เล่มที่ 12
แผนที่
เล่นเสียงเล่มที่ 12 แผนที่
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            แผนที่ คือ แบบจำลองที่เขียนย่อลักษณะภูมิประเทศบนพื้นผิวโลก แสดงถึงแม่น้ำ ภูเขา ทะเลสาบ เส้นทาง และรายละเอียดอื่น ที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ หรือจากมนุษย์สร้างขึ้น มีมาตราส่วนของแผนที่ต่างๆ ตามชนิดของแผนที่นั้น แผนที่มีอยู่หลายชนิด เช่น แผนที่เฉพาะวิชา แผนที่แอตลาส แผนที่ภูมิประเทศ แผนที่รูปถ่าย แผนที่ตัวเมือง แผนที่เส้นทาง และอื่นๆ อีก ตามความต้องการของผู้ใช้ มาตราส่วนของแผนที่ ขึ้นอยู่กับชนิดของแผนที่ เช่น แผนที่เพื่องานวิศวกรรม มีมาตราส่วนใหญ่มาก ตั้งแต่ ๑:๒๐๐ จนถึง ๑:๑,๐๐๐ แผนที่ภูมิประเทศมีมาตราส่วน ๑:๒๕,๐๐๐ ๑:๕๐,๐๐๐ หรือแผนที่ตัวเมือง ๑:๑๒,๕๐๐ เป็นต้น

แผนที่รูปถ่าย


            แผนที่ที่เราเคยเห็น ส่วนมากเป็นแผนที่ลายเส้น มีรูปร่างเป็นเส้น แสดงเป็นสัญลักษณ์ ที่ผู้อ่านแผนที่สามารถเข้าใจได้ แผนที่อีกชนิดหนึ่งคือ แผนที่รูปถ่าย ซึ่งรายละเอียด ที่ปรากฏบนแผนที่นั้น เป็นภาพภูมิประเทศ ที่ถ่ายจากกล้องถ่ายรูปทางอากาศ มีเส้นกริด ชื่อ และการเขียนเส้น เน้นลักษณะภูมิประเทศที่สำคัญ เช่น ถนน ทางน้ำ บนรูปถ่ายนั้นๆ ทั้งยังมีข้อความตรงชายขอบระวาง อธิบายให้ผู้ใช้แผนที่ได้เข้าใจอีกด้วย แผนที่รูปถ่ายมีอยู่ ๒ ชนิดคือ แผนที่รูปถ่าย (Photo map) และแผนที่พิกโต (Picto map) การผลิตแผนที่รูปถ่าย ทำได้โดยการขยายรูปถ่ายทางอากาศ ที่ได้ดัดแก้ให้เป็นรูปถ่ายแนวดิ่งจริงตามมาตราส่วนที่ต้องการ แล้วใส่ค่ากริดที่ถูกต้อง ใส่ชื่อตำบล หมู่บ้าน ทางน้ำ และเน้นรายละเอียดที่สำคัญ โดยการลงหมึกบนแผ่นฟิล์ม ก่อนการอัดเป็นแผนที่รูปถ่าย รวมทั้ง ใส่รายละเอียดชายขอบระวางด้วย

แผนที่พิกโต มาตราส่วน ๑: ๑๒,๕๐๐ ชุด L ๙๐๔๐ ระวางกรุงเทพฯ

            ส่วนการผลิตแผนที่พิกโต มีวิธีการที่ซับซ้อนหลายขั้นตอนตามกรรมวิธีถ่ายรูป แล้วใส่ค่ากริด ชื่อ เหมือนกับที่ได้ดำเนินการกับแผนที่รูปถ่าย คำว่า PICTO MAP นี้ ได้มาจาก คำว่า Photographic Image Conversion by Tonal Marking Process

ประโยชน์ของแผนที่รูปถ่ายคือ การนำไปใช้เสริมกับแผนที่ลายเส้น ไม่ว่าจะเป็นแผนที่ภูมิประเทศ หรือแผนที่ตัวเมือง เพื่อให้ผู้ใช้สามารถอ่านรายละเอียดของแผนที่ได้ถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น

