เล่มที่ 23
ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๑)
เล่นเสียงเล่มที่ 23 ไม้ในวรรณคดีไทย (ตอน ๑)
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            เรื่องราวหรือหนังสือที่มีผู้แต่งขึ้น เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสุข สนุกสนาน ตื่นเต้น เพลิดเพลินไปกับเนื้อเรื่องที่แต่งขึ้น ตามจินตนาการ และประทับใจกับตัวเอกในเรื่องนั้น ถ้าเป็นเรื่องที่ได้รับยกย่องว่า แต่งดี มีผู้นิยมมาก และสืบทอดความนิยมนั้น ต่อเนื่องกันมา จะเรียกว่า วรรณคดี ถ้าเป็นเรื่องที่แต่งและได้รับความนิยมในเมืองไทย ก็เรียกว่า วรรณคดีไทย บางเรื่องได้รับการคัดเลือกไปเป็นบทเรียน และอีกหลายเรื่องนำมาแสดงเป็นละครในโอกาสต่างๆ กัน วรรณคดีไทยบางเรื่อง ได้เค้าโครงมาจากเรื่องของต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่แต่งขึ้นจากเหตุการณ์ และจินตนาการของคนไทยเราเอง เรื่องในวรรณคดีไทยแม้จะแต่งขึ้น เพื่อความบันเทิงเป็นหลัก แต่ผู้แต่งจะสอดแทรกคติคำสอนต่างๆ ไว้ด้วยเสมอ โดยเฉพาะในเรื่องของการทำความดี ซื่อสัตย์ สามัคคี และมีเมตตา นอกจากนั้นเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึก เหมือนได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์เหล่านั้นด้วย ผู้แต่งจึงสอดแทรกเรื่องราว และวิถีชีวิตของคนในยุคสมัยนั้น เข้าไปด้วยอย่างเหมาะสมกลมกลืน ไม่ว่าจะเป็นสภาพบ้านเมือง เรือกสวน ไร่นา ความเป็นอยู่ของประชาชน ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะปรากฎอยู่ในวรรณคดีหลายบทหลายตอน 


ภาพเขียนการร้อยมาลัยของหญิงไทยด้วยพรรณไม้ต่าง ๆ

            วิถีชีวิตของคนไทยเกี่ยวข้อง และผูกพันกับพรรณไม้นานาชนิด ในหลากหลายรูปแบบ เช่น ใช้เป็นอาหาร ยารักษาโรค ทำเครื่องนุ่งห่มที่อยู่อาศัย และสิ่งของเครื่องใช้ เมื่อผู้แต่งวรรณคดีนำพืชพรรณเหล่านั้น มาสอดแทรกไว้ ผู้อ่านวรรณคดีจึงได้เรียนรู้ว่า ในแต่ละยุคสมัยนั้น เมืองไทยเคยอุดมสมบูรณ์เพียงใด มีพรรณไม้มากมายเพียงใด ได้รู้จักชื่อ รูปร่าง ลักษณะ และการใช้ประโยชน์บางอย่างด้วย ได้ทราบว่า ต้นไม้ชนิดใด มีดอกสวย ชนิดใด มีกลิ่นหอม ชนิดใด ที่ใช้ร้อยมาลัย หรือทำบุหงา พันธุ์ไม้จะขึ้นอยู่ในสภาพธรรมชาติ และภูมิประเทศ ที่แตกต่างกัน เช่น พันธุ์ไม้ริมทะเล พันธุ์ไม้บนภูเขา พันธุ์ไม้ในป่า พันธุ์ไม้น้ำ และพันธุ์ไม้เลื้อย เป็นต้น

            ปัจจุบันพรรณไม้หลายชนิดที่ปรากฎในวรรณคดีลดจำนวนลงมากมาย บางชนิดอาจสูญพันธุ์ บางชนิดอาจเหลือน้อยลง และหายากจนคนรุ่นใหม่ไม่รู้จักแล้ว หากเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต คนไทยอาจรู้จักเพียงภาพ หรือชื่อต้นไม้เท่านั้น พรรณไม้ในวรรณคดีไทยจึงน่าจะมีส่วนกระตุ้นให้คนไทยเกิดความรู้สึกรัก หวงแหน และอยากจะอนุรักษ์ต้นไม้ ที่กล่าวถึงเหล่านั้นให้คงอยู่ต่อไป


พรรณไม้นานาชนิดมีส่วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทย