เล่มที่ 13
นาฏศิลป์ไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 13 นาฏศิลป์ไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            นาฎศิลป์ เป็นศิลปวัฒนธรรมสาขาหนึ่ง ที่แสดงถึงความเป็นชาติ ที่เจริญรุ่งเรืองของไทยเรา ความงดงามของท่าร่ายรำตามจังหวะ และทำนองเพลง ตลอดจนการแสดงสื่อความหมายด้วยบทเจรจา ท่าทาง และคำร้องเป็นลำนำ ช่วยให้ผู้ชมได้ชื่นบานสนุกสนาน ได้อิ่มเอมกันสุนทรียรส และเกิดอารมณ์คล้อยตามไปกับการแสดง นาฎศิลป์ไทยจึงเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาติ เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่ปู่ ยา ตา ยาย ได้ถ่ายทอดไว้ให้ สมควรที่เยาวชนทั้งหลายควรสนใจรับสืบทอด และรักษาไว้เป็นศรีสง่าของชาติไทยสืบไป

การฝึกหัดรำแม่บทท่าต่างๆ : ท่าพรหมสี่หน้า


            ท่วงท่าของการร่ายรำนั้น เกิดขึ้นจากอิริยาบถต่างๆ ของคนในชีวิตประจำวันนั้นเอง แม้ว่ามือและแขนจะเป็นส่วนสำคัญ ของการรำ แต่อวัยวะทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นศีรษะ หน้า คอ ลำตัว เอว ขา และเท้า ก็ต้องเคลื่อนไหวรับสัมพันธ์กันทุกส่วน จึงจะแลดูงาม และสื่อความหมายได้ดี การแสดงท่ากวัก โบกสะบัด จีบคว่ำ จีบหงาย ร้องไห้ อิ่มเอม โกรธ ขับไล่ ฯลฯ ล้วนแต่มีท่ารำที่สวยงาม และดูได้เข้าใจชัดเจนทั้งสิ้น

ท่าเฉิดฉิน

            เนื่องจากการร่ายรำ เป็นศิลปะขั้นสูง ผู้ที่จะรำเป็น จึงต้องได้รับการฝึกหัด และฝึกฝนอย่างจริงจัง จึงจะดูนิ่มนวล กลมกลืน และงามสง่า ครูนาฎศิลป์โบราณได้ประดิษฐ์ท่ารำไว้มาก เป็นท่าหลักที่ต้องเรียนรู้ให้แม่นยำ ท่าหลักสำหรับฝึกหัดรำนี้ มักเรียกกันว่า "แม่บท" เป็นท่ารำที่เลียนแบบอิริยาบถ ทั้งของเทพบุตร เทพธิดา คน สัตว์ และธรรมชาติแวดล้อม เช่น เทพนม สอดสร้อยมาลา กวางเดินดง เมขลาล่อแก้ว ยอดตองต้องลม เป็นต้น ท่ารำบางท่าเป็นการแสดงความรู้สึก และอารมณ์ เช่น เสือทำลายห้าง ช้างทำลายโรง หนุมานผลาญยักษ์ พระลักษมณ์แผลงฤทธิ์ เป็นต้น

ท่าพรหมนิมิต

            การรำคือการแปลชื่อท่ารำต่างๆ มาประดิษฐ์ให้มีส่วนสัดงดงาม เรียบเรียงลำดับ ทำให้เข้ากับจังหวะ และทำนองของเพลงร้อง เพลงดนตรี ที่บรรเลงประกอบ ตบแต่งท่ารำ สำหรับเชื่อมท่าต่างๆ ให้ติดต่อกลมกลืนกัน การแสดงนาฎศิลป์แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ
            ๑. ระบำ
            ๒. ละคร

            ระบำ เป็นการแสดงร่ายรำประกอบคำร้อง และทำนอง จังหวะดนตรีที่มุ่งความสวยงาม และความบันเทิงเป็นสำคัญ ผู้แสดงจะมีเพียงคนเดียว หรือเป็นหมู่ก็ได้ การแสดงระบำต้องมีความพร้อมเพรียง และช่วยให้เกิดความสนุกสนาน

ท่าโบกพักท่า

            ละคร เป็นการแสดงรำ ที่มีเรื่องราวดำเนินไปโดยลำดับ มีหลายประเภท เช่น ละครโนรา ละครนอก ละครใน ละครพันทาง ละครดึกดำบรรพ์และโขน สำหรับ โขนนั้นยังมีวิธีการแสดงที่แตกต่างกันไป เช่น โขนกลางแปลง โขนนั่งราว โขนโรงใน โขนหน้าจอ และโขนฉาก

การแสดงโขน

            นับแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการนำนาฏศิลป์แบบตะวันตกมาใช้ จึงเกิดมีละครร้อง ละครพูด ละครพูดสลับลำ และละครสังคีต การละครได้เฟื่องฟูมาก ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้มีวิวัฒนาการสืบต่อมา จนถึงปัจจุบัน