เล่มที่ 7 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
โทรคมนาคม(ภาคแรก)
เล่นเสียงเล่มที่ 7 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ โทรคมนาคม(ภาคแรก)
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            เด็กๆ คงสังเกตเห็นว่า น้องที่เกิดมาใหม่ๆ เอาแต่นอน และส่งเสียงร้อง เมื่อหิวนม หรือผ้าอ้อมเปียก ต่อมา เมื่อน้องโตขึ้น ก็รู้จักพูด และแสดงท่าทาง เพื่อให้คนอื่นที่อยู่ใกล้ตัว เช่น พ่อ แม่ พี่ ป้า น้า อา รู้ว่า ตนต้องการอะไร และมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ครั้นเมื่อได้เรียนจนเขียนตัวหนังสือได้ ก็สามารถแสดงความคิดเห็น ความต้องการ และความรู้สึกของตนถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือ ส่งไปยังคนที่อยู่ไกลๆ ออกไปได้


            การถ่ายทอดความคิดเห็น ความต้องการ และความรู้สึกของตน ไปยังคนอื่นๆ ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล นี่แหละ คือการติดต่อ หรือการสื่อสาร

            การติดต่อกับคนอื่น จึงเป็นงานประจำวันของเรา ถ้าอยู่ใกล้กัน ก็ใช้พูดให้เขาฟัง และฟังที่เขาพูด แต่ถ้าอยู่ไกลๆ ก็ต้องเขียนเป็นข่าวสารส่งไป

            ในสมัยโบราณ อาศัยนักวิ่งเร็ว หรือที่เรียกว่า "ม้าเร็ว" เป็นผู้นำข่าวสารไป แต่ก็ไปได้เร็วเพียงประมาณ ๑๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เท่านั้น


            ชาวป่าแอฟริกาส่งข่าวถึงกันด้วยเสียงกล่อง ชาวกรีกและชาวโรมันใช้แสงไฟ หรือแสงสะท้อนจากวัสดุขัดมัน เช่น โล่ หรือกระจกเงา ในการส่งข่าว ชาวอินเดียแดงในอเมริกาส่งข่าวติดต่อถึงกันด้วยควันไฟ


            ชาวเปอร์เซียได้ชื่อว่า เป็นผู้ริเริ่มใช้เสียงพูดในการสื่อสาร คือคัดเลือกคนที่มีเสียงดังๆ ประจำอยู่แท่นสูง หรือหอคอย เรียงรายห่างกันช่วงละ ๒ กิโลเมตร แล้วใช้เสียงตะโกนแจ้งข่างสารต่อๆ กันไป

            นอกจากที่กล่าวแล้ว ยังมีการใช้สัตว์ เช่น นกพิราบนำข่าวสารไปด้วยซึ่งไปได้เร็วกว่ามนุษย์วิ่ง และเมื่อมนุษย์สามารถสร้างกล้องส่องทางไกลขึ้นได้ ก็ช่วยให้แลเห็นแสงไฟ หรือควันไฟ ในระยะทางไกลมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี มนุษย์ก็ยังแสวงหาวิธีการสื่อสารใหม่ๆ เพื่อให้ส่งข่าวสารได้ไกล และเร็วยิ่งขึ้นตลอดมา


            ครั้นเมื่อมนุษย์รู้จักไฟฟ้า รู้จักทำหม้อไฟฟ้า และรู้จักวิธีส่งกระแสไฟฟ้าไปในสายลวด การสื่อสารแบบใหม่ๆ ซึ่งเรียกว่า "โทรเลข" ก็เกิดขึ้น

            โทรเลขเป็นการส่งกระแสไฟฟ้าไปในสายลวด ให้มีจังหวะไหลยาวบ้าง สั้นบาง เป็นรหัสนัดหมายรู้กันกับฝ่ายรับปลายทางว่า หมายถึง อักษรตัวใด เช่น จังหวะ "ยาว-ยาว-สั้น" หมายความว่า อักษรตัว "ก" เป็นต้น

            แม้โทรเลขจะเป็นการสื่อสารที่รวดเร็ว เนื่องจากระแสไฟฟ้าเคลื่อนที่ได้เร็วมาก แต่ก็ยังไม่สะดวกแต่ผู้ใช้ เพราะต้องเขียนข่าวสาร ที่จะส่งไป เป็นตัวหนังสือ และส่งเป็นรหัสไปทีละตัวๆ มนุษย์จึงแสวงหาวิธีติดต่อสื่อสารแบบอื่นที่จะใช้ได้สะดวกยิ่งขึ้น ในที่สุดก็ได้ "โทรศัพท์"

            โทรศัพท์เป็นวิธีแปลงเสียงพูดให้เป็นกระแสไฟฟ้า แล้วส่งกระแสไฟฟ้านั้นไปในสายลวดไปเข้าเครื่องรับปลายทางที่จะทำหน้าที่ เปลี่ยนกระแสไฟฟ้า ให้กลับเป็นเสียงพูดอีกครั้งหนึ่ง จึงสะดวกขึ้น เพราะใช้เสียงพูดติดต่อกันได้เลย

            แต่ความไม่สะดวกก็ยังมี เพราะทั้งโทรเลขและโทรศัพท์ต้องใช้สายลวด ถ้าที่ใดขึงสายลวดไปถึงไม่ได้ก็ใช้โทรเลข หรือโทรศัพท์ไม่ได้


            มนุษย์ต้องรอต่อไป จนมีผู้คิดทำให้เกิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า คลื่นวิทยุขึ้นได้ จึงใช้คลื่นวิทยุแทนสายลวด ส่งโทรเลข และพูดโทรศัพท์ไปได้ไกลๆ ทั้งยังสามารถใช้ส่งข่าวสารติดต่อกับเรือ ที่แล่นอยู่ในทะเล และเครื่องบิน ที่เดินทางอยู่ในท้องฟ้าได้อีกด้วย

            ต่อมาได้ใช้คลื่นวิทยุส่งเสียงพูด เสียงดนตรี และเสียงแสดงละครไปให้ประชาชนที่อยู่ตามบ้านเรือนเรือกสวนไร่นาทั่วไปรังฟัง ซึ่งเรียกวิธีการนี้ว่า "วิทยุกระจายเสียง" และยังใช้คลื่นวิทยุส่งภาพถ่าย ภาพเอกสาร ฯลฯ ไปทางไกลได้อีก เรียกว่า "วิทยุโทรภาพ"


            ยิ่งไปกว่านั้น ยังใช้คลื่นวิทยุส่งภาพเหตุการณ์สดๆ ที่เคลื่อนไหวได้ เช่น ภาพการเล่นฟุตบอล ภาพการชกมวย ภาพการแสดงละคร และภาพการบรรเลงดนตรีไปให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นเหมือนกับได้เห็นเหตุการณ์นั้นๆ ณ ที่เกิดจริงๆ ได้อีกด้วย วิธีการนี้เรียกว่า "วิทยุโทรทัศน์"

            การสื่อสารชนิดใช้กระแสไฟฟ้า และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มีชื่อเรียกอย่างใหม่เฉพาะว่า "โทรคมนาคม" (อ่านว่า โท-ระ-คะ-มะ-นา-คม)