เล่มที่ 30
ปลากัด
เล่นเสียงเล่มที่ 30 ปลากัด
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาแล้ว การชนไก่และการกัดปลา เป็นเกมกีฬาและการพนันที่ได้รับความนิยมมากในหมู่คนไทย โดยเฉพาะเกมกีฬากัดปลา มักนิยมใช้ปลากัด\ซึ่งเป็นปลาที่มีความอดทนสูงในการต่อสู้ รวมทั้งมีลีลาและชั้นเชิงในการต่อสู้ที่ตื่นเต้น น่าดูและน่าชมมาก นอกจากนั้นปลากัดยังเป็นปลาที่มีสีสันและครีบหางที่สวยงาม จึงมีผู้นิยมเลี้ยงปลากัดเป็นปลาสวยงามด้วย ทำให้ปลากัดไทยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก

ลักษณะปลากัดที่ดีดูได้จากท่าทาง สีลำตัว รูปแบบ และสีของครีบ

            ลักษณะของปลากัดที่ดีดูจากลักษณะท่าทาง สีลำตัว ลักษณะรูปแบบ และสีของครีบ ลักษณะครีบของปลากัดมีทั้งครีบ ที่มีอันเดียว ได้แก่ ครีบหาง ครีบหลัง และครีบก้น ส่วนครีบที่มี ๒ ครีบเป็นครีบคู่ ได้แก่ ครีบท้อง และครีบอก ซึ่งอยู่ติดบริเวณเหงือก ครีบหางมีสีสัน และลักษณะรูปแบบ ที่หลากหลายมาก เช่น เป็นรูปครึ่งวงกลม สามเหลี่ยม หรือรูปใบโพธิ์ ส่วนสีที่ลำตัวและหางมีทั้งสีเดียว สองสี หรือมีหลากสี หากเป็นสีเดียวจะมีทั้งสีเข้มและสีอ่อน นอกจากนี้ ยังอาจเป็นสีลวดลายคล้ายลายผีเสื้อ หรือลายหินอ่อนด้วยก็ได้


ปลากัดตัวผู้สร้างหวอด เพื่อเตรียมผสมพันธุ์

            คนไทยเลี้ยงปลากัดกันอย่างแพร่หลายในทุกภาคของประเทศ รวมทั้งมีการคัดสรรพันธุ์ ทำให้ปลากัดเกิดสีสัน และลักษณะหางที่สวยงาม แปลกตา จนปัจจุบันกลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมมากชนิดหนึ่ง ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ

            ปลากัดมีหลายสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่นิยมเพาะเลี้ยงกันมาก และได้ถูกปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้ได้ปลาที่กัดเก่ง และได้ปลากัดที่มีลักษณะสวยงาม เป็นปลากัดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens ซึ่งพบในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสานบางส่วน และภาคใต้ตอนบน ปลากัดสายพันธุ์นี้ มีลักษณะทางพันธุกรรมที่สามารถสร้างลักษณะสีและครีบได้มากมาย เนื่องจากมีลักษณะทางพันธุกรรมที่แปรผันได้มากอยู่ก่อนแล้ว จึงมียีนที่ควบคุมลักษณะต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน เมื่อมีการผสมพันธุ์ระหว่างปลากัดจึงมีโอกาสที่ยีนซึ่งควบคุมลักษณะต่างๆ ที่แฝงอยู่ สามารถแสดงลักษณะออกมาให้เห็น ปลากัดสายพันธุ์อื่นที่นิยมเลี้ยง เพื่อนำมากัดกันชนิดหนึ่งเป็นปลากัดพื้นเมืองภาคใต้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta imbellis อีกชนิดหนึ่งเป็นปลากัดพื้นเมืองภาคอีสาน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta smaragdina ในปัจจุบันได้มีการผสมข้ามพันธุ์ ระหว่าง Betta imbellis และ Betta splendens เพื่อให้ได้ปลากัดลูกผสม ที่เป็นปลาสวยงาม ซึ่งมีลักษณะใหม่ๆ


