จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี พบว่าดินแดนส่วนหนึ่ง ของประเทศไทย แถบจังหวัดทางภาคตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จันทบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ เคยตกอยู่ใต้อิทธิพลของอาณาจักรขอมหรือเขมรโบราณ เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๘ มาก่อน เพราะมีอาคารทรงปราสาทในวัฒนธรรมขอมที่เรียกว่า “ปราสาทขอม” กระจัดกระจายอยู่มากมายในบริเวณดังกล่าว ปราสาทขอมเป็นศาสนสถานสำหรับประดิษฐานรูปเคารพ และเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ก่อสร้างด้วยวัสดุที่มั่นคงแข็งแรงประเภทอิฐหรือหิน จึงค่อนข้างคงทนถาวร แม้เวลาจะล่วงเลย ไปนาน แต่ยังคงปรากฏให้เห็นเป็นโบราณสถานอยู่ในปัจจุบัน
ปราสาทขอมเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นสำหรับประดิษฐานรูปเคารพ และเพื่อประกอบพีธีกรรมทางศาสนา ในภาพคือ ปราทสาทพนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ สร้างขึ้นตามคติความเชื่อในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย
คติการสร้าง และความเกี่ยวเนื่องระหว่างปราสาทกับศาสนา
คติการสร้างปราสาทเนื่องมาจากความเชื่อของผู้นับถือศาสนาฮินดู ที่ถือว่า เทพเจ้าสถิตอยู่ ณ เขาพระสุเมรุ อันเป็นแกนกลางของจักรวาล การสร้างปราสาทเปรียบเสมือนการจำลองเขาพระสุเมรุมายังโลกมนุษย์ เพื่อเป็นที่สถิตของเทพเจ้าคือ พระอิศวร หรือพระศิวะ และพระนารายณ์ องค์ปราสาทมีสัญลักษณ์ ที่แทนความหมายของเขาพระสุเมรุ กล่าวคือ มีปราสาทประธานอยู่ตรงกลาง ภายในเป็นห้องเรียกว่า “ครรภคฤหะ” ประดิษฐานรูปเคารพที่อาจเป็นศิวลึงค์ (สัญลักษณ์ของพระอิศวรหรือพระศิวะ) หรือพระนารายณ์ แล้วแต่ว่า ผู้สร้างปราสาทจะศรัทธานิกายใด ล้อมรอบปราสาทประธานเป็นปราสาทบริวาร มีสระน้ำ และมีกำแพงล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ทำให้แลดูประหนึ่งว่า ปราสาทประธานเป็นเขาพระสุเมรุ ซึ่งตั้งอยู่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล
โดยทั่วไปศาสนสถานในศิลปะขอมสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดูเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงบางแห่งที่สร้างขึ้นในพระพุทธศาสนานิกายมหายาน เมื่อกษัตริย์ขอมทรงเปลี่ยนไปนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว วิธีการสังเกตว่า ปราสาทแห่งนั้นๆ สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาและลัทธิใด ดูได้จากรูปเคารพที่ประดิษฐานในปราสาทประธานเป็นสำคัญ ถ้าไม่ปรากฏรูปเคารพ ก็ให้ดูได้จากภาพเล่าเรื่องบนทับหลัง โดยเฉพาะทับหลังประดับด้านหน้าของตัวครรภคฤหะ (เรือนธาตุ) หรือห้องภายในปราสาทประธาน จะเป็นตัวบอกได้ดีที่สุด
พระพรหม
แผนผังรูปแบบ และองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม
ปราสาทขอมที่มีขนาดใหญ่ มีแผนผังรูปแบบประกอบด้วย กำแพงล้อมรอบศาสนสถาน ตรงกลางกำแพงมีซุ้มประตูทางเข้าทั้ง ๔ ด้าน เรียกว่า "โคปุระ" ถัดเข้าไปมีสระน้ำ จนถึงกำแพงชั้นในที่ล้อมรอบปราสาทประธาน ซึ่งเรียกว่า "ระเบียงคด" มีโคปุระทั้ง ๔ ด้านเช่นกัน ภายในระเบียงคดเป็นที่ตั้งของปราสาทประธาน ซึ่งอาจเป็นปราสาทหลังเดียวโดดๆ หรือปราสาท ๓ หลัง ๕ หลัง หรือ ๖ หลังก็ได้ นอกจากนี้อาจมีอาคารขนาดเล็ก ผังพื้นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เรียกว่า “บรรณาลัย” เป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ อยู่หน้าปราสาทประธาน
องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของปราสาทขอม
ประกอบด้วย
๑. ส่วนฐาน ตั้งอยู่บนฐานเตี้ยๆ เรียกว่า “ฐานบัว”
