เล่มที่ 23
ภูมิปัญญาไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 23 ภูมิปัญญาไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง "เราสู้" ได้แสดงถึงพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ และความกล้าหาญชาญฉลาดของบรรพบุรุษไทย ที่ได้ร่วมกันธำรงรักษาเอกราช และสร้างศักดิ์ศรีของชาติไทย มาตราบจนปัจจุบัน




อนุสาวรีย์ชาวบ้านบางระจันแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนไทยเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ

            คนไทยมีวิถีการดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกัน เป็นครอบครัวใหญ่ มีความรักความผูกพัน ในหมู่วงศาคณาญาติ ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และมีลักษณะเป็นชุมชนเกษตรกรรม แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย จะมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในชีวิตประจำวัน และทำมาหากินในระบบอุตสาหกรรมด้วย แต่คนไทย ก็ยังสามารถดำรงเอกลักษณ์ และปรีชาสามารถ ที่บรรพชนได้สร้างสมไว้ และถ่ายทอดสืบต่อกันมา

            ภูมิปัญญาไทย หมายถึง ความรู้ความสามารถ วิธีการ ผลงาน ที่คนไทยได้ค้นคว้า รวบรวม และจัดเป็นความรู้ ถ่ายทอด ปรับปรุง จากคนรุ่นหนึ่งมาสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง จนเกิดผลิตผลที่ดี งดงาม มีคุณค่า มีประโยชน์ สามารถนำมาแก้ปัญหา และพัฒนาวิถีชีวิตได้

            แต่ละหมู่บ้าน แต่ละชุมชนไทย ล้วนมีการทำมาหากิน ที่สอดคล้องกับ
ภูมิประเทศ มีผู้นำที่มีความรู้ มีฝีมือทางช่าง สามารถคิดประดิษฐ์ ตัดสินใจแก้ปัญหาของชาวบ้านได้ ผู้นำเหล่านี้ เรียกว่า ปราชญ์ชาวบ้าน หรือผู้ทรงภูมิปัญญาไทย

            ชาวบ้านรู้จักขุดบ่อน้ำ เพื่อให้มีน้ำดื่ม น้ำใช้ ทำเหมืองฝาย เพื่อเก็บกักน้ำ และแจกจ่ายไปสู่ไร่นา ชาวบ้านมีความรู้เกี่ยวกับพืชพันธุ์ธัญญาหาร ผักพื้นบ้าน เครื่องเทศ สมุนไพร ว่าชนิดใดกินได้ ชนิดใดเป็นยารักษาไข้ พ่อบ้านแม่บ้านรู้จักประดิษฐ์เครื่องมือทำมาหากิน เช่น เครื่องมือจับสัตว์ เครื่องมือทำไร่ไถนา เครื่องใช้ ในครัวเรือน และสร้างที่อยู่อาศัย



การไถนาโดยใช้คันไถ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการทำเกษตรมาช้านาน

            พ่อแม่อบรมเลี้ยงดูลูก สั่งสอนให้เป็นคนดี มีพิธีกรรมหลายอย่าง ที่แสดงความรัก ความผูกพัน ระหว่างพ่อแม่ลูก เช่น การร่อนกระด้ง พิธีฮ้องขวัญ ผูกข้อมือ มีเพลงกล่อมเด็กที่ไพเราะ และเล่านิทานสนุก เพื่อสอนใจให้มีคุณธรรม วรรณกรรม คำสอนนี้ แสดงถึงความคิด ความเชื่อ และความคาดหวัง ที่ผู้ใหญ่มีต่อเด็ก ที่เป็นลูกหลาน ดังมีตัวอย่างภาษิต คำคม วรรณกรรมคำสอน และคำผญาภาษิต ในภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสาน

            เครื่องมือเครื่องใช้ที่คนไทยประดิษฐ์ขึ้น ล้วนใช้วัสดุพื้นบ้าน และใช้ประโยชน์ได้อย่างดียิ่ง นอกจากเครื่องมือทำไร่ไถนาแล้ว เครื่องมือจับปลา ก็มีมากมายหลายประเภท เช่น ลอบ ไซ สุ่ม อีจู้ เบ็ด ยอ เป็นต้น

            ภูมิปัญญาไทยมีหลายสาขา ที่พอจะจัดกลุ่มได้มี ๑๐ สาขา คือ สาขาเกษตรกรรม สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม สาขาการแพทย์แผนไทย สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาขากองทุนและธุรกิจชุมชน สาขาสวัสดิการ สาขาศิลปกรรม สาขาการจัดการองค์กร สาขาภาษาและวรรณกรรม และสาขาศาสนาและประเพณี

            ภูมิปัญญาไทยเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ คนกับบุคคลอื่น และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ทำให้เกิดความไพบูลย์ในวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และพิธีกรรม ที่สืบทอดต่อๆ กันมา


การใช้เสียมพรวนดินเพื่อบำรุงต้นไม้


            คนไทยควรคำนึงถึงคุณค่าของภูมิปัญญาไทย ยกย่องส่งเสริมผู้ทรงภูมิปัญญา ให้ท่านสามารถเผยแพร่ความรู้ และธำรงรักษาเอกลักษณ์ ศักดิ์ศรีของชาติไทยไว้

            ประเทศไทยได้ประกาศยกย่องผู้ทรงภูมิปัญญาไทยอย่างต่อเนื่อง เช่น ศิลปินแห่งชาติ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม และคนดีศรีสังคม เป็นต้น นักปราชญ์ไทยที่มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสุนทรภู่ เป็นต้น

            การถ่ายทอดภูมิปัญญาไทย มีความเชื่อถือศรัทธาสืบต่อกันมาเป็นพื้นฐาน ประชาชนชาวไทย จึงควรสนใจศึกษาองค์ความรู้ ความคิด ความเชื่อที่ทรงคุณค่านี้ และธำรงรักษาไว้ให้คงอยู่คู่ชาติไทย