การบริหารงานโรงเรียนคือ พฤติกรรมทางสังคม ในด้านวิชาการของโรงเรียน ตามหลักที่ว่า ที่ใด มีสังคม ที่นั่นย่อมต้องมีกฎเกณฑ์ หรือระเบียบปฏิบัติ อันมุ่งกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นหลัก กฎเกณฑ์ในสังคมเช่นนี้ มีที่มาจากจารีตประเพณี และข้อกำหนดต่างๆ ที่บ้านเมืองแต่ละแห่งได้ตกลงกันไว้ แล้วถ่ายทอดสืบต่อกันมา จนในที่สุดได้ตราเป็นกฎหมายของบ้านเมือง เป็นระเบียบปฏิบัติราชการของเมืองนั้นๆ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน"
ในอดีต ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ยังเป็นการบริหารงาน ในวงแคบเฉพาะท้องถิ่น หรือชุมชน มีสภาพเหมือนเป็นการบริหารงาน ในครอบครัวเดียวกัน ถือเป็นเสมือน "ครอบครัวเมือง" เป็นการประกอบกิจกรรมแบบลุงป้าน้าอา ไปจนถึงกลุ่มชุมชน ที่ร่วมด้วยช่วยกันทำกิจกรรมต่างๆ โดยมีจุดศูนย์รวมอำนาจการบริหาร โยงไปสู่ผู้มีตำแหน่งสูงสุดทางการปกครองของเมืองนั้นๆ ได้แก่ เจ้าเมือง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยทุกเมือง จะโยงอำนาจบริหารนี้ เข้าสู่ศูนย์กลางของประเทศ คือ เมืองหลวง ณ ที่นี้มีคณะผู้บริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเรียกกันในเวลาต่อมาว่า "รัฐบาล"
ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทย (ก่อนวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕) ตามโรงเรียนไม่ค่อยมีผู้สนใจกิจการบ้านเมือง โดยถือว่า เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ แม้แต่ประชาชนก็ให้ความสนใจต่อกิจการบ้านเมืองไม่มากเท่าใดนัก อาจถือว่า เป็นภาระหน้าที่ของชนชั้นสูง ที่มีฐานะดี มีความรู้ดี หรือมีอำนาจ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว ราษฎรจึงเริ่มตื่นตัวต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะคนทุกระดับชั้นเริ่มมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง เช่น ออกกฎหมาย หรือปกครองประเทศได้ แม้กระนั้นส่วนใหญ่ยังรู้จัก และเข้าใจความหมายขององค์ประกอบการบริหารราชการแผ่นดินบางคำเท่านั้น เช่น รัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา เป็นต้น
สำหรับคำว่า "ประชาธิปไตย" แล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคย และยังไม่เข้าใจวิธีการ เนื้อหาสาระ ตลอดจนองค์ประกอบต่างๆ ดีพอ จึงมักจะไม่พูดถึง "อำนาจอธิปไตย" ประชาชนบางคนเรียกร้อง หรือคำนึงถึงแต่สิทธิ โดยไม่พูดถึงหน้าที่ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็น ที่จะต้องให้ราษฎรรู้จักระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สถานศึกษาทุกระดับเป็นเป้าหมายสำคัญ ที่ยอมรับกันว่า จะเป็นแหล่งปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงเรียน ดังนั้น ในแผนการศึกษาของชาติ จึงมุ่งปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตยในโรงเรียน ด้วยการสอดแทรกให้หลักประชาธิปไตย อยู่ในระเบียบบริหารงานของโรงเรียนทุกแห่ง กิจกรรมบางอย่างในโรงเรียน เช่น การเลือกตั้งผู้แทนนักเรียน สภานักเรียนจึงเป็นการจำลองระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ในระดับประเทศมาใช้ในระดับพื้นฐานนั่นเอง