เล่มที่ 31
วรรณคดีท้องถิ่น
เล่นเสียงเล่มที่ 31 วรรณคดีท้องถิ่น
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            วรรณคดีท้องถิ่น มีทั้งเรื่องราวบอกเล่า ร้อง ขับขานเป็นคำคล้องจอง และทำนองไพเราะ และเขียนเป็นภาษาท้องถิ่น ใช้สำนวนโวหารเปรียบเทียบ เพื่อเป็นคติสอนใจ บรรยายความงาม บางเรื่องเป็นนิทาน บางเรื่องเป็นเรื่องราวทางศาสนา และบางเรื่องเป็นตำนานความรักของคนหนุ่มสาว

            วรรณคดีท้องถิ่น เกิดจากปัจจัยสนับสนุน ที่สำคัญ ๓ ประการ คือ

                        ๑) ศาสนา
                        ๒) ชนชั้นสูงในท้องถิ่น และ
                        ๓) วิถีชีวิตในท้องถิ่น

            พระสงฆ์และผู้ที่เคยบวชเรียนได้ศึกษาพุทธประวัติ ชาดก และหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา แล้วแต่งเป็นเรื่องราวสำหรับสวดและแสดงพระธรรมเทศนา อีกทั้งชาวบ้านมีความเชื่อในการสร้างหนังสือทางศาสนาเพื่อถวายวัดเป็นพุทธบูชาว่าได้บุญกุศล จึงทำให้มีวรรณคดีชาดกภาษาท้องถิ่นหลายสำนวน

            ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามก็มีเรื่องเล่าประเภทนิทานนิยาย และบทเพลงกล่อมเด็ก ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในศาสนา

            วรรณคดีท้องถิ่น ส่วนใหญ่แต่งโดยกวีชาวบ้าน แต่มีบางเรื่องแต่งโดยกวีที่เป็นพระสงฆ์ที่มีความรู้ และชนชั้นสูงในราชสำนัก มีถ้อยคำสำนวนที่ไพเราะ และมีลักษณะคำประพันธ์หลายรูปแบบ


วรรณคดีท้องถิ่น ส่วนหนึ่งเป็นบทพระธรรมเทศนา

            วิถีชีวิตของชาวบ้านในท้องถิ่น มีการทำมาหากิน และการพักผ่อนบันเทิง จึงมีบทร้องรำ นิทาน นิยาย เกิดขึ้นมาก เป็นวรรณคดี ที่ใช้ภาษาของท้องถิ่นนั้นๆ

            วรรณคดีท้องถิ่น ได้เนื้อเรื่องและแนวความคิดมาจากหลายแหล่ง ได้แก่ พุทธประวัติและชาดก เรื่องเล่าเกี่ยวกับสถานที่สำคัญ บุคคลสำคัญของท้องถิ่น นิทานพื้นบ้าน เรื่องแต่งจากภาคกลางที่แพร่หลายเข้าไปในท้องถิ่น ตลอดจนประสบการณ์ส่วนตัวและจินตนาการของกวี จิตรกรรมฝาผนังในวัดในท้องถิ่นหลายแห่งเป็นภาพวาดแสดงเรื่องราวจากวรรณคดีท้องถิ่น

วรรณคดีในท้องถิ่นภาคเหนือหรือล้านนา

            วรรณคดีลายลักษณ์ของท้องถิ่นภาคเหนือส่วนใหญ่เขียนลงบนใบลานและสมุดข่อย ในสมัยโบราณแต่งเป็นภาษาบาลีมีเรื่องราวตามคติพระพุทธศาสนา นอกจากนั้นก็มีวรรณคดีที่แต่งเป็นภาษาท้องถิ่นที่ให้คติคำสอน เช่น โคลงเจ้าวิทูรสอนโลก นิทานหลายเรื่องนำมาจากชาดก เช่น เรื่องฉัททันต์ และที่แต่งเลียนแบบชาดก เช่น เรื่องหงส์หิน เจ้าสุวัต สังข์ทอง ควายสามเขา

            วรรณคดีที่ใช้วิธีขับร้องสู่กันฟัง ได้แก่ เพลงกล่อมเด็ก เพลงร้องเล่นของเด็ก และบางทีก็มีดนตรีประกอบ ได้แก่ การร้องโต้ตอบระหว่างพ่อเพลงและแม่เพลงที่เรียกว่า "ซอ" ช่างซอชายและช่างซอหญิงจะซอเล่านิทานและเหตุการณ์ในท้องถิ่นบ้าง สอนคติธรรมทางพระพุทธศาสนาบ้าง หรือเป็นการเกี้ยวพาราสีกันของหนุ่มสาว


จิตรกรรมฝาผนังเรื่องควายสามเขา ที่ศาลารายวัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี อ.เด่นชัย จ.แพร่
(ภาพจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเนือ เล่ม ๓)

วรรณคดีในท้องถิ่นอีสาน

            คนอีสานมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลาว เป็นกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกัน ใช้ภาษา และตัวอักษรเขียนแบบเดียวกัน กวีชาวอีสานส่วนมากเป็นพระสงฆ์ หรือผู้เคยบวชเรียนมาก่อน ซึ่งต่อมา ก็ได้แต่ง และเขียนเรื่องเป็นภาษาไทย วรรณคดีอีสาน ที่แพร่หลาย คือ เรื่องสังข์ศิลป์ชัย ขูลูนางอั้ว ผาแดงนางไอ่ กาพย์ปู่สอนหลาน และกาพย์หลานสอนปู่ เชียงเหมี้ยง ส่วนวรรณคดีอีสานที่เป็นชาดก เช่น เรื่องมโหสถ เตมีย์ สุวรรณสาม และมหาเวสสันดรชาดก นอกจากนี้ มีวรรณคดีพิธีกรรม นิทาน คำสอน ตำนาน ตลอดจนเพลงพื้นบ้าน ที่เรียกว่า หมอลำ ซึ่งใช้แคนเป็นเครื่องดนตรีประกอบ

วรรณคดีในท้องถิ่นภาคใต้

            ส่วนใหญ่แต่งเป็นกาพย์ฉบัง กาพย์ยานี และกาพย์สุรางคนางค์ วรรณคดีภาคใต้มีหลายประเภทเช่นเดียวกับท้องถิ่นอื่น ได้แก่ วรรณคดีพระพุทธศาสนา วรรณคดีคำสอน วรรณคดีพิธีกรรม วรรณคดีตำนาน วรรณคดีนิทาน เพลงบอก เพลงกล่อมเด็ก ซึ่งมีผู้รวบรวมไว้จำนวนมาก

ศิลปะการใช้ภาษาและคุณค่าของวรรณคดีท้องถิ่น

            วรรณคดีท้องถิ่นใดก็ใช้ภาษาของท้องถิ่นนั้น บางเรื่องอาจมีคำภาษาบาลี ภาษาเขมร และภาษาไทยกลางปนอยู่บ้าง บางเรื่องอาจใช้การบอกเล่าเป็นภาษาพื้นบ้านธรรมดา บางเรื่องที่แต่งโดยกวี ก็ใช้ถ้อยคำสำนวนที่ไพเราะประณีต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโอกาสและความมุ่งหมายของการแต่งเรื่องนั้น