เล่มที่ 31
ระบบสุริยะ
เล่นเสียงเล่มที่ 31 ระบบสุริยะ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ดาวเคราะห์ ในระบบสุริยะแบ่งเป็น ดาวเคราะห์ชั้นใน อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ ลักษณะพื้นผิวเป็นหินแข็ง มี ๔ ดวง ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก และดาวอังคาร ส่วน ดาวเคราะห์ชั้นนอก อยู่ไกลดวงอาทิตย์ ประกอบด้วยดาวเคราะห์ที่เหลือ ๕ ดวง คือ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส ดาวเนปจูน และดาวพลูโต ๔ ดวงแรกเป็นดาวเคราะห์ก๊าซ มีลักษณะคล้ายดวงอาทิตย์ ขนาดใหญ่กว่าดาวเคราะห์ชั้นใน แต่ดาวพลูโตมีขนาดเล็กประมาณ ๒ ใน ๓ ของดวงจันทร์ที่เป็นบริวารของโลก พื้นผิวเป็นหินแข็งและปกคลุมด้วยน้ำแข็ง


ภาพเรดาร์ของดาวศุกร์ ซึ่งถ่ายจากยานอวกาศแมกเจลแลน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ - ๒๕๓๓
(ภาพ อนุเคราะห์ โดย NASA/JPL)

            ดาวเคราะห์ แต่ละดวงหมุนรอบตัวเอง ใช้เวลาในการหมุนครบ ๑ รอบ เรียกว่า ๑ วัน ซึ่งแตกต่างกันไปตามความเร็ว ในการหมุน เช่น เวลา ๑ วันของดาวศุกร์ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับโลก เท่ากับ ๒๔๓ วันของโลก ส่วน ๑ วันของดาวเสาร์ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าโลกหลายสิบเท่า เท่ากับ ๑๐.๕ ชั่วโมง ไม่ถึงครึ่งวันของโลก

            เส้นทางการเดินทางของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ หรือที่เรียกว่า วงโคจรของดาวเคราะห์ ส่วนมากค่อนข้างกลม ยกเว้น ดาวพลูโตเป็นรูปรี ส่วนระยะเวลาในการเดินทางครบ ๑ รอบวงโคจรของดาวเคราะห์แต่ละดวง ซึ่งเรียกว่า ๑ ปี ของดาวเคราะห์นั้นๆ ขึ้นกับความยาวของวงโคจรและความเร็วในการเคลื่อนที่ อาทิ ๑ ปีของดาวศุกร เท่ากับ ๒๒๕ วันของโลก น้อยกว่า ๑ ปีของโลก ซึ่งมี ๓๖๕.๒๖ วัน แต่ ๑ ปีของดาวยูเรนัสเท่ากับ ๘๔ ปีของโลก


ยานอวกาศกาลิเลโอถ่ายภาพดาวศุกร์ ซึ่งมีบรรยากาศหนาทึบจากระยะห่างประมาณ ๒.๗ ล้านกิโลเมตร ขณะกำลังเดินทางไปสำรวจดาวพฤหัสบดี
เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๓
(ภาพ อนุเคราะห์ โดย NASA/JPL)

            อุณหภูมิและบรรยากาศของดาวเคราะห์ก็ต่างกัน อาทิ ดาวศุกร์ มีอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มดวง และบนพื้นผิวไว้ สูงประมาณ ๔๘๐ องศาเซลเซียส เพราะมีก๊าซบางชนิดและไอน้ำปริมาณสูง อัดกันอยู่อย่างหนาทึบมาก แต่ดาวอังคาร มีอุณหภูมิพื้นผิวต่ำ เฉลี่ยประมาณ -๔๐ องศาเซลเซียส เพราะบรรยากาศที่ห่อหุ้มดวงเบาบางมาก ไม่สามารถเก็บความร้อนได้

            ดาวเคราะห์ มีขนาดต่างกัน ดวงเล็กที่สุดคือ ดาวพลูโต มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว ๒,๒๗๔ กิโลเมตร ขณะที่ดวงใหญ่สุดคือ ดาวพฤหัสบดี มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวประมาณ ๑๑ เท่าของโลก ความหนาแน่นก็ต่างกันด้วย ขึ้นกับลักษณะเนื้อในของแต่ละดวง เช่น ดาวพุธซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับดวงจันทร์ที่เป็นบริวารของโลก แต่มีความหนาแน่นพอๆ กับโลก เพราะมีพื้นผิวเป็นหินแข็ง และใจกลางเป็นโลหะเหล็กขนาดใหญ่คล้ายใจกลางโลก แต่ดาวพฤหัสบดีมีความหนาแน่นน้อยกว่าโลก เพราะเนื้อในส่วนมาก เป็นก๊าซ นอกจากนี้ ดาวเคราะห์มีบริวารจำนวนต่างๆ กัน เช่น ดาวพุธไม่มีบริวาร โลกมีบริวาร ๑ ดวง คือ ดวงจันทร์ ดาวพฤหัสบดีมีบริวารมากที่สุด จนถึง พ.ศ. ๒๕๔๙ พบว่ามีถึง ๖๓ ดวง

            บริวารของดาวเคราะห์มีขนาดต่างกัน เช่น ดวงจันทร์ของโลกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓,๔๗๖ กิโลเมตร ดวงจันทร์แกนิมีด ของดาวพฤหัสบดี ซึ่งเป็นบริวารขนาดใหญ่ที่สุดมีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕,๒๖๒ กิโลเมตร ขณะที่บริวารที่พบใหม่เป็นดวงเล็กๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๐.๕ กิโลเมตรเท่านั้น


ยานมาริเนอร์ ๑๐ ถ่ายภาพพื้นผิวดาวพุธเต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตจากระยะห่าง ๑๘,๒๐๐ กิโลเมตร
เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๗
(ภาพ อนุเคราะห์ โดย NASA/JPL)

            จากการศึกษาอย่างต่อเนื่อง พบวัตถุท้องฟ้าขนาดเล็กโคจรรอบดวงอาทิตย์ จำนวนมากมาย ซึ่งเรียกว่า ดาวเคราะห์น้อย ปัจจุบันได้พบดาวเคราะห์น้อยจำนวนมากกว่า ๒๐๐,๐๐๐ ดวง ส่วนใหญ่โคจรระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี แต่บางดวงก็โคจรผ่านมาใกล้โลก ดาวเคราะห์น้อยแตกต่างกันทั้งขนาด รูปทรง และระยะเวลาหมุนรอบตัวเอง เช่น ขนาดตั้งแต่เม็ดกรวดถึงขนาดใหญ่เท่าบ้าน ขนาดที่ใหญ่มากๆ เท่ากับ ประเทศหนึ่งๆ รูปทรงไม่ค่อยเป็นทรงกลม มีรูปร่างแปลกๆ เช่น คล้ายเมล็ดถั่ว ฝักถั่ว รูปกระดูก และระยะเวลาหมุนรอบตัวเองมีตั้งแต่หลายชั่วโมงจนถึงหลายวัน

            ดาวหาง เป็นเศษดาวเคราะห์ที่ห่อหุ้มด้วยน้ำแข็ง คาดคะเนว่า มีดาวหางจำนวนมากในเขตที่เลยดาวเนปจูนออกไป บางดวงมีระยะเวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์น้อยกว่า ๒๐๐ ปี บางดวงมีวงโคจรกว้างไกลใช้เวลานานมากกว่านั้น


ภาพเขียนยานอวกาศเมสเซนเจอร์เดินทางไปสำรวจดาวพุธ
(ภาพ อนุเคราะห์ โดย NASA/JPL)

            อุกกาบาต ที่ตกบนผิวโลกนั้น เชื่อว่า คงหลุดมาจากดาวเคราะห์น้อย จากการศึกษาอุกกาบาตที่รวบรวมได้ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นชนิดหิน นอกจากนี้ มีชนิดที่เป็นโลหะ และหินผสมโลหะ จากการศึกษาเป็นเวลายาวนาน ด้วยวิธีการและเครื่องมือ หลายประเภท ตั้งแต่การสังเกตด้วยตาเปล่า ใช้กล้องโทรทรรศน์ ใช้วิชาคณิตศาสตร์ช่วยในการคำนวณ การถ่ายภาพด้วยกล้องโทรทรรศน์เชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์ การสำรวจด้วยยานอวกาศทั้งระยะไกลใกล้ต่างกัน จนถึงการลงสำรวจพื้นผิว ทำให้ข้อมูลของระบบสุริยะเปลี่ยนแปลงและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น หากมองด้วยตาเปล่า จะมองไม่เห็นบริวารของดาวพฤหัสบดี แต่เมื่อใช้กล้องโทรทรรศน์จึงพบเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จากการสำรวจของยานอวกาศ ทำให้เราได้ข้อมูลเกี่ยวกับดาวพุธ เช่น พื้นผิวดาวพุธเต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตคล้ายดวงจันทร์ วงแหวนของดาวเสาร์ ที่เคยเห็นจากกล้องโทรทรรศน์ที่คิดว่ามีเพียงไม่กี่ชั้นนั้น แท้จริงแบ่งเป็นวงแหวนเล็กๆ หลายพันวง

            อย่างไรก็ตาม เรายังมีความรู้เกี่ยวกับระบบสุริยะไม่มากนัก จึงมีโครงการ สำรวจสมาชิกของระบบสุริยะ เช่น ส่งยานเมสเซนเจอร์ไปสำรวจดาวพุธ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ กำหนดเวลาให้ยานเดินทางนาน ๖ ปี เพื่อไปโคจรสังเกตการณ์รอบดาวพุธ ใน พ.ศ. ๒๕๕๔ การสำรวจดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ ทำให้เรารู้จักสมาชิกของระบบสุริยะบางดวงได้ดียิ่งขึ้น