การเห่เรือของไทยเป็นศิลปะอันงดงาม ประกอบด้วยศิลปะแขนงต่างๆ อย่างน้อย ๖ แขนง ได้แก่
ศิลปะในด้านนาวาสถาปัตยกรรม มีการออกแบบรูปทรงลำเรืออันสง่างาม ภูมิฐาน ได้ประโยชน์ใช้สอยอย่างสมบูรณ์ ดังเช่น เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ที่ได้รับเหรียญรางวัลมรดกทางทะเล จากองค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักร ประจำ ค.ศ. ๑๙๙๒ (พ.ศ. ๒๕๓๕)
ศิลปะในด้านจิตรกรรม มีการออกแบบลวดลาย และสีสันของเรืออย่างวิจิตรงดงาม
ศิลปะในด้านประติมากรรม มีการแกะสลักลวดลายของตัวเรือให้เกิดความตื้นลึก มีแสงเงา
ศิลปะในด้านการพายเรือ ที่มีท่วงท่าพร้อมเพรียงงามสง่า
ศิลปะในด้านการร้องเห่ ที่มีพลังเสียงก้องกังวาน และ
ศิลปะในด้านวรรณกรรม มีการประพันธ์บทกาพย์เห่เรือที่มีรูปแบบการใช้ภาษาที่ไพเราะงดงามอย่างยิ่ง
โขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙
การเห่เรือเป็นศิลปวัฒนธรรมของไทยมาแต่โบราณ ดังปรากฏในวรรณกรรมต่างๆ เช่น ในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ กล่าวถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เสด็จพระราชดำเนิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีลอยพระประทีป ในสมัยอยุธยา มีการกล่าวถึงการจัดกระบวนพยุหยาตราทาง ชลมารค ในลิลิตยวนพ่าย สมุทรโฆษคำฉันท์ และบทเห่เรือพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร รวมทั้งการจัดกระบวนพยุหยาตราเพชรพวง ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งมีหลักฐานปรากฏอยู่ในหนังสือสมุดไทย
ประเภทของการเห่เรือ
มี ๒ ประเภท คือ
๑. เห่เรือหลวง คือ การเห่เรือในการพระราชพิธี หรือที่เรียกว่า กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคอย่างใหญ่ และพยุหยาตราทางชลมารคอย่างน้อย
๒. เห่เรือเล่น คือ กิจกรรมที่บุคคลทั่วไปเที่ยวเล่นทางเรือ ร้องเห่ เพื่อกำกับจังหวะในการพายเรือให้พร้อมเพรียงกัน และเพื่อความสนุกสนาน
ลายจำหลักเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
ลีลาการเห่เรือ
มี ๒ ทาง คือ
๑. ลีลาของกองทัพเรือ เป็นลีลาการเห่ที่ขรึมขลัง มีความงามสง่าสอดคล้องกับกระบวนเรือพระราชพิธี ผู้ที่เป็นต้นเสียงเห่เรือพระราชพิธีของกองทัพเรือทุกคน ได้รับการฝึกหัดให้มีกระแสเสียงไพเราะ กังวาน มีพลังในการเปล่งเสียง มีความสามารถร้องเพลงไทยสองชั้น ตามแบบฉบับของครูเพลงกรมศิลปากร แล้วนำไปปรับให้เข้ากับจังหวะการพายเรือ ซึ่งเป็นวิธีการเห่เรือที่เรียกว่า เห่เรือออกเพลง
