เล่มที่ 23
ชาติพันธ์ุ
เล่นเสียงเล่มที่ 23 ชาติพันธ์ุ
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยาได้ให้ความหมายคำว่า ชาติพันธุ์ (Ethnos) ว่าหมายถึง กลุ่มที่มีพันธะเกี่ยวข้องกัน และที่แสดงเอกลักษณ์ออกมา โดยการผูกพันลักษณาการของเชื้อชาติ และสัญชาติเข้าไว้ด้วยกัน


กลุ่มคนที่แตกต่างทางชาติพันธุ์
มีลักษณะทางรูปกายภายนอกหรือชีวภาพ และบรรพบุรุษทางวัฒนธรรมแตกต่างกัน

            เชื้อชาติ (race) หมายถึง ลักษณะทางรูปกายภายนอกของคนที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากลักษณะรูปพรรณ สีผิว สีตา และลักษณะเส้นผม เดิมเชื้อชาติแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ นิกรอยด์ (negroid) มองโกลอยด์ (mongoloid) และคอเคซอยด์ (caucasoid) ต่อมาได้แบ่งกลุ่มเชื้อชาติเพิ่มขึ้นอีกหลายกลุ่ม เช่น ออสตราลอยด์ (australoid) โพลินีเชียน (polynesian) ฯลฯ

            สัญชาติ (nationality) หมายถึง การเป็นสมาชิกของประเทศใดประเทศหนึ่งตามกฎหมาย โดยที่ลักษณะทางรูปกายภายนอก หรือชีวภาพ และวัฒนธรรมอาจแตกต่างกันได้การเป็นสมาชิกของประเทศหมายถึง การเป็นประชาชนของประเทศนั้น ผู้ที่อพยพมาจากที่อื่นแล้วมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศใหม่ สามารถโอนสัญชาติเป็นคนของประเทศใหม่นั้นได้ การถือใบเดินทาง (passport) ก็จะต้องใช้ของประเทศนั้นด้วย

ความแตกต่างทางชาติพันธุ์

            ในอดีต ประชากรของโลกยังมีไม่มากอย่างในปัจจุบัน เนื่องจากพื้นที่บนผิวโลกมีอยู่มาก ประชากรแต่ละกลุ่มแต่ละเผ่าพันธุ์ จึงแยกกันอยู่โดยอิสระ ไม่เกี่ยวข้องกัน อาจจะกล่าวได้ว่า แต่ละกลุ่มแทบจะไม่ทราบเลยว่า ในส่วนต่างๆ ของโลก ยังมีมนุษย์กลุ่มอื่น ที่ต่างไปจากกลุ่มของตนอาศัยอยู่


ความแตกต่างทางชาติพันธุ์

            ต่อมาเมื่อประชากรมีจำนวนมากขึ้น จึงเกิดการขยับขยาย และแสวงหาที่อยู่ใหม่ๆ มีการอพยพแยกย้ายกันเข้าไปอยู่ในที่ต่างๆ กลุ่มที่มีกำลังคน และกำลังทรัพย์ ก็เริ่มเสาะแสวงหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งห่างไกลจากที่อยู่เดิมมากขึ้น มีการสำรวจพื้นที่ต่างๆ ของโลก และได้พบกับกลุ่มที่มีวัฒนธรรม และประเพณีที่ต่างกัน บางครั้งก็มีไมตรีอันดีต่อกัน แต่บางครั้งก็เกิดการขัดแย้งกัน

            ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการที่แต่ละฝ่ายพยายามรักษาวัฒนธรรมของตน โดยไม่ยอมรับวัฒนธรรมของกลุ่มอื่น แม้จะเป็นวัฒนธรรมที่ใกล้เคียง ในบางกรณีกลุ่มที่ต่างเผ่าพันธุ์กัน ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จึงมีการแต่งงานกัน ระหว่างชายหญิงจากแต่ละกลุ่ม อันเป็นผลให้เกิดกลุ่มชาติพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีสายเลือดของแต่ละกลุ่มเป็นตัวเชื่อมโยงความสัมพันธ์ ในทำนองเดียวกัน กลุ่มเผ่าพันธุ์บางกลุ่มก็เกิดการขัดแย้งกันเองภายในกลุ่มเกี่ยวกับความเชื่อ ประเพณีนิยม และแนวคิดใหม่ๆทำให้มีการแบ่งแยกแตกเผ่าออกไป


แม้ชาติพันธุ์จะแตกต่างกันแต่หากมีความเข้าใจซึ่งกันและกันก็จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีได้

สาเหตุของการแบ่งแยกระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ สามารถรวบรวมได้เป็น ๕ ลักษณะดังนี้

๑. เกิดจากการแบ่งแยกโดยวัฒนธรรมชนชั้น

            ในสังคมบางสังคมมีการแบ่งชนชั้น คนที่อยู่ในชนชั้นต่ำที่สุดถือเป็นกลุ่มชนที่อยู่นอกระบบสังคมนั้น เช่น จัณฑาลในอินเดีย เอทา หรือบูราคูในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น คนที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน แต่ถูกสังคมกำหนดให้เป็นชนชั้นต่ำ ถือว่า เป็นผู้ที่น่ารังเกียจ และไม่ควรอยู่ร่วมกับสมาชิกส่วนใหญ่ ชนชั้นต่ำเป็นชนกลุ่มน้อยของสังคม เป็นผู้ที่ปราศจากศักดิ์ศรี ไม่มีอำนาจ และไม่มีสิทธิทางสังคมเท่าเทียมคนอื่น ปัจจุบันทั้งประเทศอินเดียและประเทศญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายยกเลิกชนชั้นจัณฑาล และบูราคู แต่ในทางปฏิบัติยังมีการกีดกันอยู่ ความแตกต่างภายในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันนี้ถือเป็นรูปแบบความแตกต่างทาง ชาติพันธุ์รูปแบบหนึ่ง

๒. เกิดจาการแบ่งแยกจากลักษณะทางภูมิศาสตร์

            กลุ่มชนที่มีชาติพันธุ์ต่างจากคนส่วนใหญ่ และตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่ห่างไกล เช่น ชาวเขา มักจะถูกตัดขาด และไม่ค่อยได้รับข้อมูลข่าวสารจากสังคมพื้นราบ ซึ่งการขาดการติดต่อสื่อสารที่ดีจะก่อให้เกิดการเข้าใจผิด และอาจทำให้ชาวเขามีปฏิกิริยาต่อต้านอำนาจรัฐได้ รัฐบาลไทยจึงได้พยายามติดต่อสื่อสารกับชาวเขาอยู่เสมอ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน

๓. เกิดจากการผนวกดินแดน

            การขยายอาณาเขตของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยการผนวกดินแดนเพิ่ม อาจเกิดจากการตกลงกันตามสนธิสัญญา หรือการขยายดินแดนหลังจากชนะสงคราม ตัวอย่างของการตกลงตามสนธิสัญญาคือ กรณีสหรัฐอเมริกาซื้อดินแดน ซึ่งปัจจุบันคือ รัฐในภาคตะวันออกเฉียงใต้บางรัฐ ตามสนธิสัญญาเรียกว่า "Louisiana Purchase" ในปี ค.ศ. ๑๘๐๓ หรือการที่สหรัฐซื้อดินแดน ซึ่งปัจจุบันคือ รัฐอลาสกา ในปี ค.ศ. ๑๘๖๗ ส่วนตัวอย่างของการสู้รบระหว่างเพื่อนบ้าน โดยฝ่ายที่ชนะสามารถผนวกดินแดนข้างเคียงเพิ่มขึ้นคือ กรณีการขยายอาณาจักรต่างๆ ในบริเวณแหลมทองของทวีปเอเชียคือ อาณาจักรสุโขทัยทวาราวดี ศรีวิชัย ล้านนา ล้านช้าง อโยธยา ฯลฯ ซึ่งสามารถขยายดินแดนให้กว้างใหญ่ขึ้นได้ โดยการยกทัพสู้รบกัน และฝ่ายที่ชนะเป็นฝ่ายที่สามารถขยายอาณาจักรได้

การผนวกดินแดนในลักษณะของการตกลงกันตามสนธิสัญญา หรือในลักษณะของการสู้รบชนะ ถ้าดินแดนที่ได้มา ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างไปจากกลุ่มเดิมแล้ว ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ย่อมจะเกิดขึ้นได้ ถึงแม้ว่าลักษณะโดยทั่วไปของคนสองกลุ่มนี้อาจจะไม่แตกต่างกันมากนักก็ตาม


กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของประเทศมหาอำนาจ

๔. เกิดจากการย้ายถิ่น

ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ อาจมีสาเหตุมาจากการที่คนจำนวนหนึ่งอพยพย้ายถิ่นเข้าไปอยู่ในสังคมอื่น โดยที่คนกลุ่มนี้ มีลักษณะทางวัฒนธรรมแตกต่างจากคนในสังคมที่ตนย้ายเข้าไปอยู่ รูปแบบของการย้ายถิ่นมีได้หลายรูปแบบ เช่น

๔.๑ การอพยพทาสจากทวีปแอฟริกาไปยังทวีปอเมริกาและทวีปยุโรป
๔.๒ การอพยพแรงงานเกณฑ์จากบริเวณหนึ่งไปยังอีกบริเวณหนึ่ง
๔.๓ การว่าจ้างคนงานที่อพยพมาจากที่อื่น
๔.๔ การอพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย หรือการลี้ภัยการเมือง
๔.๕ การรับคนเข้าประเทศโดยการโอนสัญชาติ
๔.๖ การอพยพของชนชาติที่เจริญกว่าไปยังพื้นที่ที่มีชนชาติที่ด้อยกว่า

๕. เกิดจากการตกเป็นประเทศอาณานิคม

            ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ในประเทศอาณานิคมมีลักษณะที่แตกต่างจากกรณีต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วทั้ง ๔ กรณี ทั้งนี้เพราะอาณานิคมเกิดจากการที่มหาอำนาจเข้ามามีอำนาจ ในการเมืองการปกครองของประเทศอื่น ผู้อพยพเข้ามา เป็นผู้ที่มีอำนาจมากกว่า และสามารถออกกฎหมายบังคับต่างๆ ทำให้เจ้าของประเทศ ซึ่งมีจำนวนประชากรมากกว่า มีลักษณะของผู้อยู่ใต้ปกครอง และต้องยอมจำนนต่อข้อเรียกร้องของประเทศมหาอำนาจ ประเทศมหาอำนาจมักจะจับจองที่ดินขนาดใหญ่ และว่าจ้างคนพื้นเมืองให้เป็นกรรมกรในไร่นามีผลทำให้คนพื้นเมืองกลายเป็นผู้ อยู่ใต้การปกครอง หรือลูกจ้างในอาณัติของมหาอำนาจ ทั้งๆ ที่มหาอำนาจเป็นผู้บุกรุกเข้ามาในดินแดนของตน โดยทั่วไปจำนวนของผู้ที่อพยพมาจากประเทศมหาอำนาจมีไม่มากนัก แต่คนกลุ่มนี้สามารถจับจองที่ดิน และทำธุรกิจจนถึงขนาดเป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมได้ เช่น กรณีของประเทศซิมบับเว ปรากฏว่า ในปี ค.ศ. ๑๙๓๑ คนผิวขาวเป็นเจ้าของที่ดินเกือบร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่ทั้งหมด ทั้งที่ประชากรผิวขาวมีประมาณร้อยละ ๕ เท่านั้น