๒. ส่วนกลาง เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม ภายในเป็นห้องสำหรับใช้ ประดิษฐานรูปเคารพ เรียกว่า “ห้องครรภคฤหะ” ด้านหน้าห้องครรภคฤหะ มีมณฑปยื่นออกมา มีตัวเชื่อมกับส่วนนี้ เรียกว่า “อันตราละ” (มุขกระสัน) ส่วนของประตูมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ วงกบกรอบประตู เป็นเสาสี่เหลี่ยม รองรับน้ำหนักของส่วนบน มักสลักลวดลายงดงาม และด้านหน้าวงกบเป็นเสาประดับกรอบประตู ตัวเสาประดับกรอบประตูนี้ใช้เป็นหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่ง เพื่อกำหนดอายุของศาสนสถานนั้นๆ เช่น ในระยะแรกจะเป็นเสากลมแบบอินเดีย ต่อมาเป็นเสาแปดเหลี่ยม และการสลักลวดลายก็บอกถึงวิวัฒนาการได้ด้วยเช่นกัน
เหนือกรอบประตูเป็นแท่งหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เรียกว่า “ทับหลัง” นิยมสลักลวดลายและภาพเล่าเรื่องต่างๆ ทับหลังชิ้นสำคัญที่สุดอยู่ด้านหน้าของห้องครรภคฤหะ
เหนือทับหลังคือ “หน้าบัน” เป็นรูปหน้าจั่ว ตัวหน้าบันนิยมสลักลวดลาย และภาพเล่าเรื่องที่มักสัมพันธ์กับเรื่องบนทับหลัง
๓. ส่วนยอด คือ ส่วนยอดของปราสาทที่ทำเป็นหลังคาซ้อนชั้นลดหลั่นกัน โดยทั่วไปมี ๕ ชั้น แต่ละชั้นมี “นาคปัก” คือ หัวนาคประดับที่มุมประธาน แต่ละด้านประดับด้วยบันแถลง หมายถึง รูปจั่ว หรือซุ้มหน้าต่าง เป็นรูปสัญลักษณ์ของวิมานที่สถิตของเทวดา ส่วนยอดสุดเป็นรูปกลีบบัว เรียกว่า “บัวทรงคลุ่ม” รองรับส่วนยอดที่เรียกชื่อว่า “กลศ” (กะ-ละ-สะ) ซึ่งมีรูปร่างคล้ายหม้อน้ำเทพมนตร์ในศาสนาฮินดู
โบสถ์ซางตาครู้สในชุมชนกุฎีจีนทางฝั่งธนบุรี ในอดีตเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวโปรตุเกสที่เข้ามาค้าขายในไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา
การกำหนดอายุของปราสาทขอมในประเทศไทย
จากการศึกษาของนักประวัติศาสตร์ศิลปะ ได้มีการกำหนดอายุของปราสาทขอมในประเทศไทยออกเป็นช่วงเวลาต่างๆ โดยการเทียบเคียงกับปราสาทขอมที่มีอยู่ในประเทศกัมพูชา ปรากฏว่า ปราสาทขอมในประเทศไทยที่มีอายุเก่าแก่มาก ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๕ มีพบอยู่ไม่มากนัก ปราสาทที่จัดว่า มี อายุเก่าแก่ที่สุด คือ ปราสาทภูมิโพน (ภูมิโปน) ที่อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ ส่วนปราสาทที่เก่าแก่รองลงมาคือ ปราสาทสระเพลง ปราสาทโนนกู่ และปราสาทเมืองแขก ที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ปราสาทสังข์ศิลป์ชัย ที่อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ และปรางค์แขก ที่อำเภอเมืองฯ จังหวัดลพบุรี มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ ซึ่งตรงกับศิลปะขอมที่เรียกชื่อว่า แบบพระโค แบบบาแค็ง แบบเกาะแกร์ และแบบแปรรูป
ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ ซึ่งตรงกับช่วงศิลปะขอมที่เรียกชื่อว่า แบบคลัง (หรือเกลียง) แบบบาปวน และแบบนครวัด มีปราสาทขอมในประเทศไทยหลายแห่งสร้างขึ้นในระยะนี้ ที่สำคัญคือ ปราสาทพนมวัน และปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ปราสาทเมืองต่ำ และปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทบ้านพลวง และปราสาทศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ และปราสาทสด็อกก็อกธม จังหวัดสระแก้ว
นาคปัก คือ หัวพญานาค
ประดับที่มุมประธานของแต่ละชั้น
พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งตรงกับช่วงศิลปะขอมที่เรียกชื่อว่า แบบบายน มีปราสาทขอมเป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย ที่สำคัญ ได้แก่ ปราสาทโคกปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี และปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี