แต่เดิมคนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ทำนา ทำสวน ทำไร่ อาชีพที่ทำกันมากที่สุดคือ ทำนา มีชีวิตความเป็นอยู่ง่ายๆ แต่ละครอบครัวมีที่ดินของตนเอง อาศัยน้ำจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เช่น น้ำฝน และน้ำในแม่น้ำลำคลอง ถ้าฝนตกดีจะได้ผลิตผลมาก ถ้าฝนตกน้อยก็ได้ผลิตผลน้อย ในการดำรงชีวิตไม่ต้องใช้เงินมาก เพราะเราปลูกพืช ทำเครื่องใช้ และเสื้อผ้าได้เอง สามารถจับสัตว์น้ำจากแม่น้ำลำคลอง และล่าสัตว์จากป่ามาเป็นอาหาร จึงไม่เดือดร้อนนัก แต่ต่อมาประชากรเพิ่มขึ้น ที่ดินทำมาหากินจึงไม่เพียงพอกับจำนวนคน จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูก และวิธีบำรุงรักษาคุณภาพดิน เพื่อให้ได้ผลิตผลมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ความจริงปรากฏว่า ชาวไร่ชาวนาส่วนใหญ่ ไม่มีความรู้พอที่จะปรับปรุงวิธีการเพาะปลูกพืชผล และวิธีการบำรุงรักษาดิน จึงได้ผลิตผลน้อย เป็นเหตุให้ต้องไปกู้ยืมเงิน หรือนำที่ดินไปจำนอง และบางทีก็ต้องสูญเสียที่ดินไป ในขณะเดียวกันรายจ่าย ก็เพิ่มขึ้น ความเป็นอยู่ก็ลำบากขึ้นกว่าเดิม ทางบ้านเมืองได้พยายามช่วยเหลือ ด้วยวิธีต่างๆ เช่น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการจัดระบบชลประทาน รัฐบาลในสมัยต่อๆ มาก็ได้พยายามช่วยเหลือชาวชนบท โดยจัดทำโครงการในลักษณะต่างๆ ซึ่งแบ่งได้ดังนี้
๑. โครงการที่ยึดพื้นที่เป็นเป้าหมาย คือ เมื่อพิจารณาว่า หมู่บ้าน หรือตำบล หรืออำเภอใดมีปัญหามาก หน่วยงานบางหน่วยจะวางแผนพัฒนา เช่น โครงการสร้างตนเองของกรมประชาสงเคราะห์
๒. โครงการที่ยึดตามสายงานรับผิดชอบของหน่วยงาน เช่น ส่งเสริมการเกษตร โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมการสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์
๓. โครงการที่ยึดหลักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก โครงการเงินผัน ใช้แก้ปัญหาเป็นกรณีๆ ไป
ปรากฏว่า โครงการทั้งสามลักษณะยังขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบ และยังไม่ได้เน้นเรื่องให้ชาวบ้านช่วยตนเอง รัฐบาลปัจจุบันจึงได้จัดแผนพัฒนาชนบทขึ้น โดยให้หน่วยราชการต่างๆ คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ วางแผน และดำเนินการไปในแนวทางเดียวกัน และส่งเสริมกัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงห่วงใยราษฎรมาก จึงได้ทรงตั้งโครงการต่างๆ และได้ทรงให้แนวคิด เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็ว และได้ผลดียิ่งขึ้น ทำให้เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น ซึ่งแยกเป็น ๓ ลักษณะ ดังนี้
๑. โครงการที่มีลักษณะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า (ระยะสั้น) จะช่วยสิ่งที่จำเป็นรีบด่วน ก่อนที่จะช่วยแก้ที่ต้นเหตุ เช่น โครงการแพทย์หลวง และแพทย์พระราชทาน โครงการฝนหลวง
๒. โครงการที่มีลักษณะการแก้ปัญหาหลักของชาติ (ระยะยาว) จะทรงมุ่งการแก้ไขปัญหาในชนบท โดยเฉพาะชนบทที่ยากจน อยู่ห่างไกล ทุรกันดาร เป็นโครงการแบบผสมผสาน ด้วยการขอความร่วมมือจากนักวิชาการ และหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา ที่มีอยู่หลายๆ ด้าน