ลูกโลก, โลก

            เมื่อหลายพันปีมาแล้ว มนุษย์เชื่อว่า โลกที่เราอาศัยอยู่นี้ มีลักษณะแบบเป็นแผ่น และมีทะเลล้อมรอบ ผู้คนในสมัยนั้น จึงเขียนแผนที่ลงบนแผ่นหนังที่ใช้เขียนหนังสือ บางครั้งก็ใช้แผ่นพาพิรุส (papyrus) หรือเขียนลงบนแท่งดินเหนียวเผาไฟ ปัจจุบันนี้ เรารู้แล้วว่า โลกกลม และหมุนรอบแกนตัวเอง ดังนั้นเราจึงสามารถอธิบายลักษณะของโลกทั้งหมดลงบนลูกโลกได้ เราแบ่งลูกโลกออกเป็นส่วนๆ เส้นที่ปรากฏบนลูกโลกนั้น เป็นเส้นที่มีความสำคัญทั้งสิ้น ทำให้ผู้ใช้แผนที่ไม่ว่าจะอยู่บนบก ในทะเล หรือบนท้องฟ้า สามารถใช้เป็นแนวทางนำร่องจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้


            จากรูปเราจะเห็นขั้วโลก ได้แก่ ขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ มีเส้นที่ลากจากขั้วโลกเหนือไปขั้วโลกใต้ แบ่งลูกโลกออกเป็นครึ่งวงกลม เราเรียกเส้นนี้ว่า ลองจิจูด มีเลขกำกับเส้นไว้ด้วย เส้นลองจิจูดนี้ มีอยู่เส้นหนึ่งที่ผ่านเมืองกรีนิช ซึ่งอยู่ใกล้กรุงลอนดอน เมืองหลวงของประเทศอังกฤษ เส้นลองจิจูดเส้นนี้มีเลขกำกับเส้นเป็น ๐° ดังนั้นเส้นลองจิจูด เส้นอื่นๆ จึงมีเลขกำกับไปทางตะวันออก และตะวันตกของเมืองกรีนิช เส้นลองจิจูดนี้ จะมาพบกันอีกบนด้านตรงข้ามของลูกโลกที่ ๑๘๐ ํ

            ตรงกึ่งกลางระหว่างขั้วโลกทั้ง ๒ มีเส้นลากรอบลูกโลกตามแนวนอน เรียกชื่อ เส้นนี้ว่า เส้นศูนย์สูตร มีเลขกำกับเส้นเป็น ๐ ํ และยังมีเส้นอื่นๆ ที่ลากรอบลูกโลกคล้ายคลึง กับเส้นนี้เรียกว่า เส้นละติจูด มีเลขกำกับเส้นไปทางเหนือ และใต้ของเส้นศูนย์สูตร

ปัญหาของการทำแผนที่

            นักสำรวจในสมัยเริ่มแรกได้ใช้ประโยชน์จากลูกโลกนี้อย่างเต็มที่ ในการเดินเรือ ลูกโลกเก่าแก่ที่ยังคงหลงเหลืออยู่นี้ เป็นลูกโลกที่ทำขึ้นในปีที่โคลัมบัสเดินทางไปอเมริกาเป็นครั้งแรก แต่ในขณะนั้นยังไม่ได้มีการกล่าวถึงอเมริกาเลย นักทำแผนที่สมัยนั้น ได้เขียนโลก ให้มีรูปร่างเหมือนลูกบอลบนแผ่นหนัง โดยเขียนให้สีและลักษณะของโลก เหมือนกับสิ่งที่เขาคิด และรู้เห็นในขณะนั้นด้วย

