เล่มที่ 13
ตุ๊กตาไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 13 ตุ๊กตาไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

            ตุ๊กตาเป็นสิ่งประดิษฐ์รูปคน สัตว์ สิ่งของ ที่ประดิษฐ์ขึ้นให้เหมือนของจริง หรือคล้ายของจริง ด้วยวัสดุต่างๆ และส่วนมาก จะถูกย่อส่วนให้มีขนาดเล็กกว่าของจริง เพื่อความสะดวกในการนำไปใช้ ตุ๊กตาเป็นของเล่นที่เด็กนิยมกันมาทุกยุคทุกสมัย เด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด ล้วนชอบตุ๊กตาทั้งสิ้น

ตุ๊กตาที่ประดิษฐ์จากเปลือกหอย

            แต่เดิมมา คนคงไม่ได้ตั้งใจประดิษฐ์ตุ๊กตาให้เป็นของเล่นของเด็ก แต่ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อให้ในพิธีฝังศพ หรือบรรจุในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ต่อมาเมื่อมีคนไปพบเข้า จึงนำกลับบ้านไปฝากเด็กๆ ผู้ใหญ่คงจะเห็นเด็กๆ ชอบนำตุ๊กตามาเล่น จึงคิดประดิษฐ์ตุ๊กตา สำหรับเด็กเล่นขึ้น แต่เดิมมา คงทำกันแบบง่ายๆ ใช้วัสดุ ที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ดิน ผ้า ไม้ ทางมะพร้าว เปลือกข้าวโพด เปลือกหอย หญ้าปล้อง เป็นต้น ต่อมา จึงได้มีวิวัฒนาการประดิษฐ์ตุ๊กตา ให้สวยงาม ประณีตขึ้น เพื่อใช้ในกิจการต่าง ๆ

ตุ๊กตาไทยมีหลายประเภท จำแนกตามจุดมุ่งหมายของการใช้ดังนี้


๑. ตุ๊กตาที่ใช้ในพิธีกรรม


            ตุ๊กตาประเภทนี้ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ตุ๊กตาศาลพระภูมิ เป็นตุ๊กตาคนรับใช้ชายหญิง และช้างม้า ตุ๊กตาชะนีสีเหลืองใช้ในพิธีทอดผ้าป่า เป็นต้น


๒. ตุ๊กตาสำหรับเด็กเล่น


            ตุ๊กตาประเภทนี้ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อให้เด็กเล่นมักทำอย่างง่ายๆ จากวัสดุที่หาได้ใกล้ๆ ตัว


            ตุ๊กตาผ้าที่ทำจากผ้าแถบของผู้หญิง หรือผ้าขาวม้าของผู้ชาย นำมาม้วนปลายสองข้างเข้าหากันแล้วผูกด้วยเชือก


            ตุ๊กตาผ้ายัดนุ่นทำเป็นรูปคนหรือสัตว์ต่างๆ เช่น ช้าง แมว เต่า หนอน ฯลฯ ใช้ผ้าตัดเย็บเป็นส่วนต่างๆ ของร่างกาย แล้วยัดนุ่น นำมาเย็บประกอบกันเป็นตัวตุ๊กตา

            ตุ๊กตาที่ทำจากผ้า เป็นตุ๊กตาสำหรับเด็กเล่นชนิดหนึ่ง ซึ่งทำอย่างง่ายๆ จากวัสดุใกล้ตัว และเด็กอุ้มเล่นได้สะดวก

ตุ๊กตากระดาษทำจากการปั้นหุ่นดินเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ทาน้ำมัน แล้วเอากระดาษสา หรือกระดาษหนังสือพิมพ์มาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แช่น้ำ ทาแป้งเปียก แล้วนำไปแปะลงบนหุ่นให้หนาๆ เสร็จแล้วจึงกรีดกระดาษออกจากหุ่น นำออกตากแดดให้แห้ง แล้วจึงทาสี แต่งเติมหน้าตาให้น่ารัก ที่นิยมทำกันมาก คือ ตุ๊กตาหมู ยีราฟ และม้าลาย มีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ขนาดที่เด็กขึ้นไปขี่ได้

3. ตุ๊กตาฝีมือ

            ตุ๊กตาประเภทนี้ ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อแสดงฝีมือทางศิลปะให้เด็กและผู้ชมได้ชมความงามอันประณีตละเอียดอ่อน ผู้ประดิษฐ์ตุ๊กตาประเภทนี้ นับว่าเป็นศิลปินที่ควรแก่การยกย่อง ตุ๊กตาฝีมือที่มีชื่อเสียง และมีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมมีหลายลักษณะด้วยกัน ดังนี้

ตุ๊กตาชาววัง

            ศิลปินผู้ประดิษฐ์ คือ นางเฉ่ง สาครวาสี (สกุลเดิม สุวรรณโน) เป็นตุ๊กตาเดี่ยวรูปคน สูงประมาณ ๒-๔ เซนติเมตร มีทั้งผู้ใหญ่ วัยรุ่น และเด็ก แต่งกายตามวัฒนธรรมไทยสมัยต่างๆ แสดงอิริยาบถต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ตุ๊กตาเด็กผมจุก กำลังนั่งเล่น ตุ๊กตาผู้หญิงยืนแต่งกายแบบชาวเหนือ เป็นต้น

ตุ๊กตาบางกอกดอลล์

            ศิลปินผู้ประดิษฐ์คือ คุณหญิงทองก้อน จันทวิมล เป็นตุ๊กตาตัวโขน ตัวละครจากวรรณคดี และละครรำต่างๆ เช่น ตุ๊กตารจนาเสี่ยงพวงมาลัย ตุ๊กตาชาวเขาเผ่าต่างๆ ตุ๊กตาชาวไทยสมัยต่างๆ ตุ๊กตาชาวบ้านอาชีพต่างๆ ตุ๊กตาบางกอกดอลล์นี้ จะเน้นการประดิษฐ์ให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

ตุ๊กตาบางกอกดอลล์ แสดงการเล่นรีรีข้าวสาร

ตุ๊กตาชาวบ้านอยุธยา

            ศิลปินผู้ประดิษฐ์คือ นางสาวสุดใจ เจริญสุข เป็นตุ๊กตาที่แสดงการดำเนินชีวิตประจำวัน และศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น ตุ๊กตามอญซ่อนผ้า ตุ๊กตายายนั่งไกวเปลหลาน เป็นต้น

ตุ๊กตาเด็กโกนจุก
ประดิษฐ์โดยนายจักรพันธุ์ โปษยกฤต

ตุ๊กตาของนายจักรพันธุ์ โปษยกฤต

            เป็นตุ๊กตาที่แสดงศิลปวัฒนธรรมไทย ประดิษฐ์ขึ้นด้วยความประณีตบรรจง ใช้เวลาในการประดิษฐ์มาก เช่น ตุ๊กตาเด็กโกนจุก ตุ๊กตานางกวัก และตุ๊กตากุมารน้อย เป็นต้น

๔. ตุ๊กตาตามความเชื่อพื้นบ้าน

            ตุ๊กตาประเภทนี้ประดิษฐ์ขึ้นง่ายๆ ด้วยฝีมือชาวบ้าน ใช้ในเชิงไสยศาสตร์ เช่น ตุ๊กตาเสียกบาล เป็นตุ๊กตาที่ถูกหักคอ ใช้สมมติเป็นตัวแทนของคนป่วย เพื่อลวงผีว่า คนป่วยนั้นได้ตายไปแล้ว จะได้ไม่มาเอาชีวิตคนป่วย ตุ๊กตานางกวัก เป็นตุ๊กตาหญิงสาวยกมือขวากวักไปข้างหน้า ใช้บูชา เพื่อเรียกลูกค้าให้เข้าร้าน และกวักเงินทองโชคลาภมาให้ เป็นต้น

            ตุ๊กตาไม่ว่าจะเป็นประเภทใด ล้วนมีคุณค่าทั้งสิ้น ตุ๊กตาบางประเภทใช้เล่น เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน บางประเภทใช้เป็นอุปกรณ์การศึกษาได้ บางประเภทใช้ในพิธีกรรมต่างๆ บางประเภทเป็นผลงานทางศิลปะ ที่แสดงความงามอันประณีตละเอียดอ่อน ตุ๊กตาไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทย ที่เราต้องภาคภูมิใจ และรักษาไว้ตลอดไป