เล่มที่ 9 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
การทำแท้ง
เล่นเสียงเล่มที่ 9 สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ การทำแท้ง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            เมื่อแม่บอกว่า เรากำลังจะมีน้อง เราอาจรู้สึกแปลกแกมดีใจที่แม่ชี้ที่ท้องของแม่ และว่า ขณะนี้น้องตัวเล็กๆ อยู่ในท้องของแม่

            ชีวิตของคนเรานั้นจะเริ่มต้นก่อตัวอยู่ภายในโพรงมดลูกของแม่ และจะเจริญเติบโตขึ้นทีละน้อยๆ โดยอาศัยอาหาร ที่มาจากเลือดของแม่ทางสายสะดือ เด็กจะค่อยเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในท้องของแม่จนครบ ๙ เดือน จึงจะเจริญเติมที่ และคลอดออกมาเป็นทารกตัวเล็กๆ น่ารัก

            มีแม่บางคน ที่ตั้งครรภ์ไม่ทันถึง ๗ เดือน ก็มีเหตุบังเอิญ หรือเหตุจำเป็น ต้องคลอดลูกออกมาเสียก่อน เราเรียกการคลอดเด็กที่อยู่ในท้อง ไม่ทันถึง ๗ เดือน แล้วถูกขับออกมาเช่นนี้ว่า "แท้งลูก" ลูกที่แท้งมักมีลักษณะไม่แข็งแรง ไม่สมบูรณ์ ตัวเล็กมาก อวัยวะสำคัญ เช่น ปอด ยังทำงานไม่ได้ ดังนั้น เมื่อเด็กแท้งออกมา ก็จะตาย

            การตั้งครรภ์ของแม่บางคนอาจไม่ราบรื่นนัก เป็นต้นว่า แม่มีโรคภัยไข้เจ็บประจำตัวอยู่นาน เป็นผลให้เด็กในท้องเจริญเติบโตไม่ได้ จึงแท้งออกมา หรืออาจเป็นเพราะลูกในท้องที่ก่อตัวอ่อนๆ อยู่นั้นมีความพิการ ธรรมชาติจึงขับเด็กออกมาจากท้องของแม่ ทั้งๆ ที่ยังอยู่ในท้อง ไม่ทันถึง ๗ เดือน อย่างนี้เรียกว่า "การแท้งลูก" และเด็กที่เกิดจากการแท้งก็จะตาย เพราะเหตุว่าอวัยวะต่างๆ ยังไม่เจริญเต็มที่ การแท้งเองโดยธรรมชาติเช่นนี้ เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ในแม่ที่ตั้งครรภ์ ๑๐ ราย อาจมีการแท้งเอง ๑ รายเท่านั้น


            ยังมีการแท้งอีกอย่างหนึ่ง เรียก "การทำแท้ง" ชนิดนี้แพทย์เท่านั้นจะเป็นผู้พิจารณาและทำแท้งให้แก่แม่ เพื่อประโยชน์ในการช่วยชีวิตของแม่ไว้ เป็นต้นว่า แม่เป็นโรคร้ายแรง ถ้าปล่อยให้ตั้งครรภ์ต่อไป ก็จะเป็นอันตรายแก่แม่ โดยโรคอาจกำเริบจนต้องถึงแก่ความตายได้ กรณีเช่นนี้ แพทย์จำเป็นต้องช่วยชีวิตแม่ไว้ ด้วยการทำแท้งให้ หรือบางราย แม่เป็นโรคจิต ปัญญาอ่อน ช่วยตัวเองไม่ได้ แพทย์ก็ต้องช่วยทำแท้งให้ ถึงแม้ว่า บางครั้ง การทำแท้งอาจมีอันตรายต่อแม่ก็ตาม ส่วนแม่ที่ตั้งครรภ์ทั้งๆ ที่อายุไม่ถึง ๑๕ ปี หรือหญิงที่ตั้งครรภ์ เพราะถูกข่มขืน แพทย์ก็ต้องทำแท้งให้ ทั้งนี้ไม่ถือว่า ผิดกฎหมาย ถึงแม้ว่า การทำแท้งโดยแพทย์จะค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็อาจมีโรคแทรกซ้อนจนถึงกับมีการตกเลือด มดลูกทะลุ หรือฉีกขาด อักเสบติดเชื้อก็ได้