            กัปตันเรือที่มีชื่อเสียง เช่น เซอร์ วอลเทอร์ ราเลจ์ (Sir Walter Raleigh) เฟอร์ดินันด์ แมเจลแลน (Ferdinand Magellan) และเซอร์ ฟรานซิส เดรค (Sir Francis Drake) แมเจลแลน และเดรค มักใช้ลูกโลกคู่หนึ่งในการเดินทางทางทะเล เขาจะใช้ลูกโลกนั้นเขียนเส้นทางการเดินเรือ ลูกโลกลูกหนึ่งแสดงตำแหน่งของดวงดาวบนท้องฟ้า ส่วนอีกลูกหนึ่งแสดง ตำแหน่งของโลกเรา

            ถ้าเราลองพยายามผ่าลูกโลก โดยมีรอยแยกที่ขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ (เหมือน เราปอกส้ม) แล้ววางแผ่ราบลงบนโต๊ะ เราจะพบว่า เส้นลองจิจูด ซึ่งเป็นเส้นตัดเกิดจากการ ผ่าลากไปทางด้านบน และด้านล่างของแผนที่ มีเส้นละติจูดลากผ่านขวาง เมื่อพยายามวางแผนที่ให้ราบลงไปอีก เราจะพบว่า เราต้องยืดส่วนบน และส่วนล่างออก ทำให้รูปร่างและขนาด ของประเทศต่างๆ ในโลกนี้เปลี่ยนแปลงไป เส้นละติจูด และลองจิจูดก็เปลี่ยนไปด้วย แผนที่แบนราบรวมทั้งหมด จึงบิดเบี้ยวไป ดังเห็นได้จากรูป ส่วนที่เป็นพื้นดิน และทะเลที่ถูกต้องจริง จึงต้องอยู่บนพื้นรอบลูกโลกนั่นเอง แสดงให้เห็นว่า การบิดเบี้ยว จะเพิ่มขึ้นในบริเวณเหนือสุด และใต้สุดของลูกโลก แผนที่ที่ถูกต้องจะอยู่ตรงเส้นศูนย์สูตรเท่านั้น

แผนที่ประเทศไทย

            แผนที่ที่ครอบคลุมประเทศไทยในปัจจุบันนี้ ผลิตขึ้นโดยกรมแผนที่ทหาร ส่วนราชการแห่งนี้ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒ นับจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๓๕) รวมเป็นเวลา ประมาณ ๘๓ ปีแล้ว ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ ได้มีการจัดทำแผนที่ จากรูปถ่ายทางอากาศขึ้น โดยทดลองทำที่จังหวัดสุรินทร์ และได้หยุดดำเนินการ จนมาถึง พ.ศ. ๒๔๙๓ จึงได้คิดทำแผนที่ จากรูปถ่ายทางอากาศอีก โดยพลโทพระยาศัลวิธานนิเทศ ได้ก่อตั้งองค์การทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ ภายหลัง ได้รวมกับกรมแผนที่ทหารบก และได้กลายมาเป็น กรมแผนที่ทหาร ขึ้นตรงต่อกองบัญชาการทหารสูงสุด ในปัจจุบันนี้ การทำแผนที่ประเทศไทยทั้งประเทศ ได้ใช้วิธีการนี้ทำแผนที่ชุด L ๗๐๘ มาตราส่วน ๑:๕๐,๐๐๐ จำนวน ๑,๑๒๗ ระวาง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นต้นมา มีขนาดระวาง ๑๐' x ๑๕' ต่อมาได้มีการแก้ไขเปลี่ยนขนาด ระวางแผนที่จาก ๑๐' x ๑๕' เป็น ๑๕' x ๑๕' ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ ชุดแผนที่จึงได้เปลี่ยนไปด้วยเป็น L๗๐๑๗ การเปลี่ยนขนาดระวางแผนที่ใหญ่ขึ้นนี้ ทำให้จำนวนระวางลดลงเหลือ ๘๓๐ ระวาง ซึ่งรวมทั้งแผนที่ครอบคลุมเขตแดนไทย-ลาว-กัมพูชาด้วย แผนที่มาตราส่วนนี้ ไม่ได้จัดจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป คงให้ใช้เฉพาะส่วนราชการต่างๆ ทั้งทางทหาร และพลเรือนเท่านั้น