เล่มที่ 30
กล้วย
เล่นเสียงเล่มที่ 30 กล้วย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            กล้วยเป็นพืชที่คนไทยคุ้นเคยมาก เราใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของกล้วย ไม่ว่าจะเป็นลำต้น กาบ ใบ และผล แม้แต่ก้านใบ ก็ยังเป็นม้าขี่เล่นที่เด็กๆ ชื่นชอบ

กล้วยที่ควรนำมาต้ม เผา ปิ้ง หรือเชื่อมก่อนรับประทาน : กล้วยหักมุก

ประวัติของกล้วย

            กล้วยมีวิวัฒนาการมาถึง ๕๐ ล้านปี มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดียเป็นประเทศที่ปลูกกล้วยมากที่สุดในโลก และมีพันธุ์กล้วยมาก จนมีผู้กล่าวว่า "กล้วยเป็นผลไม้ของชาวอินเดีย" ต่อมาได้มีผู้นำกล้วยไปปลูกขยายพันธุ์ในทวีปแอฟริกา และอเมริกากลางตามลำดับ จนทำให้ในปัจจุบัน บางประเทศในอเมริกากลางสามารถส่งกล้วยเป็นสินค้าออกที่สำคัญมาก

            ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

  • ลำต้น กล้วยมีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า เหง้า ที่เราเห็นอยู่เหนือพื้นดิน เป็นลำต้นเทียม ประกอบด้วย กาบใบ ซึ่งจะชูก้านใบและใบ เมื่อเจริญแล้ว จะมีใบสุดท้ายก่อนเกิดดอก เรียกว่า ใบธง
  • ดอก กล้วยออกดอกเป็นช่อ ในช่อดอกยังมีกลุ่มช่อดอกย่อย เป็นกลุ่มๆ ระหว่างกลุ่มของช่อดอกย่อย มีกลีบประดับสีม่วงเข้มกั้นเรียกว่า กาบปลี ในช่อดอกย่อยแต่ละช่อมีดอกเพศเมียเรียงซ้อนกันอยู่ ๒ แถว ซึ่งจะเจริญต่อไปเป็นผล ส่วนดอกเพศผู้อยู่ที่ปลายคือ ส่วนที่เรียกว่า หัวปลี
  • ผล กลุ่มดอกเพศเมียเจริญเป็นผลได้โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ กลุ่มผล กล้วย ๑ กลุ่ม  เรียกว่า ๑ หวี ช่อดอกเมื่อเจริญเป็นผล เรียกว่า เครือ บางเครือมีเพียง ๒ - ๓ หวี บางเครืออาจมีมากกว่า ๑๐ หวี ทั้งนี้แล้วแต่พันธุ์กล้วย และการบำรุงดูแล
  • เมล็ด กล้วยบางพันธุ์มีเมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมเล็ก บางพันธุ์มีขนาดใหญ่ มีเปลือกหนา แข็ง สีดำ
  • ราก เป็นระบบรากฝอย แผ่ไปทางกว้าง
  • ใบ มีลักษณะเป็นแผ่นใบใหญ่สีเขียว กว้างประมาณ ๗๐ - ๙๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑.๗ - ๒.๕ เมตร ทั้งปลายและโคนใบมน รูปใบขอบขนาน

กล้วยที่นิยมรับประทานผลสด : กล้วยไข่

การจำแนกกลุ่มของกล้วย

            อาจจำแนกได้ตามวิธีรับประทาน และตามลักษณะทางพันธุกรรม หากจำแนกตามวิธีรับประทานก็มีกล้วยกินสด เช่น กล้วยไข่ กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า อีกชนิดหนึ่งมีแป้งมาก และเนื้อแข็ง เมื่อจะรับประทานต้องต้ม เผา ปิ้ง หรือเชื่อมก่อน จึงจะมีรสอร่อย เช่น กล้วยหักมุก กล้วยกล้าย

            ส่วนการจำแนกกลุ่มของกล้วยตามลักษณะทางพันธุกรรมนั้น พิจารณาจากบรรพบุรุษของกล้วย ซึ่งมี ๒ ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่ กล้วยป่า และกล้วยตานี กล้วยที่มีกำเนิดมาจากกล้วยชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือเป็นลูกผสมของ ๒ ชนิดรวมกัน เกิดเป็นกล้วยพันธุ์ต่างๆ มากมาย

กล้วยที่นิยมรับประทานผลสด : กล้วยน้ำว้า

พันธุ์กล้วยในประเทศไทย

            ในประเทศไทยมีพันธุ์กล้วย ๗๑ พันธุ์ ที่รู้จักกันดี เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยหักมุก กล้วยเล็บมือนาง ฯลฯ ชื่อของกล้วยพันธุ์ต่างๆ นี้ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้นำไปแต่งไว้เป็นกาพย์ฉบัง เพื่อให้เป็นแบบเรียนภาษาไทยในโรงเรียน เมื่อ  พ.ศ. ๒๔๒๗ เป็นบทประพันธ์ที่มีความไพเราะมาก

การปลูกและการดูแล

            กล้วยชอบอากาศร้อนชื้น ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า ๑๔ องศาเซลเซียส จะชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้นดินฟ้าอากาศของประเทศไทย จึงเหมาะแก่การปลูกกล้วยมาก กล้วยชอบดินปนทรายที่มีลักษณะร่วน มีการระบายน้ำและอากาศหมุนเวียนได้ดี หากมีหน่อมากเกินไป ควรเอาออกบ้าง เพื่อมิให้แย่งอาหารจากต้นแม่ ควรเก็บหน่อไว้สัก ๑ - ๒ หน่อ เพื่อให้เป็นตัวพยุงต้นแม่ การกำจัดหน่ออาจใช้เสียมคมๆ หรือมีดแซะลงไป หรือใช้มีดตัดแล้วคว้านหน่อที่อยู่เหนือดิน แล้วหยอดน้ำมันก๊าดที่บริเวณจุดเจริญ เพื่อยับยั้งการเจริญต่อไป ถ้ากล้วยอยู่ระหว่างออกดอกไม่ควรแซะหน่อ เพราะจะกระทบกระเทือนถึงต้นได้

ต้นอ่อนของกล้วยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ


            กล้วยเป็นพืชที่ต้องการธาตุอาหารมาก จึงควรบำรุงโดยใส่ทั้งปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก และปุ๋ยเคมีด้วย ตั้งแต่เริ่มต้นปลูก ๒ เดือนแรก ให้ปุ๋ยยูเรียเดือนละ ๑ ครั้ง เพื่อให้ได้ไนโตรเจน เดือนที่ ๓ และ ๔ ให้ปุ๋ยสูตร ๑๕ - ๑๕ - ๑๕ เดือนที่ ๕ และ ๖ ให้ปุ๋ยสูตร ๑๓ - ๑๓ - ๒๑ ปริมาณต้นละ ๑/๒ กิโลกรัม หากกล้วยให้ผลดกมาก จำเป็นต้องใช้ไม้ค้ำยันที่บริเวณโคนของเครือกล้วย เพื่อไม่ให้ต้นโค่นล้มลง

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญของกล้วย

            โรคระบาดในกล้วยเกิดจากเชื้อราเข้าทำลายรากเรียกว่า โรคตายพราย หากเชื้อราทำลายใบเป็นจุดเรียกว่า โรคใบจุด

            ส่วนแมลงที่เป็นศัตรูของกล้วยคือ ด้วงงวง ทำลายรากและเหง้ากล้วย หนอนม้วนใบเกิดจากผีเสื้อไปวางไข่ในใบอ่อนที่ยังม้วนอยู่


กล้วยนวล ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดเพียงอย่างเดียว

การขยายพันธุ์

            โดยทั่วๆ ไปมักใช้หน่อใบแคบหรือใบดาบ คือ มีใบเรียวเล็ก โคนหน่อใหญ่ จึงจะมีอาหารสะสมมาก เมื่อนำไปปลูก ก็จะได้ต้นที่แข็งแรง ส่วนหน่ออ่อน และหน่อใบกว้างมีอาหารสะสมในลำต้นน้อย ทำให้ลำต้นไม่แข็งแรง แต่บางพันธุ์ เช่น กล้วยนวล และกล้วยผา จะไม่มีหน่อ มีแต่เมล็ด ก็ใช้เมล็ดเพาะพันธุ์

            อีกวิธีหนึ่งคือ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากหน่อใบแคบ จะได้ต้นพันธุ์ที่สะอาด ปราศจากโรคและแมลง การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จากหน่อที่สมบูรณ์ ๑ หน่อ อาจขยายได้ถึง ๑๐,๐๐๐ ต้น ภายในเวลา ๑ ปี


กล้วยน้ำว้าเป็นอาหารเสริมของเด็ก
ประโยชน์ของกล้วย

            เราอาจนำทุกๆ ส่วนของกล้วยมาใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวันและในพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีกรรมทางศาสนา งานแต่งงาน การปลูกบ้าน ใช้เป็นทุ่นลอยน้ำให้เด็กๆ หัดว่ายน้ำ ผลกล้วยใช้เป็นอาหารเสริมของเด็ก และเป็นอาหาร เพื่อสุขภาพของบุคคลทั่วไป เพราะผลกล้วยสุกมีคุณค่าทางอาหาร โดยเฉพาะมีโพแทสเซียมสูง ช่วยลดความดันโลหิตได้


กล้วยเชื่อม

            ใบกล้วยที่ทั่วไปเรียกว่า ใบตอง นั้น มีประโยชน์นานัปการ เช่น ใช้ห่ออาหาร ทั้งเพื่อเก็บรักษาความชุ่มชื้น และเพื่อปิ้ง นึ่ง หรือต้ม ใช้ทำกระทงใส่ดอกไม้ หรือนำมาประดิษฐ์เป็นบายศรี

            ส่วนที่เป็น กาบกล้วย ก็มีประโยชน์มากมาย เช่น เมื่อนำมาฉีกเป็นเส้นใหญ่ๆ ใช้มัดผักเป็นกำๆ เช่น ชะอม ตำลึง เพื่อให้ความชื้นแก่ผัก ถ้าฉีกเป็นเส้นเล็กๆ ใช้เป็นเชือกมัดของ กาบแห้งทำเป็นเชือกกล้วย หรือใช้สานทำภาชนะใส่สิ่งของ หรือสานเป็นกระเป๋าสุภาพสตรีได้

ยำหัวปลี

การแปรรูปกล้วย

            การแปรรูปทำให้เก็บรักษาได้นานขึ้น และทำให้ผลผลิตมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นด้วย อาจนำกล้วยมาแปรรูปได้ ทั้งในสภาพที่ยังดิบ และสุกแล้ว ถ้ากล้วยยังดิบอยู่อาจนำมาทำกล้วยฉาบ หรือกล้วยทอดกรอบ ทำแป้งกล้วยเพื่อใช้เป็นส่วนผสมขนมต่างๆ ส่วนกล้วยสุกเรานิยมนำมาทำเป็นกล้วยตาก กล้วยเชื่อม กล้วยบวชชี กล้วยทอด กล้วยกวน ทอฟฟี่กล้วย บางแห่งทำน้ำผลไม้จากกล้วยสุก

            ปลีและหยวกกล้วยก็ยังสามารถนำมาทำเป็นอาหารที่อร่อยและมีคุณค่าทางอาหารสูงได้ เช่น ยำหัวปลี แกงเลียงหัวปลี และแกงหยวกกล้วย