๒. ลีลาของกรมศิลปากร เป็นลีลาที่กรมศิลปากรได้รับถ่ายทอดมาจาก กองทัพเรือ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ แต่ปรุงแต่งทำนองการเห่เรือให้มีลีลาอ่อนหวาน เข้ากับท่ารำ ซึ่งเป็นการบรรยายการเดินทางด้วยเรือของตัวละคร
วิธีการและขั้นตอนในการเห่เรือพระราชพิธี
๑. ระเบียบวิธีในการเห่เรือ
- การจัดกระบวนเรือ จะจัดเรือทุกลำไว้กลางแม่น้ำ ยกเว้นเรือพระที่นั่งทรงและเรือพระที่นั่งรอง จะจอดเทียบท่า เพื่อรอเสด็จพระราชดำเนิน ผู้บัญชาการกระบวนเรือจะต้องประจำอยู่ในเรือกลองใน หรือเรือแตงโม ซึ่งแล่นนำหน้าเรือพระที่นั่ง โดยใช้สัญญาณแตรในการจัด และควบคุมกระบวนเรือทั้งหมด
- เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาถึงและประทับในเรือพระที่นั่งทรงแล้ว นายเรือรัวกรับให้สัญญาณจับพาย และให้สัญญาณมือแก่ผู้ถือแพนหางนกยูงหัวเรือพระที่นั่ง เพื่อโบกแพนหางนกยูงให้ สัญญาณเริ่มเดินพายแก่ฝีพายอีกทอดหนึ่ง
- การให้จังหวะในการพายเรือแก่ฝีพายเรือพระที่นั่ง ใช้กรับเท่านั้น
- การเห่เรือในกระบวนพยุหยาตราอย่างใหญ่ เห่ในเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช มีฝีพายเป็นลูกคู่รับ การร้องรับจะร้องรับเพียงลำเดียวเท่านั้น ลำอื่นๆ ไม่ต้องร้องรับ
- การเห่เรือในกระบวนพยุหยาตราอย่างน้อย กระบวนราบใหญ่ และกระบวนราบน้อย ต้นเสียงจะต้องเห่ในเรือทรงผ้าไตร
- พนักงานเห่เรือ จะเริ่มเกริ่นโคลงได้เมื่อเรือพระที่นั่งทรงออกจากท่าแล้ว กำลังจะเข้ากระบวน เมื่อเกริ่นโคลงจบ เรือพระที่นั่งก็พร้อมที่จะเคลื่อนตามเรือทั้งกระบวนพอดี
- การขานเสียงรับ ฝีพายจะขานรับข้ามที่ประทับไม่ได้ เป็นเรื่องต้องห้าม เช่น ต้นเสียงเห่อยู่ตอนหัวเรือ ก็ให้ขานรับเฉพาะฝีพายที่อยู่ตอนหัวเรือ
- พลฝีพายในเรือพระที่นั่งทรง เรือพระที่นั่งรอง และเรือทรงผ้าไตร ทั้ง ๓ ลำนี้ สำนักพระราชวังจะเป็นผู้กำหนดให้แต่งกายรับเสด็จอย่างเต็มยศ หรือครึ่งยศ หากแต่งกายเต็มยศพล ฝีพายใช้พายเงินพายทอง หากแต่งกายปกติจะแต่งกายดำ สวมหมวกกลีบลำดวน ใช้พายที่ทาด้วยน้ำมันดิน
- ท่าพายเรือพระที่นั่งจะเป็นท่านกบินเป็นหลัก หากจะเปลี่ยนท่าพายในกรณีฉุกเฉินใดๆ จะต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนเสมอ
- การเสด็จพระราชดำเนินกลับ หากเป็นยามอาทิตย์อัสดงแล้วต้องโห่ ๓ ลาก่อน จึงจะออกเรือพระที่นั่งได้
ลายจำหลักเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
๒. ทำนองการเห่เรือ
พนักงานต้นเสียงเห่เรือจะขึ้นต้นเกริ่นเห่ ก่อนเริ่มเห่ตามทำนอง เนื่องจากบทเกริ่นเป็นความในโคลงสี่สุภาพ จึงมักเรียกว่า เกริ่นโคลง เป็นการให้สัญญาณเตือนฝีพายให้อยู่ในท่าเตรียมพร้อม เมื่อจบเกริ่นโคลง พนักงานนำเห่ จึงเห่ตามทำนอง คือ
- ช้าละวะเห่ หรือเห่ช้า มีจังหวะช้า ท่วงทำนองไพเราะ ถือเป็นการให้สัญญาณเริ่มต้นเคลื่อนเรือในกระบวนทุกลำไปพร้อมๆ กันอย่างช้าๆ บทเห่นี้ขึ้นต้นว่า “เห่เอ๋ย...พระเสด็จ...โดย...แดน (ลูกคู่รับ โดยแดนชล)” จึงเริ่มเดินพายจังหวะที่ ๑
- มูลเห่ หรือเห่เร็ว พนักงานนำเห่ แล้วลูกคู่รับ “ชะฮ้าไฮ้” ต่อท้ายบทว่า “เฮ้ เฮ เฮ เฮ...เห่ เฮ” ฝีพายจะเร่งพายให้เร็วกว่าเดิมตามจังหวะกระทุ้งเส้า ใช้ประกอบการพายพากระบวนเรือไปจนใกล้ถึงที่หมาย
- สวะเห่ เมื่อใกล้ถึงที่หมาย พนักงานเห่ และพลพายจะต้องจำทำนอง และเนื้อความทำนองสวะเห่ให้แม่น เพราะต้องใช้ปฏิภาณคะเนระยะทาง และใช้เสียงสั้นยาวให้เหมาะกับสถานการณ์ เป็นการเห่ที่ยากที่สุด
- การเห่ทำนองสวะเห่นี้เป็นทำนองเห่ตอนเก็บพาย คือ เมื่อขึ้นทำนองเห่นี้ก็เป็นสัญญาณว่า ฝีพายจะต้องเก็บพาย โดยไม่ต้องสั่งพายลง บทเห่ทำนองนี้ ขึ้นต้นว่า “ช้าแลเรือ” ลูกคู่รับ “เฮ เฮ เฮ เฮโฮ้ เฮโฮ้” วรรคสุดท้ายจบว่า “ศรีชัยแก้ว พ่อเอ๋ย” ลูกคู่รับ “ชัยแก้วพ่ออา” เรือพระที่นั่งก็จะเข้าเทียบท่าพอดี และจบเห่
คำประพันธ์ที่ใช้เป็นบทเห่เรือและบทเห่ที่เป็นแบบฉบับ
คำประพันธ์ที่ใช้เป็นบทเห่เรือ เรียกว่า กาพย์เห่เรือ บางครั้งเรียกว่า กาพย์ห่อโคลงเห่เรือ มีโคลงสี่สุภาพขึ้นเป็นต้นบท ๑ บท ตามด้วยกาพย์ยานี ๑๑ บรรยายย้อนทวนความตามบทโคลงนั้นให้ละเอียด กาพย์เห่เรือที่ยึดถือเป็นแบบแผนมาจนถึงปัจจุบัน คือ กาพย์เห่เรือบทพระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร (เจ้าฟ้ากุ้ง) สมัยอยุธยาตอนปลาย ปัจจุบันเหลือเพียง ๒ เรื่อง คือ บทพระราชนิพนธ์เห่เรือชมพยุหยาตราทางชลมารค และบทเห่เรื่องกากี
ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน นับว่าเป็นยอดของบทเห่อีกบทหนึ่ง
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทเห่เรือ ๔ บท ใช้เป็นบทเห่เรือเล่น และเห่เรือหลวง คือใช้สำหรับเห่ถวายเวลาเสด็จลอยพระประทีป และใช้เห่กระบวนพยุหยาตราพระกฐินทางชลมารค จนกลายเป็นประเพณีพระราชพิธีสืบต่อมาถึงพุทธศักราช ๒๔๗๕ จึงห่างหายไป จนกระทั่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูจารีตประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นใหม่ ใช้บทเห่เรือทั้งของเก่า และที่แต่งขึ้นใหม่
ต้นฉบับสมุดภาพริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราทางชลมารค ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช