมา