เล่มที่ 16
พระไตรปิฎกและการชำระพระไตรปิฎก
เล่นเสียงเล่มที่ 16 พระไตรปิฎกและการชำระพระไตรปิฎก
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ความเป็นมาของพระไตรปิฎก

            แต่เดิมมาไม่มีการจัดหมวดหมู่คำสอนของพระพุทธเจ้า เพียงแต่พระสงฆ์ช่วยกันท่องจำคำสั่งสอน และสาระสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากมีจำนวนมาก จึงต้องแบ่งกลุ่มท่องจำเป็นเรื่องๆ ไป

            ต่อมาประมาณ ๒๐๐ ปี หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระสงฆ์จึงประชุมปรึกษากัน จัดคำสอนออกเป็นสามหมวดหมู่ เรียกว่า พระไตรปิฎก แต่ยังใช้วิธีท่องจำเช่นเดิม

สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นองค์ประธานในการประชุมคณะสงฆ์

ภาษาพระไตรปิฎก

            เมื่อชาวอินเดีย และชาวลังการู้จักการเขียนตัวหนังสือแทนการท่องจำ จึงมีการเขียนพระไตรปิฎกเป็นตัวหนังสือ และภาษาที่ใช้เขียนเป็นตัวหนังสือนั้น ใช้ภาษามคธ ซึ่งเป็นภาษาของชาวอินเดีย ในแคว้นมคธ แคว้นนี้เป็นแคว้นใหญ่ และสำคัญมาก ในสมัยพุทธกาล และสมัยต่อมา

            การศึกษาพระพุทธศาสนาแพร่หลายไปหลายประเทศ มีผู้เรียกภาษามคธว่า ภาษาบาลี ซึ่งหมายถึง ภาษาของพระไตรปิฎก

ความจำเป็นที่ต้องศึกษาบาลี

            เวลาล่วงมาหลายร้อยปี ไม่มีผู้พูดภาษามคธได้ แต่เนื่องจากได้จารึกพระไตรปิฎกเป็นภาษามคธ หรือที่เรียกกันภายหลังว่า ภาษาบาลี ทำให้ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาจำเป็นจะต้องเรียนภาษาบาลี ทั้งอ่านและเขียน

            ประเทศต่างๆ ที่พลเมืองส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา เช่น ประเทศศรีลังกา ประเทศพม่า และประเทศไทย นักศึกษา และพระสงฆ์ในประเทศเหล่านั้น จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาบาลี

            แม้แต่ประเทศตะวันตก ซึ่งมีนักศึกษาพระพุทธศาสนา เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ และอีกหลายประเทศในยุโรป นักศึกษาเหล่านั้นต้องศึกษาการอ่านและเขียนภาษาบาลี ดังนั้นภาษาบาลี จึงเป็นภาษากลางของผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา 

พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี

พระไตรปิฎกภาษาไทย

            จากประวัติพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ปรากฏว่า มีผู้แปลพระไตรปิฎกบางส่วนจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ในกาลต่อมาการแปลพระไตรปิฎกก็คงทำต่อเนื่องกันในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงเทพมหานคร เป็นราชธานี แต่ยังไม่ครบถ้วนทุกฉบับของพระไตรปิฎก

พระไตรปิฎกและคำอธิบายภาษาบาลีเป็นภาษาไทย

พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมีคำอธิบาย

            ถึงแม้ว่าเมื่อประเทศไทยได้เฉลิมฉลองวาระ ที่พระพุทธศาสนาครบ ๒,๕๐๐ ปี ที่กรุงเทพมหานคร ได้มีการแปลและพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยด้วย

            เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ ในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ มหากุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แปลพระไตรปิฎก และคำอธิบายภาษาบาลีเป็นภาษาไทยรวม ๙๑ เล่ม อนึ่ง เพื่อให้คำอธิบายพระไตรปิฎก ที่เรียกว่า อรรถกถาภาษาบาลี ซึ่งยังไม่สมบูรณ์ครบชุด มหาเถรสมาคมจึงได้ดำเนินการตรวจชำระ และจัดพิมพ์ให้เสร็จ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ นับว่าในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นระยะกาลที่พระไตรปิฎกภาษาบาลี และที่แปลเป็นไทย รวมทั้งคำอธิบายพระไตรปิฎก ที่เรียกว่า อรรถกถา ทั้งภาษาบาลี และภาษาไทย ได้จัดพิมพ์ขึ้นโดยสมบูรณ์

พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับคอมพิวเตอร์

            พ.ศ. ๒๕๓๑ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำข้อความในพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย เข้านำจานแม่เหล็ก เพื่อนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลก นับเป็นเกียรติประวัติสูงสุดของประเทศไทย

พระไตรปิฎกที่บรรจุในคอมพิวเตอร์ สามารถเรียกข้อความที่ต้องการทราบได้

            ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่มเติมคำอธิบายพระไตรปิฎก ที่เรียกว่า อรรถกถา และคำอธิบายอรรถกา ที่เรียกว่า ฎีกา เพิ่มให้ได้ความครบสมบูรณ์ ทำให้นักศึกษาพระไตรปิฎก สามารถเรียกข้อความที่ต้องการทราบในพระไตรปิฎก พร้อมทั้งคำอธิบายอย่างชัดเจนอีก ๒ ระดับ มาปรากฏในจอภาพ ภายในเวลาเป็นวินาที

คำสอนในพระไตรปิฎกซึ่งมีคุณค่าในสังคมปัจจุบัน เมื่อได้ศึกษาความในพระไตรปิฎกแล้ว จะเห็นได้ว่า คำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อสองพันปีมาแล้ว ยังเป็นเครื่องมืออบรมคนทุกชาติ ทุกภาษา ในสังคมปัจจุบันนี้ ให้มีความอยู่ดีกินดีด้วยประการทั้งปวง เช่น             ๑. ทรงสอนให้รักษาสิ่งแวดล้อม ทรงส่งเสริมให้ปลูกป่า ทรงห้ามพระภิกษุ ตัดต้นไม้ เผาป่า ทรงห้ามการสร้างที่อยู่ตามชอบใจ คือ ต้องมีพระสงฆ์ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป รับรู้ และชี้สถานที่ ที่จะสร้างที่อยู่อาศัย             ๒. ทรงสอนให้รักษาความสะอาดลำน้ำ เช่น ห้ามพระภิกษุถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ และถ่มน้ำลายลงในลำน้ำ             ๓. ทรงสอนให้รักษาสุขภาพอนามัยส่วนตัว เช่น ห้ามพระภิกษุฉันอาหาร ในภาชนะเดียวกัน ห้ามดื่มน้ำร่วมภาชนะกับผู้อื่น             ๔. ทรงกำหนดข้อปฏิบัติในการอยู่ร่วมกัน โดยต้องมีส้วม และถือเป็นหน้าที่ ต้องทำความสะอาดส้วมอยู่ตลอดเวลา             ๕. ทรงสอนให้รู้จักประมาณ ในการบริโภคอาหารไม่มากเกินไป กำหนดเวลา ไม่พร่ำเพรื่อ             ๖. ทรงสอนให้พระสงฆ์ปกครองกันแบบประชาธิปไตย ต้องมีการประชุม ปรึกษากันในการประกอบกิจการร่วมกัน ทรงอนุมัติให้มีการออกเสียงเห็นด้วย ออกเสียงคัดค้าน กำหนดจำนวนองค์ประชุม ที่จะให้การออกเสียงมีผลถูกต้อง             ๗. ทรงห้ามรับผู้เป็นโรคติดต่อ เช่น โรคเรื้อน เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุ

การเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนา ในคำสอนของพระไตรปิฎก ทรงห้ามรับผู้เป็นโรคติดต่อ เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุ

การชำระพระไตรปิฎกในประเทศไทย

            การชำระพระไตรปิฎก บางครั้งท่านใช้คำว่า การสังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎก สังคายนา แปลตามรูปศัพท์ว่า การสวดพร้อมกัน

            ตามที่ทราบแล้วว่า พระสงฆ์รักษาคำสอนทางพระพุทธศาสนาด้วยการท่องจำมาก่อน แล้วต่อมาจึงมีการจารึกเป็นตัวอักษร

            การท่องจำ การจารึกแล้วคัดลอกต่อๆ กันมา อาจมีข้อบกพร่องในการใช้ถ้อยคำ และมีปัญหาเรื่องภาษาที่จดต่อๆ กันมา ดังนั้นจึงมีการประชุมสงฆ์เป็นครั้งคราว เพื่อสอบทานคำจารึก และการตีความหมายให้ถูกต้อง ตามคำสอนทางพระพุทธศาสนาว่า ที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร

พระไตรปิฎกใบลาน

ในประเทศไทยมีการตรวจชำระพระไตรปิฎกหลายครั้ง

ตามกาลเวลา ดังต่อไปนี้

            ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๐๒๐ พระเจ้าติโลกราช พระเจ้าแผ่นดินแห่งล้านนา ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ให้มีการสังคายนา ที่เมืองเชียงใหม่

ตู้พระไตรปิฎก สมัยรัชกาลที่ ๑

            ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ให้มีการสังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎก แล้วจดจารึกข้อความ ที่ถูกต้องลงในใบลาน

            ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ให้มีการสังคายนา และจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มหนังสือ นับเป็นการพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย พิมพ์เสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖

ตู้พระไตรปิฎก สมัยรัชกาลที่ ๑

            ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรี ทรงเปิดโอกาสให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน โดยเสด็จพระราชกุศล จัดพิมพ์พระไตรปิฎก โดยการสอบทานกับพระไตรปิฎก ฉบับอักษรโรมัน อักษรพม่า และอักษรลังกา พิมพ์สำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓

            ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระบรมราชโองการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๘ ให้มีการสังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎก ซึ่งได้ดำเนินการสำเร็จทันวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ในศุภวาระดิถีมหามงคล ที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