หอศิลป์ คือ สถานที่รวบรวมผลงานศิลปกรรมของศิลปินในแต่ละยุคสมัย หน้าที่ของหอศิลป์ คือ ดูแลรักษาผลงานศิลปกรรม เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้และความเพลิดเพลินในการชมสิ่งสวยงาม รวมทั้งจัดนิทรรศการแสดงผลงานศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้น แก่ประชาชน
หอศิลป์ เป็นส่วนหนึ่งของประเภทพิพิธภัณฑ์ ที่รับผิดชอบบริหารจัดการผลงานศิลปะด้านศิลปะบริสุทธิ์ ซึ่งประกอบด้วย ผลงานด้านจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ศิลปะแนวสื่อประสมและศิลปะแนวจัดวาง ศิลปะแนวประเพณี ศิลปะเชิงความคิด ศิลปะการแสดงสด เป็นต้น

หอศิลป์ แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท ได้แก่
๑. หอศิลป์แห่งชาติ เป็นหอศิลป์ที่มีความสำคัญระดับชาติ อยู่ในการควบคุมดูแลและบริหารจัดการของรัฐบาล เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ตั้งอยู่ที่ถนนเจ้าฟ้า เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรุงเทพฯ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ตั้งอยู่ภายในบริเวณกรมศิลปากร ถนนหน้าพระธาตุ กรุงเทพฯ
๒. หอศิลป์ประจำจังหวัด อยู่ในการควบคุมดูแลและบริหารจัดการของหน่วยงานในระดับจังหวัด หรือส่วนราชการในระดับท้องถิ่น เช่น หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อยู่ที่สี่แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ

๓. หอศิลป์ในมหาวิทยาลัย อยู่ในการควบคุมดูแลและบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษา เช่น หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ หอศิลป์สนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น หอศิลป์นครหาดใหญ่ เฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดสงขลา
๔. หอศิลป์เอกชน อยู่ในการควบคุมดูแลและบริหารจัดการของบุคคล สมาคม องค์กร หรือบริษัทเอกชน เช่น บางกอก อาร์ต เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นหอศิลป์เอกชนแห่งแรก ห้องศิลปนิทรรศมารศี พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ของธนาคารกรุงเทพ หอศิลป์กรุงไทย ของธนาคารกรุงไทย หอศิลป์ของธนาคารไทยพาณิชย์ บางกะปิแกลเลอรี่ หอศิลปะปทุมวัน หอศิลป์ตาดู ของบริษัทยนตรกิจ จำกัด หอศิลป์ริมน่าน ของนายวินัย ปราบริปู ที่จังหวัดน่าน
กิจกรรมด้านการศึกษาของหอศิลป์มีหลากหลาย เช่น จัดบรรยายโดยอาจจัดให้ศิลปินเป็นผู้บรรยาย จัดประชุมทางวิชาการ จัดแสดงผลงานศิลปะ หรือจัดกิจกรรมกลางแจ้งเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างหอศิลป์กับชุมชน