ตู้พระธรรม เป็นตู้ไทยโบราณ เขียนลวดลายลงรักปิดทองทั้งตู้ โดยทั่วไปใช้เก็บคัมภีร์ใบลาน เก็บหนังสือที่เกี่ยวกับพระธรรมคำสอน และศิลปวัตถุที่มีค่าในพระพุทธศาสนา
ลายไทยที่เขียนขึ้น เพื่อใช้ตกแต่งตู้พระธรรม
แต่เดิมยังไม่มีสมุดและดินสอ การบันทึกพระธรรมคำสอน จึงใช้วิธีนำเหล็กแหลม ขีดเขียนลงบนใบลาน ที่ตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมยาวๆ วางเรียงซ้อนกัน ร้อยด้วยเชือกเล็กๆ เรียกว่า สายสนอง รวมกันเป็นผูก แต่ละเรื่องอาจมีหลายผูกรวมกัน แล้วใช้แผ่นไม้ ๒ อัน ขนาดเท่ากับแผ่นใบลาน ประกบ (ภาษาโบราณใช้ว่า ประกับ) หน้าหลัง เสียบฉลากหรือป้ายบอกชื่อเรื่องในคัมภีร์ แล้วสร้างตู้เก็บรักษา เรียกว่า ตู้พระธรรม บางครั้ง พระสงฆ์อาจเก็บคัมภีร์ไว้ในหีบ เรียกว่า หีบพระธรรม เมื่อสร้างหีบแล้ว อาจต่อขาลงมา ๔ ข้าง และทำบานปิดเปิดได้ทางด้านหน้า หีบพระธรรมจึงกลายเป็นตู้พระธรรม ซึ่งชาวบ้านนิยมสร้างอุทิศถวายไว้ในวัดสืบต่อมา
ครั้นเจ้านายและชนชั้นสูงต้องการสร้างตู้พระธรรมถวายเป็นพุทธบูชา หรืออุทิศผลบุญแก่ผู้ล่วงลับ การสร้างตู้พระธรรมจึงมีช่างฝีมือ ที่สร้างตู้อย่างประณีตงดงามขึ้น มีการเขียนลายไทย เป็นลายรดน้ำบนพื้นรักสีดำที่บานประตูทั้ง ๒ บาน เช่น ลายกระหนก ลายก้านขด นอกจากนั้น ยังมีการตกแต่งด้วยลายเครือเถาแบบต่างๆ สอดแทรกด้วยภาพสัตว์ เช่น นก กระรอก ลิง นาค ทำให้ดูสวยงามมีชีวิตชีวา
ลายไทยที่เขียนขึ้น เพื่อใช้ตกแต่งตู้พระธรรม
เมื่อมีผู้สร้างตู้พระธรรมอุทิศถวายไว้ในวัดมากขึ้น วัดจึงต้องมีการก่อสร้างสถานที่เก็บพระไตรปิฎกและตู้พระธรรม เรียกว่า หอพระไตรปิฎก หรือหอไตร เป็นที่เก็บรักษาพระธรรมคัมภีร์ เสมือนหอสมุดของวัด หอไตรเป็นอาคารที่มีลักษณะพิเศษ ก่อสร้างอย่างประณีตงดงาม สมกับเป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์ อันมีคุณค่าสูงยิ่ง
ตู้พระธรรม มีรูปลักษณะแบบไทยโดยเฉพาะ นอกจากเป็นการแสดงฝีมือช่างในการเขียนลายไทย และการลงรักปิดทองแล้ว ที่น่าสนใจ คือ รูปทรงของตู้ และองค์ประกอบส่วนต่างๆ ของตู้พระธรรม โดยเฉพาะขาตู้ ซึ่งกำหนดชื่อของตู้พระธรรม ให้เรียกชื่อต่างกันด้วย ได้แก่ ตู้ขาหมู ตู้ขาหมูมีลิ้นชัก ตู้เท้าสิงห์ ตู้เท้าสิงห์มีลิ้นชัก ตู้ฐานสิงห์ และตู้เท้าคู้
ลายไทยที่เขียนขึ้น เพื่อใช้ตกแต่งตู้พระธรรม
ตู้พระธรรม ไม่เพียงแต่มีความงดงามทางการเขียนลายของช่างฝีมือเลิศ และเป็นคลังความรู้ทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น บนบานตู้พระธรรมยังแสดงเรื่องราว ภาพตัวละครในวรรณคดี และภาพพุทธประวัติไว้ด้วย เช่น ภาพเทพารักษ์ ภาพในเรื่องรามเกียรติ์ ภาพพุทธประวัติปางเสด็จออกผนวช ภาพทศชาติ และวรรณกรรมชาดก
ลายทองบนบานตู้พระธรรม เป็นสิ่งบ่งบอกยุคสมัย ของการสร้างตู้นั้น ตู้พระธรรมที่สร้างในสมัยอยุธยา มีลวดลายเถากระหนก สะบัดปลายพลิ้วดุจเปลวไฟต้องลม ดูอ่อนช้อยได้สัดส่วนงดงามยิ่ง แสดงฝีมือช่างอย่างยอดเยี่ยม
ลายไทยที่เขียนขึ้น เพื่อใช้ตกแต่งตู้พระธรรม
ตู้พระธรรมที่สร้างในสมัยธนบุรีมีลวดลายปลายเส้นกระหนกที่ดูแข็งขึ้น ช่างมีความประณีตน้อยกว่าสมัยอยุธยา อาจเป็นเพราะว่าอยู่ในสมัยที่บ้านเมืองสิ้นสุดสงคราม และเริ่มต้นฟื้นฟูให้เข้าสู่ภาวะปกติ
ลายไทยที่เขียนขึ้น เพื่อใช้ตกแต่งตู้พระธรรม
ในสมัยรัตนโกสินทร์ เริ่มมีแบบแผนในการสร้างตู้พระธรรม และมีแบบฉบับต้นร่างลายต่างๆ มากขึ้น ลายกระหนกบนบานตู้จึงมีลักษณะเหมือนกันทั้งตู้ ไม่มีการเพิ่มเติมอารมณ์และจินตนาการของช่างเหมือนสมัยอยุธยา