เล่มที่ 16
ดาวเทียมเพื่อการเกษตร
เล่นเสียงเล่มที่ 16 ดาวเทียมเพื่อการเกษตร
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ปัจจุบันมีดาวเทียมมากกว่า ๒,๐๐๐ ดวง ถูกส่งเข้าสู่วงโคจร เพื่อปฏิบัติงานด้านต่างๆ ดาวเทียมเหล่านี้อาจจำแนกตามลักษณะการใช้ประโยชน์ออกเป็นสามชนิดคือ ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา ดาวเทียมสื่อสาร และดาวเทียมสำรวจทรัพยากร

ทุ่นสำรวจข้อมูลทางสมุทรศาสตร์ของโครงการสำรวจและพยากรณ์ทางสมุทรศาสตร์และสภาพแวดล้อมทางทะเล ทุ่นนี้จะส่งข้อมูลผ่านดาวเทียมทุกๆ ชั่วโมงเพื่อให้ข้อมูลที่ตรงกับสภาพความเป็นจริงในขณะนั้น ทำให้สามารถพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ ได้ใกล้เคียงที่สุด
กาโคจรของดาวเทียมทั้งหมดนี้ มีแตกต่างกันเป็นสองบแบบกล่าวคือ ถ้าไม่โคจรในแนวระนาบ ก็จะต้องโคจรในแนวเหนือใต้รอบโลก

            กาโคจรในแนวระนาบกับเส้นศูนย์สูตร มีความสอดคล้องและเร็ว ในแนววงกลมเท่ากับความเร็วในการหมุนรอบตัวเองของโลก จึงทำให้ดาวเทียมดูเสมือนลอยนิ่งอยู่ ณ ตำแหน่งเดิมเหนือผิวโลก โดยทั่วไปโคจรในระดับสูง ๓๖,๐๐๐ กิโลเมตร ดาวเทียมที่โคจรในลักษณะเช่นนี้ ส่วนใหญ่เป็นดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา และดาวเทียมสื่อสาร
            ส่วนดาวเทียมที่โคจรอยู่เหนือ-ใต้รอบโลก จะโคจรผ่านแนวศูนย์สูตร ณ เวลาท้องถิ่นเดียวกัน โดยทั่วไปโคจรสูงจากพื้นโลกที่ระดับต่ำกว่า ๒,๐๐๐ กิโลเมตร ดาวเทียมเช่นนี้ มักเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรพิภพ
จานรับสัญญาณดาวเทียมทรัพยากรธรรมชาติ
ขณะรับสัญญาณ
            ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรที่สำคัญ และสามารถรับสัญญาณได้ในประเทศไทยนั้น มีอยู่ด้วยกันสามดวง คือ ดาวเทียมแลนด์แซต ดาวเทียมสปอต และดาวเทียมมอส

ดาวเทียมแลนด์แซต

            เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรพิภพดวงแรกของโลก สร้างขึ้นโดยองค์การบริหารการบิน และอวกาศ สหรัฐอเมริกา หรือ ที่เรียกชื่อย่อว่า องค์การนาซา (NASA) ดาวเทียมแลนด์แซตมีหลายดวง ที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน มีแลนด์แซต ๔ และ แลนด์แซต ๕ มีระบบบันทึกภาพ และระบบสื่อสารพิเศษ สามารถส่งข้อมูลจากดาวเทียมสู่โลกในเวลาถ่ายภาพได้ทันที ดาวเทียมแลนด์แซตมีสถานีรับสัญญาณดาวเทียมทั่วโลก

ดาวเทียมสปอต

            เป็นดาวเทียมของสถาบันอวกาศแห่งชาติ ฝรั่งเศส ปัจจุบันมีสปอต ๒ โคจรอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ ดาวเทียมสปอตมีอุปกรณ์บันทึกภาพ ซึ่งสามารถถ่ายภาพได้ทั้งแนวดิ่ง และแนวเฉียง ทำให้นำมาศึกษาในลักษณะสามมิติได้อย่างดี ดาวเทียมนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพืชพันธุ์ ภาพคลุมพื้นที่กว้าง และมีรายละเอียดภาพดีกว่า ๑ กิโลเมตร


ดาวเทียมมอส 

            เป็นดาวเทียมสำรวจพื้นพิภพ และสมุทรศาสตร์ ขององค์การอวกาศแห่งชาติ ญี่ปุ่น ซึ่งมีชื่อย่อว่า องค์การนาสดา (NASDA) สามารถถ่ายภาพในระยะทางกว้าง ๑๐๐ กิโลเมตร ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิต่างๆ ในทะเล การปกคลุมของเมฆและไอน้ำ การสำรวจปริมาณไอน้ำและน้ำในบรรยากาศ ลมทะเล การแผ่ปกคลุมของหิมะ และน้ำแข็งในทะเล ให้ข้อมูลทางด้านสมุทรศาสตร์ และสามารถวัดตำแหน่งของเรือหรือทุ่นได้ด้วย


เครื่องมือภายในสถานีรับฯ ภาคพื้นดิน
            ภาพที่รับจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรเหล่านี้ มีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างจากภาพ ที่ได้จากกล้องถ่ายภาพธรรมดาหลายประการ กล่าวคือ ให้ข้อมูลเป็นตัวเลข ซึ่งสามารถนำไปผลิตเป็นภาพขาวดำ และภาพสีผสม ตลอดจนนำมาวิเคราะห์ ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้มีความถูกต้องยิ่งขึ้น การบันทึกข้อมูลด้วยดาวเทียมนั้น สามารถทำได้เป็นบริเวณกว้างมาก ถึงสามหมื่นตารางกิโลเมตร และสามารถบันทึกภาพได้หลายช่วงคลื่น ทั้งที่สายตามนุษย์มองเห็น และมองไม่เห็น ทำให้อาจแยกวัตถุต่างๆ บนผิวโลกได้อย่างชัดเจน

            นอกจากนี้การบันทึกภาพที่ส่งจากดาวเทียมยังเป็นการบันทึก ณ บริเวณเดิม ทำให้สามารถเปรียบเทียบ และติดตามการเปลี่ยนแปลงต่างๆ บนผิวโลกได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ภาพจากดาวเทียมให้รายละเอียดหลายระดับ ทำให้สามารถศึกษาตัวเมือง เส้นทางคมนาคมระดับหมู่บ้าน ศึกษาการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เฉพาะจุดเล็กๆ ในแหล่งน้ำขนาดเล็ก ศึกษาสภาพการใช้ที่ดินระดับจังหวัดได้ด้วย ข้อดีอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ เราสามารถนำภาพจากดาวเทียม มาปรับปรุงคุณภาพให้มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นได้โดยง่าย

            กาสำรวจทรัพยากรโดยดาวเทียม จึงอาจนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในเรื่องป่าไม้
การใช้ประโยชน์ที่ดิน การเกษตร และการทำแผนที่ โดยเฉพาะเรื่องป่าไม้ อาจศึกษาติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ ป่าต้นน้ำลำธาร สำรวจหาพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ และป่าเสื่อมโทรมศึกษา ไฟป่า หาพื้นที่ที่เหมาะสม สำหรับการปลูกสวนป่า เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน ก็ใช้ศึกษาว่า ที่ใดเหมาะสมสำหรับทำการเกษตร ศึกษาหาพื้นที่เหมาะสมในการปลูกข้าว ยางพารา สับปะรด ข้าวโพด และอื่นๆ