ไข่ที่ผสมแล้วจมลงสู่เบื้องล่าง

            ลักษณะพิเศษของปลากัดคือ ปลากัดตัวผู้จะเป็นผู้สร้างรัง สำหรับการวางไข่ และดูแลตัวอ่อน โดยการฮุบเอาอากาศเข้าไป แล้วพ่นฟองอากาศ ที่ผสมกับเมือกในปาก เห็นเป็นฟองบริเวณผิวน้ำ เรียกว่า หวอด สำหรับให้ไข่ปลาและตัวอ่อนมาเกาะติด ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม - กันยายน ปลากัดมีการผสมพันธุ์กันภายนอก โดยเริ่มจากปลากัดตัวผู้จะเข้ารัดตัวปลากัดตัวเมีย ให้ปล่อยไข่ออกมาเป็นชุดๆ ขณะเดียวกัน ปลาตัวผู้จะฉีดน้ำเชื้อเข้าผสม ไข่จะค่อยๆ จมลงสู่เบื้องล่าง ปลาตัวผู้จะว่ายตามลงไป และใช้ปากดูดอมไข่ไว้ แล้วว่ายขึ้นไป พ่นให้ติดไว้ที่หวอด การรัดแต่ละครั้งจะทิ้งช่วง ๑ - ๘ นาที ทำซ้ำเช่นนี้จนตัวเมียวางไข่หมด หลังจากนั้น ปลาตัวผู้จะคอยดูแลไข่และลูกปลาที่ฟักออกเป็นตัว ในระหว่างนั้น ปลาตัวผู้จะคอยไล่ตัวเมียไม่ให้เข้ามาใกล้หวอด เพราะปลาตัวเมียอาจกินไข่หรือลูกปลาได้

            ปลากัดเป็นปลาที่มีความอดทนในการต่อสู้เป็นระยะเวลานานๆ การต่อสู้มีชั้นเชิงและศิลปะ โดยเฉลี่ยใช้เวลา ประมาณ ๑ ชั่วโมงขึ้นไปโดยไม่มีการพัก จะพักก็เพียงการโผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมาฮุบอากาศ ในระหว่างการต่อสู้ จะมีการแผ่ครีบของเหงือก และเปล่งสีเต็มที่ คู่ต่อสู้หันหัวไปในทางเดียวกัน โดยตัวใดตัวหนึ่งอยู่เยื้องไปทางด้านหลังเล็กน้อย ปลาจะอยู่ในท่านี้ช่วงเวลาสั้นๆ อาวุธหลักที่ใช้ทำร้ายศัตรูคือ ฟัน จุดหลักในการโจมตีคือ ครีบก้น ครีบหาง และครีบหลัง ส่วนครีบอก และครีบท้องนั้น ไม่เป็นที่สนใจนัก บางทีถูกกัดครีบจนขาดวิ่น และยังถูกกัดต่อที่บริเวณข้างลำตัว จนเป็นแผล บางครั้งมีการโจมตีกันซึ่งๆ หน้า โดยปลากัดจะประสานปากเข้ากัด หันส่วนหัวเข้ากัด ล็อกขากรรไกร ทำการกัดแบบที่เรียกว่า "ติดบิด" โดยอยู่ในท่านี้ประมาณ ๑๐ - ๒๐ วินาที จึงแยกจากกันขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อฮุบอากาศและกลับมาต่อสู้กันอีก บางครั้งในการกัดปลาอาจจะมีการติดบิดถึง ๒๐ ครั้ง จึงจะรู้แพ้รู้ชนะได้


            ในปัจจุบันได้มีการคิดค้นพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดให้มีลักษณะครีบและสีสัน สวยงามแปลกตา ทั้งที่เป็นสีเดียว สองสี และหลายสี กับได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดให้ได้ปลากัดขนาดใหญ่ที่มีความยาวของลำตัว ๓ - ๔ นิ้ว ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเดิมมาก ปัจจุบัน ปลากัดได้ถูกพัฒนาจนได้ครีบหาง ที่มีลักษณะสวยงามหลายรูปแบบ เช่น หางมงกุฎ หางสามเหลี่ยม หางพระจันทร์ครึ่งซีก มีทั้งครีบสั้นและครีบยาว และมีสีสันหลากหลายตั้งแต่สีอ่อน เช่น สีมุก สีเหลือง สีชมพู สีส้ม และสีเข้ม เช่น สีแดง สีน้ำเงิน สีดำ รูปแบบของสี ก็มีทั้งสีเดียว สองสี หลายสี และที่เป็นลวดลาย ในการผสมปลากัดให้ได้สีที่ต้องการนั้น จะต้องศึกษาการถ่ายทอดพันธุกรรมของสี และคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ ที่สามารถให้ลักษณะสีที่ต้องการ นำมาผสมคัดพันธุ์ จนกว่าจะได้ลักษณะตามที่คาดหวัง