ถ้าเราต้องอยู่คนเดียวโดดเดี่ยวในโลก ไม่มีพ่อแม่ วงศาคณาญาติ ไม่มีแม้แต่เพื่อนที่จะคอยอาทรห่วงใย คอยเป็นกำลังใจ ขณะที่เรามีความทุกข์ เราจะรู้สึกอย่างไร
เราคงจะรู้สึกว้าเหว่ อ้างว้าง และหมดหวัง เพราะไม่รู้จะหันหน้าไปขอความเห็นใจจากผู้ใด แต่โชคดีที่เราเป็นคนไทย เกิดในแผ่นดินไทย เราจึงไม่ไร้ความหวัง เมื่อเรามีปัญหาใดๆ ก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ สุขภาพอนามัย สังคม หรือแม้แต่ปัญหาทางด้านการเมือง จะมีผู้ช่วยแก้ปัญหา คือ ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา จนกระทั่งเราสามารถช่วยตัวเองได้
เด็กกำพร้าจาก ๑๔ จังหวัดภาคใต้
ได้รับความช่วยเหลือจากกรมประชาสงเคราะห์
ผู้ที่มาช่วยเหลือ จนเราสามารถต่อสู้กับปัญหาได้เองนี้ คือ นักสังคมสงเคราะห์
งานของพวกเขาก็คือ การสังคมสงเคราะห์ ซึ่งเป็นงานบริการ เป็นกิจกรรมที่จัดให้บุคคล ทั้งที่มีปัญหา และไม่มีปัญหา ได้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคม ด้วยความเป็นปกติสุข และมีความสามารถพัฒนาสังคมส่วนรวม
การสังคมสงเคราะห์มีในประเทศไทยเป็นเวลานานมาแล้ว สมัยก่อนนี้ "วัด" เป็นศูนย์กลางของการสังคมสงเคราะห์ ปัจจุบันนี้มีทั้งภาครัฐบาล และภาคเอกชน ทางฝ่ายรัฐนั้น มีหน่วยงานที่ร่วมรับผิดชอบเกี่ยวกับความผาสุกของประชาชนชาวไทย คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข โดยมีกรมประชาสงเคราะห์ แห่งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเป็นผู้ดำเนินงาน และรับผิดชอบโดยตรง
เด็กที่มีสติปัญญาต่ำกว่าปกติส่วนหนึ่งที่สามารถฝึกงานได้
ส่วนภาคเอกชนนั้น กระทำการสังคมสงเคราะห์ โดยการจัดตั้งเป็นสมาคม และมูลนิธิ เพื่อการกุศล ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นองค์การที่ตั้งขึ้น โดยประชาชน เป็นของประชาชน และทำงาน เพื่อประชาชน โดยแท้ ในปัจจุบันนี้ มีจำนวน ประมาณ ๑๐,๐๐๐ องค์การ ที่ช่วยรัฐและหน่วยงานของรัฐให้บริการสังคมสงเคราะห์ ให้สวัสดิการทางสังคมแก่ประชาชน เพื่อให้สังคมพัฒนาไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ตามเป้าหมายที่ต้องการได้
สมาคม และมูลนิธิหลายองค์การ ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริ หรือได้รับ พระมหากรุณาธิคุณให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคม และมูลนิธิเหล่านี้ ได้ทำงานที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน และประเทศชาติเป็นเอนกประการ ทั้งในการสงเคราะห์ผู้ประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อน ในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาสังคม รวมทั้งการพัฒนาสังคมด้านต่างๆ เช่น มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิอานันทมหิดล เป็นต้น
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จฯ เยี่ยมคนชรา
มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ และสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ เป็นองค์การที่ทำงาน เพื่อการสังคมสงเคราะห์โดยแท้ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ หมายถึง มูลนิธิที่พระมหากษัตริย์ และประชาชนร่วมกันจัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยผู้ที่ประสบสาธารณภัยทั่วประเทศ มูลนิธินี้ถือกำเนิดขึ้น เนื่องมาจากการเกิดวาตภัย และอุทกภัยขึ้น ในจังหวัดภาคใต้เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงนำประชาชน ให้ช่วยเหลือพี่น้องร่วมชาติผู้ประสบเคราะห์กรรมเหล่านั้น ได้รับการบริจาคเฉพาะเงินสดถึง ๑๑ ล้านบาท หลังจากที่พระราชทาน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหล่านั้นแล้ว ยังเหลือเงินอยู่อีกถึง ๓ ล้านบาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ให้จัดตั้งเป็นมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ขึ้น
สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเงินจำนวนหนึ่งล้านบาท เป็นทุนริเริ่มการสร้างตึกทำงาน ของสภาสังคมสงเคราะห์ฯ และได้พระราชทานนามตึกนี้ว่า "ตึกมหิดล" เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณ ในด้านสังคมสงเคราะห์ของสมเด็จพระบรมราชชนก โครงการที่สำคัญที่สุดของสภาสังคมสงเคราะห์ฯ คือ อุดมการณ์ที่รัฐรับเป็น อุดมการณ์ของชาติ คือ "โครงการแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง" ซึ่งมีที่มาจาก พระบรมราชปณิธาน ในพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า "เราจะครองแผ่น ดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
พระราชดำรัสที่ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" เป็นที่มาแห่ง "แผ่นดินธรรม" ส่วนพระราชดำรัสที่ว่า "เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" เป็นที่มาแห่ง "แผ่นดินทอง"
หมู่บ้านแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ดำเนินงาน เพื่อช่วยแก้ปัญหา และพัฒนาสังคมไทย ตามนโยบาย ของโครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง
มีการสังคมสงเคราะห์อีกประเภทหนึ่ง คือ การประกันสังคม หรือการสร้างความมั่นคงในสังคมร่วมกัน แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายประกันสังคมแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๗ แต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะมีปัญหาเรื่องนโยบาย อย่างไรก็ตามได้มีประกาศใช้กฎหมายแรงงาน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ กำหนดให้มีการจัดตั้ง สำนักงานกองทุนเงินทดแทน ในกรมแรงงาน ให้ทำหน้าที่เรียกเก็บเงินสมทบจากนายจ้าง และสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง ๒๐ คนขึ้นไป เพื่อนำมาจ่ายเป็นค่าทดแทนแก่ลูกจ้าง ซึ่งประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง ทำให้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้าง ในระหว่างที่เจ็บป่วยต้องหยุดงาน และในกรณีทุพพลภาพ ก็สามารถมีรายได้ไปใช้สอยเลี้ยงดูครอบครัว
จะเห็นได้ว่าการสังคมสงเคราะห์ของประเทศไทยนั้น ได้เริ่มมีมานานแล้ว และเป็นโครงการบริการ เพื่อความผาสุก ของประชาชนโดยแท้ เป็นงานที่รัฐและเอกชนร่วมมือกัน ช่วยกันแก้ปัญหา และพัฒนาสังคมไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ กำหนดให้วันที่ ๒๑ ตุลาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็น "วันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ" โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นต้นมา