เล่มที่ 12
การพัฒนาชาวเขาและการเกษตรที่สูง
เล่นเสียงเล่มที่ 12 การพัฒนาชาวเขาและการเกษตรที่สูง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ตอนเหนือของประเทศไทยมีภูมิประเทศเป็นภูเขา และหุบเขาเป็นส่วนมาก แม้จะมีที่ราบระหว่างหุบเขา ก็จะเป็นที่สูง เช่น บริเวณจังหวัดเชียงใหม่จะมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๓๐๐ เมตร พื้นที่บริเวณเชิงเขาขึ้นไป จนถึงยอดเขา ก็จะมีความสูงมากขึ้นไปอีกตามลำดับ เราเรียกพื้นที่ส่วนนี้ว่า "ที่สูง" บริเวณที่สูงมีอากาศหนาวเย็น บางแห่งจะหนาวเย็นมาก ในฤดูหนาว เหมือนประเทศต่างๆ ในเขตหนาวของโลก
บ้านเรือนของชาวเขา
บ้านเรือนของชาวเขา
            เราเรียกผู้คนที่ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่แถบภูเขา และบนที่สูงเหล่านี้ว่า "ชาวเขา" ชาวเขามีหลายเผ่า เช่น แม้ว เย้า มูเซอ อีก้อ กะเหรี่ยง ฯลฯ ชาวเขาทางภาคเหนือ มีจำนวนไม่น้อย รวมแล้ว นับเป็นจำนวนแสน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ และแต่เดิมปลูกฝิ่นด้วย มีสภาพความเป็นอยู่แร้นแค้น ยากจน และสุขภาพอนามัยไม่ดี การทำไร่ของชาวเขาส่วนใหญ่จะทำแบบ "ไร่เลื่อนลอย" คือ ย้ายที่ปลูกไปเรื่อยๆ หลังจากที่ได้ปลูกพืชซ้ำที่จนดินจืด พืชผลไม่งาม ชาวเขาจึงต้องตัดไม้ทำลายป่าไปเรื่อยๆ เป็นการทำลาย "ที่สูง" ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศ
ผลฝิ่นมียางซึ่งเป็นสารเสพติดร้ายแรง
ผลฝิ่นมียางซึ่งเป็นสารเสพติดร้ายแรง
            "ที่สูง" มีความสำคัญมาก เพราะเป็นต้นน้ำลำธาร เป็นต้นน้ำของแม่น้ำ ใหญ่หลายสายในประเทศ คือ เมื่อฝนตกลงบนที่สูง น้ำฝนก็จะไหลลงรวมกัน เป็นลำห้วย ลำธาร แคว หรือแม่น้ำเล็กๆ หลายสาขา แล้วมารวมกัน เป็นแม่น้ำใหญ่ไหลลงสู่ทะเลในที่สุด เช่น แม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ทางภาคเหนือ ไหลรวมกันมาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ลงสู่อ่าวไทย เป็นต้น
            นอกจากเป็นต้นน้ำลำธารแล้ว "ที่สูง" ยังเป็นหุบเขา และป่าไม้ที่สมบูรณ์ ช่วยกั้นกระแสน้ำที่เกิดจากฝนตก มิให้ไหลบ่ารวดเร็ว และรุนแรงจนเป็นอันตรายต่อผู้คน บ้านเรือน ไร่นาที่อยู่บนพื้นที่ราบ หรืออยู่ตามทางที่น้ำไหลบ่าผ่านมา ทั้งยังช่วยซึมซับน้ำไว้ มิให้เหือดแห้งในทันทีหลังจากฝนหยุดตกแล้ว ทำให้ผืนแผ่นดินชุ่มชื้น ไม่แห้งและมีน้ำไว้หล่อเลี้ยงพืชอย่างเพียงพอ หน้าดินก็อุดมด้วยอาหารพืช เนื่องจากการผุพังของกิ่งไม้ และใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถมกันลงไป "ที่สูง" จึงเป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ และมีค่ามาก ควรอย่างยิ่งที่จะช่วยกันสงวนรักษาไว้ มิให้ถูกทำลายไป โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น การหักร้าง ถางพง เพื่อทำไร่เลื่อนลอยแบบชาวเขาเหล่านั้น
ชาวเขาชอบสูบฝิ่น
ชาวเขาชอบสูบฝิ่น
            การที่ชาวเขาชอบปลูกฝิ่นมาแต่ดั้งเดิม นับเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ชาวเขาปลูกฝิ่นไว้สูบเอง และปลูกไว้ขายด้วย เพราะฝิ่นเป็นพืชที่ชอบอากาศหนาวเย็น และขายได้ราคาดี แม้ฝิ่นจะมีประโยชน์บ้าง โดยนำมาใช้ทำยาบางชนิดได้ แต่ก็มีโทษมากกว่าประโยชน์ จัดเป็นพืชที่มีอันตรายมาก ตัวฝิ่นเองก็เป็นยาเสพติด ชาวเขาเองที่ชอบสูบฝิ่น ก็จะติดฝิ่น สุขภาพจิตโทรม ยิ่งกว่านั้น ยังมีผู้ลักลอบนำฝิ่นไปทำยาเสพติดชนิดอื่น ที่เป็นภัยร้ายแรงกว่าฝิ่นหลายเท่า แม้รัฐบาลจะได้ออกกฎหมายห้ามปลูกและค้าฝิ่น ห้ามผลิต และค้ายาเสพติด และผู้ค้าฝิ่นจะได้รับโทษสถานหนักก็ตาม เรื่องฝิ่นและยาเสพติดก็ยังเป็นปัญหาสำคัญมากอยู่ในปัจจุบัน
ยาเสพติดที่เจ้าหน้าที่จับยึดไว้ได้จะถูกเผาทำลายไป
ยาเสพติดที่เจ้าหน้าที่จับยึดไว้ได้จะถูกเผาทำลายไป
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชประสงค์จะช่วยแก้ไข ปัญหาของชาวเขา และให้ยุติการปลูกฝิ่น จึงทรงตั้ง "โครงการหลวง" ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ เป็นโครงการส่วนพระองค์ เพื่อช่วยพัฒนาชาวเขา และการเกษตรที่สูง
            วัตถุประสงค์หลักของโครงการหลวงคือ จัดดำเนินการให้มีการศึกษาค้นคว้า เพื่อแสวงหาพืชทดแทนฝิ่น อันเป็นพืชสำคัญ ของชาวเขา ให้มีการพัฒนาการเพาะปลูก การผลิต ช่วยเหลือ และส่งเสริมการตลาด ให้สามารถเพิ่มพูนรายได้ของชาวเขาได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาการปลูกฝิ่น โครงการนี้เจริญก้าวหน้า จนเกิดการศึกษาค้นคว้าวิชาการทางเกษตรสาขาใหม่ ในประเทศไทย เรียกว่า "การเกษตรที่สูง" ขึ้นอีกด้วยสวนผักบนที่สูง
สวนผักบนที่สูง
            ปัจจุบันโครงการหลวงได้ดำเนินการตามพระราชดำริ และพระราชประสงค์ในพระองค์ มีความก้าวหน้าเรื่อยไป โดยมิได้หยุดยั้ง ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากหน่วยงานราชการ ประชาชนคนไทย และชาวต่างประเทศเป็นอย่างดียิ่ง นับว่า สามารถพัฒนาได้ ไม่เฉพาะแต่คุณภาพชีวิตของชาวเขาเท่านั้น ยังสามารถคลี่คลายปัญหา และลดอันตรายใหญ่หลวง จากฝิ่นและยาเสพติด ให้แก่ชาวไทย และชาวโลกอีกด้วย นอกจากนี้ ยังช่วยสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ อันได้แก่ ป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ และต้นน้ำลำธารในที่สูง ช่วยพัฒนาที่สูง ให้สามารถปลูกพืชเมืองหนาว ที่มีราคาดีได้ นับเป็นการพัฒนาการเกษตร และช่วยเสริมเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง