เล่มที่ 30
กฎหมายตราสามดวง
เล่นเสียงเล่มที่ 30 กฎหมายตราสามดวง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            กฎหมาย เป็นกฎหรือระเบียบข้อบังคับบุคคลให้ปฏิบัติ ซึ่งกำหนดขึ้นโดยสถาบัน หรือผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ หรือที่เกิดขึ้นจากจารีตประเพณีอันเป็นที่ยอมรับนับถือ เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ และปกครองให้พลเมืองของรัฐหรือประเทศ อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และได้รับความยุติธรรม

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประดิษฐานที่พิพิธภัณฑ์อัยการไทย


            ประเทศต่างๆ ที่เจริญแล้วล้วนมีกฎหมายใช้ในการบริหารและปกครองประเทศ ประเทศไทยก็เช่นกันที่มีกฎหมายใช้มานานแล้ว แต่เริ่มมีการชำระกฎหมายครั้งใหญ่ในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีสาเหตุมาจากการที่มีผู้ยื่นฎีกาขอความเป็นธรรม ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เนื่องจากกฎหมายเดิมไม่ให้ความเป็นธรรม พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตรวบรวม และชำระกฎหมายทั้งหลายที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา คือ นำมาตรวจสอบความถูกต้อง และความเหมาะสมของเนื้อความ ปรับปรุงส่วนที่ไม่เป็นธรรม จัดหมวดหมู่ของตัวบทกฎหมายให้ชัดเจน เพื่อให้สะดวกแก่การใช้ และเพิ่มเติมข้อบังคับต่างๆ ที่ช่วยให้เกิดความเป็นธรรมในเรื่องต่างๆ ตามความเหมาะสมกับสภาพสังคม

            กฎหมายที่ชำระจัดทำใหม่นี้ รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้ปิดตราพระราชสีห์ ตราพระคชสีห์ และตราบัวแก้ว ไว้บนปกทุกเล่ม จึงเรียกกฎหมายนี้ว่า "กฎหมายตราสามดวง" ตราพระราชสีห์ เป็นตราประจำตำแหน่งสมุหนายก เป็นสัญลักษณ์ของการปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ ตราพระคชสีห์ เป็นตราประจำตำแหน่งสมุหพระกลาโหม เป็นสัญลักษณ์ของการปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ และตราบัวแก้ว เป็นตราประจำตำแหน่งโกษาธิบดี เสนาบดีกรมพระคลัง เป็นสัญลักษณ์ของการปกครองหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ตราสามดวงที่ประทับในกฎหมายจึงหมายถึง กฎหมายนี้บังคับใช้ทั่วราชอาณาจักรของประเทศไทยในขณะนั้น


ส่วนหนึ่งของเครื่องราชูปโภค

            กฎหมายตราสามดวงมีบทบัญญัติต่างๆ เป็นจำนวนมากรวม ๔๑ เล่ม เช่น มีบทบัญญัติว่าด้วยหลักการในการปฏิบัติหน้าที่ ของผู้พิพากษา บทบัญญัติเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง เช่น พระราชพิธีการบำเหน็จรางวัล การลงโทษต่างๆ ฯลฯ บทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดศักดินา ยศ และหน้าที่ของข้าราชการทุกฝ่าย บทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิ และหน้าที่ของบุคคลในครอบครัว การแบ่งปันทรัพย์มรดก การกู้ยืม การกระทำผิดต่างๆ ทางอาญา การกบฏศึก การชดใช้ค่าเสียหาย การกำหนดโทษของการกระทำผิดแต่ละลักษณะ และกฎเกี่ยวกับพระภิกษุสงฆ์

            ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ประเทศไทยเผชิญกับลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก และจำเป็นต้องทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ ซึ่งทำให้ไทยต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เนื่องจากชาติตะวันตกเห็นว่า กฎหมายไทยยังล้าหลัง จึงไม่ยอมอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายและศาลไทย รัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ จึงทรงเร่งปรับปรุงการศาล และระบบกฎหมายของไทยให้เป็นที่ยอมรับของประเทศตะวันตก เพื่อไทยจะได้เอกราชทางกฎหมาย และการศาลกลับคืนมา จนในที่สุด ประเทศไทยก็สามารถประกาศใช้ประมวลกฎหมายใหม่ได้ครบถ้วนบริบูรณ์ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับเอกราชทางกฎหมายและการศาลกลับคืนมาอย่างสมบูรณ์ ใน พ.ศ. ๒๔๘๑

            กฎหมายตราสามดวงถือเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ ที่สำคัญฉบับหนึ่งของไทย เพราะเป็นหลักฐานชั้นต้น ในการศึกษาสภาพทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตัวอย่างเช่น ในกฎหมายตราสามดวงมีบทบัญญัติว่าด้วยหลักการ สำหรับผู้พิพากษา ในการตัดสินคดีความด้วยความเที่ยงธรรม ปราศจากความลำเอียง ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้าง โดยระบุว่า ผู้ที่ตัดสินความอย่างไม่เป็นธรรม จะเป็นผู้มีบาปกรรมหนักมาก ยิ่งกว่าการฆ่าประชาชน หรือผู้ทรงศีลจำนวนมาก นับว่า กฎหมายได้สะท้อนคติความเชื่อทางศาสนา เกี่ยวกับเรื่องบาปบุญคุณโทษ ในกฎมนเทียรบาลมีบทบัญญัติเกี่ยวกับพระราชานุกิจต่างๆ ที่ทรงปฏิบัติประจำแต่ละวัน และด้านการประกอบพระราชพิธีประจำแต่ละเดือน การใช้ราชาศัพท์สื่อสารกับพระมหากษัตริย์ และการเรียกเครื่องอุปโภคต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ ทำให้เราได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมอันงดงามของชาติไทย นอกจากนั้น เรายังได้เรียนรู้ถึงสภาพสังคม และการเมืองการปกครองในสมัยนั้น เราพบว่า ในกฎหมายตราสามดวงมีการกำหนดศักดินา ยศ และหน้าที่ของชนชั้นต่างๆ ไว้ ซึ่งแบ่งเป็นชนชั้นผู้ปกครอง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระมหาอุปราช เจ้านาย และขุนนางต่างๆ  ฯลฯ และชนชั้นผู้ถูกปกครอง ซึ่งได้แก่ ไพร่ และทาส เราได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ ระหว่างคนในครอบครัวว่า ชายผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว สามารถมีภรรยาหลายคนได้ โดยกฎหมายได้กำหนดประเภทของภรรยาต่างๆ ไว้ว่า มีทั้งภรรยาพระราชทาน ภรรยาหลวง อนุภรรยา และทาสภรรยา ซึ่งจะได้รับมรดกตามสัดส่วนที่แตกต่างกันไปตามสถานะ ส่วนทางด้านเศรษฐกิจ เราได้เรียนรู้ว่า รายได้ส่วนใหญ่มาจากการเกษตร โดยมีการเก็บภาษี และค่าธรรมเนียมต่างๆ จากพืชผลทางการเกษตรจำนวนมาก