สิ่งมีชีวิตทั้งหลายในโลกต่างมีศัตรูคอยเบียดเบียน ทำให้เจ็บป่วยเป็นโรค พืชทุกชนิดก็เป็นสิ่งมีชีวิต จึงมีศัตรูทำลายก่อให้เกิดโรคเช่นเดียวกันกับคนและสัตว์ พืชที่ปลูกหรือขึ้นเองในธรรมชาติจะมีศัตรูคอยทำลาย ตั้งแต่เมล็ดเริ่มงอกจนเติบโตติดดอกออกผล เมื่อพืชเป็นโรคจะเจริญเติบโตช้า แคระแกร็น ไม่ติดดอก ออกผล หรือผลผลิตเสียหาย มีรอยตำหนิ รูปร่างผิดปกติ สีและรสชาติเปลี่ยนแปลง และเกิดการเน่าเสีย จำหน่ายไม่ได้ราคา
โรคพืช หมายถึง สภาวะที่ต้นพืชมีการทำงานที่ผิดปกติจนมีผลเสียหายต่อพืช เกิดจากสาเหตุ ๒ ประการ คือ โรคที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต และโรคที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต
๑. โรคที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต
เรียกว่า โรคติดเชื้อ สามารถแพร่ระบาดติดต่อมาสู่พืชได้ เชื้อโรคพืชมีหลายชนิดคล้ายกับเชื้อโรคของคนและสัตว์ เช่น เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อไฟโตพลาสมา และไส้เดือนฝอยซึ่งเป็นตัวพยาธิ เชื้อโรคพืชเหล่านี้ ทำให้พืชแสดงอาการโรคหลายแบบ ได้แก่ รากเน่า ต้นเหี่ยวตาย ใบเป็นจุด ใบไหม้ ใบด่าง ยอดเป็นพุ่มไม้กวาด หรือผลเน่า
๒. โรคที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต
เรียกว่า โรคไม่ติดเชื้อ ไม่แพร่ระบาดติดต่อ เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ดินขาดธาตุอาหาร ดินเป็นกรดหรือด่าง มากเกินไป อากาศร้อน แสงแดดจัด แห้งแล้ง น้ำแฉะ มีมลพิษในอากาศ ทำให้พืชแสดงอาการต่างๆ เช่น ใบเหลืองซีด ใบร่วง ใบไหม้ ต้นไม่เจริญเติบโต แคระแกร็น ผลผลิตลดลง
เมื่อพืชเกิดความเสียหายโดยเฉพาะเกิดโรคติดเชื้อ เกษตรกรจึงต้องหาวิธีแก้ไข ซึ่งมีอยู่หลายวิธี แต่เกษตรกรชอบใช้วิธีพ่นสารเคมี และใช้ในปริมาณมากเกินไป ทำให้เป็นอันตรายต่อเกษตรกรเองและผู้ที่ซื้อผลผลิตไปบริโภค นอกจากนี้ ยังอาจไปทำลายแมลง และจุลินทรีย์ ที่มีประโยชน์ในธรรมชาติ รวมถึงเป็นการสะสมสารเคมีในสิ่งแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดมลพิษกับธรรมชาติอีกด้วย ดังนั้น จึงมีการศึกษาค้นคว้าการจัดการโรคพืชด้วย "วิธีชีวภาพ" เพื่อทดแทนการใช้สารเคมี เนื่องจากเป็นวิธีที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และราคาไม่แพง เกษตรกรสามารถผลิตใช้เองได้
การจัดการโรคพืชด้วยวิธีชีวภาพ หมายถึง การใช้สิ่งมีชีวิตพวกจุลินทรีย์หรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมายับยั้งหรือทำลายเชื้อโรค จนไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับพืช เชื้อจุลินทรีย์พวกนี้เรียกว่า เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ ส่วนใหญ่ ได้แก่ เชื้อรา และเชื้อแบคทีเรีย