"ลิเก" เป็นละครผสมระหว่างการพูด การร้อง การรำ และการแสดงกิริยาท่าทางตามธรรมชาติ โดยมีวงปี่พาทย์บรรเลงประกอบ ทำนองเพลงหลักที่ใช้สำหรับร้องดำเนินเรื่อง เรียกว่า รานิเกลิง (รา-นิ-เกลิง) หรือ ราชนิเกลิง (ราด-นิ-เกลิง) ส่วนอื่นๆ ที่ใช้สำหรับร้องรำ และประกอบกิริยา นำมาจากเพลงของละครรำ และเพลงลูกทุ่ง ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น ผู้แสดงรับบทชายจริงหญิงแท้ มีบทพูด และบทร้องตามท้องเรื่อง ที่โต้โผกำหนดให้ก่อนการแสดง บางครั้งมีการบรรยายเรื่อง และตัวละครจากหลังเวที เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจง่ายขึ้น เนื้อเรื่องมักเป็นการชิงรักหักสวาท และอาฆาตล้างแค้นย้อนไปในอดีต หรือในปัจจุบัน
โครงเรื่องมักซ้ำกัน จะต่างกันที่รายละเอียด การแสดงลิเกแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ โหมโรงดนตรี เพื่อเรียกผู้ชม และให้ผู้แสดงเตรียมพร้อม ออกแขก เพื่อต้อนรับผู้ชม ขอบคุณเจ้าภาพ แนะนำการแสดง และผู้แสดง และละครที่ดำเนินเรื่องเป็นฉากสั้นๆ ติดต่อกันไปอย่างรวดเร็ว ลิเกมีแสดง ทั้งในเวลากลางวัน และกลางคืน ช่วงกลางวันเริ่มแสดงตั้งแต่ ๐๙.๐๐ น. เป็นต้นไป และหยุดพักเที่ยง แล้วแสดงต่อ จนถึงเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. ส่วนช่วงกลางคืน เริ่มแสดงตั้งแต่ ๒๐.๐๐ น. - ๒๔.๐๐ น.
เวทีลิเก หรือโรงลิเก เป็นเวทีชั่วคราวยกพื้นมีหลังคา แบ่งพื้นที่เป็น ๓ ส่วน คือ เวทีแสดง เวทีดนตรี และหลังเวที สำหรับผู้แสดงพักผ่อน เวทีแสดงมีระบายแขวนเป็นกรอบเวที โดยมีชื่อคณะ และสถานที่ติดต่ออย่างชัดเจน การจัดพื้นที่ของเวทีลิเกในปัจจุบันมี ๒ แบบ แบบเดิมมีเวทีดนตรีอยู่ถัดเวทีแสดงไปทางขวาของผู้แสดง แบบใหม่มีเวทีดนตรีเป็นยกพื้นอยู่ด้านหลังเวทีแสดง ฉากลิเกมี ๒ แบบ คือ ฉากเดี่ยว ทำด้วยผ้าใบเขียนเป็นรูปท้องพระโรง พร้อมหลืบผ้าใบเขียนสีอีก ๑ คู่ กับผ้าระบายด้านบนเขียนชื่อคณะ และฉากชุด ทำด้วยผ้าใบเขียนสีเป็นสถานที่ต่างๆ ตามท้องเรื่อง เช่น ท้องพระโรง ห้องรับแขก ป่า ถ้ำ น้ำตก แต่ละฉากม้วนเก็บไว้เหนือเวทีแสดง อุปกรณ์ฉากเป็นตั่งหรือเตียงไม้ ขนาดพอนั่งแสดงได้ ๓ คน มีตั่งเพียงตัวเดียว ก็ใช้ได้อเนกประสงค์
เครื่องแต่งกายลิเกชายเป็นแบบคล้ายคลึงกัน ประกอบด้วยเสื้อคอกว้างแขนสั้น หรือยาวแนบตัว ปักเพชร สนับเพลา หรือกางเกงรัดขายาวครึ่งน่องเชิงปักเพชร ผ้านุ่งสำเร็จรูปปักเพชรสวมทับกางเกง ถุงน่องสีขาว เครื่องประดับทำด้วยเพชรเทียม ประกอบด้วยเกี้ยว ปิ่น สังเวียน ขนนก ต่างหู สร้อยคอ เข็มขัด กำไลมือ กำไลเท้า แหวน เครื่องแต่งกายลิเกหญิงมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบไทยประเพณี และแบบสากล ที่เป็นชุดราตรียาวปักเพชร เครื่องประดับทำด้วยเพชรเทียม มักประกอบด้วยมงกุฎ สร้อยคอ ตุ้มหู สังวาล กำไลมือ เครื่องแต่งกายลิเกมักมีสีสันสดใส ใช้แป้งฝุ่นสีขาวผัดหน้า และลำตัวให้ดูผ่อง แต่งหน้าทาปากสีฉูดฉาด เขียนคิ้วเข้ม ติดขนตาปลอมยาว
ผู้แสดงลิเกแบ่งหน้าที่ตามเพศ รูปร่าง และความชำนาญออกเป็น พระเอก พระรอง นางเอก นางรอง ตัวโกง ตัวตลก และนางอิจฉา
ไชยา มิตรชัย พระเอกลิเกยอดนิยมยุคปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๖)
คณะลิเกเป็นการรวมตัวเฉพาะงาน โต้โผ หรือหัวหน้าคณะจ้างผู้แสดงอิสระ ที่ต่างมีเครื่องแต่งกายของตนเอง มาร่วมกันแสดงเป็นคราวๆ ไป ผู้ชมลิเกส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มที่มีสถานภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และการศึกษาน้อย และมักเป็นสตรีวัยกลางคน การให้รางวัลแก่ผู้แสดงลิเกคือ การมอบพวงมาลัยคล้องคอประดับธนบัตร สำหรับผู้ชมสตรีจำนวนหนึ่งที่มีความนิยมผู้แสดงชายบางคนเป็นพิเศษ โดยติดตามไปชมการแสดงเป็นประจำ และให้รางวัลเป็นเงินทองจำนวนมากอยู่เสมอ ผู้ชมกลุ่มนี้เรียกว่า แม่ยก คือ แม่ที่ลิเกยกย่อง